หน้า:ประมวล รธน - ๒๕๕๗ (๒).pdf/3

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
คำนำ

นับตั้งแต่ประเทศไทยได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๗๕ เป็นต้นมานั้น ประเทศไทยได้มีรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ (Supremacy of Law) โดยเริ่มตั้งแต่การประกาศใช้พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช ๒๔๗๕ อันเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรก จนถึงปัจจุบัน คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ ซึ่งตลอดระยะเวลา ๘๒ ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญและธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรมาแล้วเป็นจำนวนทั้งสิ้น ๑๘ ฉบับ (ไม่รวมฉบับแก้ไขเพิ่มเติม) โดยรัฐธรรมนูญและธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรทุกฉบับนั้นต่างล้วนมีเจตนารมณ์อันเป็นสาระสำคัญร่วมกันในอันที่จะยึดมั่นในหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ และทรงใช้อำนาจอธิปไตย กล่าวคือ อำนาจนิติบัญญัติทางรัฐสภา อำนาจบริหารทางคณะรัฐมนตรี และอำนาจตุลาการทางศาล จะมีหลักการแตกต่างกันไปบ้าง อาทิ ในเรื่องสถานภาพของรัฐสภาและความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจนิติบัญญัติกับอำนาจบริหาร รวมทั้งการสถาปนาองค์กรตามรัฐธรรมนูญใหม่ ๆ ขึ้นเพื่อทำหน้าที่ในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาวการณ์ของบ้านเมืองที่มีการเปลี่ยนแปลงไปในแต่ละยุคสมัย

ในการนี้ สำนักกฎหมาย สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการปฏิบัติหน้าที่ทางด้านนิติบัญญัติของผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับวงงานด้านนิติบัญญัติทุกฝ่าย รวมทั้งประชาชนที่สนใจ จึงได้ดำเนินการรวบรวมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกฉบับ เพื่อจัดทำเป็นหนังสือ "ประมวลรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย" ขึ้น โดยแบ่งออกเป็น ๒ เล่มด้วยกัน โดยเล่มที่ ๑ จะเป็นการรวบรวมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๔๗๕–๒๕๑๗ และเล่มที่ ๒ รวมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๑๙–๒๕๕๐ และฉบับแก้ไขเพิ่มเติมทุกฉบับ ซึ่งหนังสือรวมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยดังกล่าวมานี้ ทางสำนักกฎหมายได้มีการจัดพิมพ์และเผยแพร่ต่อสาธารณะมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๙ ดังนั้น ในการจัดพิมพ์ครั้งที่ ๒ นี้ จึงได้มีการปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมข้อมูลให้เป็นปัจจุบันและมีความครบถ้วนสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ เพื่อความสะดวกในด้านการศึกษา ค้นคว้า และอ้างอิง

หวังเป็นอย่างยิ่งว่า หนังสือเล่มนี้จักเป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติงานในด้านนิติบัญญัติของสมาชิกวุฒิสภา คณะกรรมาธิการ ข้าราชการในสังกัดสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ส่วนราชการ หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน สถาบันการศึกษา ตลอดจนประชาชนผู้สนใจ ตามวัตถุประสงค์ของการจัดพิมพ์ดังกล่าว

สำนักกฎหมาย
สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา
เมษายน ๒๕๕๗