หน้า:ประมวลคำอธิบายทางนิติศาสตร์ - ดำรง - ๒๔๗๗.pdf/12

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว

เพราะเรื่องตำนานเป็นดังแสดงมา ประกาศในรัชกาลที่ ๔ จึงมีสำเนาเป็น ๒ ชนิด คือ ประกาศในชั้นต้นเมื่อยังมิได้ตั้งโรงพิมพ์หลวงนั้น มีแต่สำเนาเป็นหนังสือเขียน ประกาศตอนหลังเมื่อตั้งโรงพิมพ์หลวงแล้ว มีสำเนาเป็นหนังสือพิมพ์ สำเนาประกาศชั้นที่เป็นหนังสือเขียนมีฉะบับน้อยมาแต่เดิม ยิ่งนานมาก็ยิ่งหายากขึ้นทุกที ประกาศที่มีฉะบับพิมพ์หาง่ายกว่า จึงมีผู้รวบรวมไว้บ้าง แต่ก็ไม่ปรากฎว่า มีใครที่สามารถรวบรวมไว้ได้หมดทุกฉะบับ เป็นแต่มีกันมากบ้างน้อยบ้าง การที่รวบรวมประกาศรัชกาลที่ ๔ พิมพ์ขึ้นใหม่ให้เป็นสาธารณะประโยชน์ ได้จับทำเมื่อครั้งพระเจ้าบรมวงศเธอ กรมหลวงบดินทรไพศาลโสภณ ทรงบัญชาการโรงพิมพ์หลวงและเป็นผู้จัดการหนังสือราชกิจจานุเบกษาซึ่งกลับพิมพ์อีกในรัชกาลที่ ๕ นั้น ได้ทรงหาสำเนาประกาศครั้งรัชกาลที่ ๔ มาพิมพ์ไว้ในหนังสือราชกิจจานุเบกษาบ้าง เมื่อพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพรหมวรานุรักษ์ ออกหนังสือพิมพ์ดรุโณวาท ก็ได้ทรงหาฉะบับมาพิมพ์ไว้ในหนังสือดรุโณวาทอีกบ้าง ต่อมาเมื่อหอพระสมุดวชิรญาณออกหนังสือพิมพ์ กรรมการหอพระสมุดฯ ก็หาสำเนาประกาศรัชกาลที่ ๔ มาพิมพ์ไว้ในหนังสือวชิรญาณอีกบ้าง แต่ที่รวบรวมประกาศรัชกาลที่ ๔ พิมพ์เป็นเล่มสมุดโดยฉะเพาะ พึ่งมาพิมพ์เมื่อครั้งพระเจ้าบรมวงศเธอ กรมพระสมมตอมรพันธุ์ ทรงบัญชาการโรง