หน้า:ประวัติ - ปิติ วาทยะกร - ๒๕๑๒.pdf/81

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
พ.ศ. ๒๔๗๗

ภายหลังที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงสละราชสมบัติในปี พ.ศ. ๒๔๗๗ แล้ว กิจการของวงดนตรีสากลก็ถูกย้ายเข้ามาอยู่ในสังกัดของกรมศิลปากร ระดับความเจริญของวงดนตรีซึ่งเคยมีขีดสูงสุดในรัชกาลที่ ๗ นั้น ก็กลับลดลงสู่ต่ำ กิจการของวงดนตรีสากลได้ถูกกระทบกระเทือนอย่างหนักที่สุดอีกวาระหนึ่ง

กรมศิลปากรได้ร้องขอให้ดนตรีฝรั่งหลวงย้ายจากสำนักพระราชวังมาอยู่ในความควบคุมของกรมนี้ต่อไป และก็ได้มีชื่อเรียกว่า “วงดนตรีสากล กรมศิลปากร” แทนชื่อ วงดนตรีฝรั่งหลวง ข้าพเจ้าถูกเชิญตัวให้เข้าพบกับท่านผู้บริหารของกรมศิลปากรในสมัยนั้น ในขั้นแรกที่ได้รับทราบ ก็คือ มติของคณะรัฐมนตรีที่ประสงค์จะตัดงบประมาณของดนตรีวงนี้ลงให้เหลือเพียงครึ่งหนึ่ง โดยมีการเลือกได้ตัดทอนได้ ๒ ประการ คือ.- (๑) จะปลดนักดนตรีให้มีจำนวนเหลืออยู่เพียงครึ่งหนึ่ง หรือ (๒) ถ้าต้องการจะให้นักดนตรีมีจำนวนอยู่เต็ม ก็ต้องลดเงินเดือนพวกเขาให้น้อยลงครึ่งหนึ่งจากเดิม ข้าพเจ้ารับทราบมติของคณะรัฐมนตรีด้วยความตกใจยิ่ง และรู้สึกเดือดดาลขึ้นมาบ้างในมติที่มิได้คำนึงอะไรหมดนอกจากจะตัดเพื่อทุ่นเงิน ข้าพเจ้าได้กล่าวชี้แจงให้ฟังว่า ดนตรีสากลวงนี้ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนาขึ้น ทั้งนี้ ก็เพื่อที่จะให้เป็นเครื่องเชิดชูเกียรติยศของประเทศชาติสืบไป เมื่อสิ้นรัชชสมัยของพระองค์แล้ว สมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงรับไว้ในพระบรมราชูปถัมถ์ พระองค์ได้เอาพระทัยใส่ทำนุ

– 79 –