หน้า:ประวัติ - ปิติ วาทยะกร - ๒๕๑๒.pdf/59

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว

ของเราเคยจารึกจดจำอยู่ในสมองของอาจารย์ดนตรีไทยทั้งหลาย เมื่อต่างคนต่างมรณะกรรมไป เพลงไทยก็ตายตามตัวไปด้วย ที่มีเหลืออยู่ก็ค่อย ๆ ลดจำนวนน้อยลงเป็นลำดับ ทั้งยังขาดตกบกพร่องผิดเพี้ยนกันไป หาความแน่นอนไม่ได้ และโดยเหตุนี้ เพื่อจัดให้เพลงไทยได้รูปเป็นมาตรฐานถาวรมิให้สาปศูนย์ไปเสีย งานบันทึกเพลงไทยเป็นโน้ตสากลจึงได้ถูกริเริ่มขึ้นในความอำนวยการของสมเด็จกรมพระยาดำรง การจดบันทึกเพลงไทยนี้ได้ดำเนินไปที่วังวรดิศ ถนนหลานหลวง ด้วยความละเอียดถี่ถ้วนอย่างยิ่ง กรรมการฝ่ายดนตรีไทยก็ได้เลือกเฟ้นเอาแต่ผู้ทรงคุณวุฒิจริง ๆ ส่วนฝ่ายทางการจดบันทึกนั้น ตกเป็นหน้าที่ของข้าพเจ้าในฐานะของหัวหน้าเป็นผู้วางหลักการบันทึก พร้อมด้วยนักดนตรีในวงดนตรีฝรั่งหลวงเป็นผู้ช่วยเหลืออีกหลายคน จากนั้นแล้ว เพลงไทยก็ถูกบันทึกขึ้นเป็นจำนวนมาก นับว่า เป็นประโยชน์อันยิ่งใหญ่สำหรับดุริยางค์ศิลปประจำชาติของเรา โดยป้องกันการศูนย์หายไปได้ชั้นหนึ่งแล้ว แต่อีกชั้นหนึ่งที่ยังวิตกอยู่ ก็คือ เพลงไทยทั้งหลายนั้นถูกจดไว้ด้วยตัวดินสอดำและด้วยกระดาษบาง ๆ (โดยจุดประสงค์ที่จะให้เป็นต้นฉบับเพื่อทำการพิมพ์ต่อไปในภายหลัง) อาจจะลบเลือนหรือขาดวิ่นเพราะมดปลวกกันกินก็ได้ บัดนี้ เพลงไทยทั้งหมดถูกเก็บรวบรวมไว้ในกรมศิลปากร ข้าพเจ้าจึงวิตกว่า บทเพลงไทยเหล่านี้ที่ครั้งหนึ่งได้อุตส่าห์ทำขึ้นด้วยความลำบากยากเข็ญอาจจะกลับล้มละลายหายศูนย์ตามลักษณะเดิมอีกก็เป็นได้ ศิลปชิ้นเอกของไทย หากไทยเราไม่ช่วยกันรักษา เมื่อเสื่อมสลายลงไปแล้ว ก็จะโทษใครเล่า จะให้ดนตรีสากลเข้ามาแทรกอยู่ในประเทศของเราเพียงอย่างเดียวและละเลยของดีของเราเสียแล้วนั้นหรือ ต่อไปอนุชนรุ่นหลังของเราจะมีศิลปไทยชิ้นไหนไว้อวดอารยะธรรมของประเทศให้ประจักษ์แก่ตาโลกเล่า.

– 57 –