หน้า:ประชุมพงศาวดาร (ภาค ๖๑) - ๒๔๗๙.pdf/14

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว

สืบมาอย่างมัว ๆ จะไม่ใช่เป็นเรื่องในสมัยเดียวกันพระเจ้าอนุรุธดังที่บางฉะบับกล่าวไว้ ซึ่งตกอยู่ใน พ.ศ. ๑๖๐๐ เพราะในตำนานสิงหนวติกุมารก็มีเรื่องลาวจกเหมือนกัน แต่กล่าวไว้ว่า เป็นหัวหน้าชาวป่าชาติละว้า เรียกว่าปู่เจ้าลาวจก หาใช่เป็นเทพบุตรที่จุติลงมาเป็นท้าวพระยามหากษัตริย์ไม่ และว่า เป็นเรื่องอยู่ในสมัยต้นพุทธกาล ก่อนเรื่องลาวจกในพงศาวดารเงินยางเชียงแสนมากมาย ปู่เจ้าลาวจกนี้ ในพงศาวดารโยนกของพระยาประชากิจกรจักร (แช่ม บุนนาค) ว่า ที่ชื่อเช่นนั้นเพราะเป็นหัวหน้ามีจก คือจอบขุดดิน มากกว่า ๕๐๐ ขึ้นไป และในตำนานพระธาตุดอยธุงก็กล่าวเช่นเดียวกันว่า “มีมิลักกยูผู้ผัวชื่อว่าเจ้าลาวจก ผู้เมียชื่อย่าเจ้าลาวจก และบุคคลทั้งสองผัวเมียมีจกเช่าและคนและ ๕๐๐ ลูก ลวดได้ชื่อว่าลาวจก” ถ้าจกหมายถึงจอบขุดดินแล้ว เรื่องเทพบุตรลาวจกในพงศาวดารเชียงแสนจะแปลว่าอะไร ได้มีผู้สันนิษฐานว่า บางทีจกคำนี้จะเป็นคำเดียวกับโจกที่แปลว่าหัวหน้าได้บ้างกระมัง ลาวจกก็แปลว่าหัวหน้าของพวกละว้า แต่อย่างไรก็ดี คำว่าจกนี้มีแปลกอยู่อย่างหนึ่งที่ไปพ้องเข้ากับชื่อของแคว้นเสฉวน หรือตอนหนึ่งของเสฉวนในภาคใต้ของประเทศจีนต่อจากแคว้นยูนนานขึ้นไป แต่โบราณมาแคว้นเสฉวนมีชื่อว่าสกหรือจก และว่าเป็นชื่อของชาติหนึ่งในแคว้นนั้นด้วย ซึ่งบางทีก็เรียกว่าปาจก พระเจ้าเล่าปี่ในเรื่องสามก๊กที่ได้มาปกครองแคว้นเสฉวน ก็ได้พระนามว่าพระเจ้าจกฮั่นฮ่องเต้ แปลว่าพระเจ้าแคว้นจกแห่งราชวงศ์ฮั่น ดินแดนที่