หน้า:ประวัติ - ปิติ วาทยะกร - ๒๕๑๒.pdf/37

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้ตรวจสอบแล้ว

ด้วยความสนใจอย่างแท้จริงที่ต้องการแสวงหาความรู้วิชาการดนตรีให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น ข้าพเจ้าก็ได้แสวงหาปี่ Clarinet และสั่งซื้อขลุ่ย Flute และแตร Slide Trombone มาฝึกหัดอีกด้วย และในบางโอกาสที่มีเพื่อนนักดนตรีสมัครเล่นด้วยกันจัดตั้งวงดนตรีย่อย ๆ ขึ้น ข้าพเจ้าก็เข้าร่วมวงปฏิบัติซอ Bass อีกอย่างหนึ่ง การค้นคว้าและการศึกษาของข้าพเจ้าดังกล่าวแล้วนี้ ก็พอจะสังเกตเห็นได้ว่า ข้าพเจ้าพยายามหาทางเรียนรู้เครื่องดนตรีสำคัญ ๆ ต่าง ๆ ที่ใช้อยู่ในวงดุริยางค์ (Orchestra) ซึ่งในขณะนั้น ข้าพเจ้ามิได้นึกฝันเลยว่า สักวันหนึ่งในอนาคต ข้าพเจ้าจะต้องยึดเอาการดนตรีเป็นอาชีพในการดำรงชีวิต

ในด้านการศึกษาทางทฤษฎีนั้น ข้าพเจ้าก็ได้สั่งซื้อตำราวิชาการดนตรีต่าง ๆ มาศึกษาเล่าเรียนโดยตนเองด้วยความพยายามตลอดมา ตำราเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นตำราทางวิชาการดนตรีทั้งสิ้น ซึ่งเป็นภาษาฝรั่งเศสและภาษาอังกฤษเพื่อเทียบเคียงกัน เช่น ตำราทฤษฎีดุริยางคศาสตร์ตอนต้น (Rudiments of Music) สรุปหลักวิชาเบื้องต้น (Elements of Music) ตำราการประสานเสียง (Harmony) ตำราการประพันธ์เพลง (Composition) ตำราว่าด้วยเครื่องดนตรีที่ใช้ในวงดุริยางค์ (Orchestra) ในวงโยธวาทิต (Military Band) ตำราการแยกแนวเพลง (Orchestration) ประวัติการดนตรี (Musical History and Biography) หลักวิชาการประพันธ์ (Musical Forms) และตำราว่าด้วยการอำนวยเพลง (Art of Conducting) ต่อมาเมื่อข้าพเจ้าต้องมายึดเอาการดนตรีเป็นอาชีพแล้ว ก็ได้พยายามหาทางที่จะถ่ายเทวิชานี้ให้แก่ชาวไทยที่สนใจ จึงได้เรียบเรียงตำราวิชาการดนตรีขึ้นเป็นภาษาไทยไว้หลายอย่าง ซึ่งล้วนเป็นตำราในทางทฤษฎีทั้งสิ้น คือ

– 35 –