ข้ามไปเนื้อหา

หน้า:ปวศ กม ไทย - มธ - ๒๔๘๓.djvu/19

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
13
ประวัติศาสตร์กฎหมายไทย

แล้วมีการแบ่งปันจับสลากกันใหม่ ในการแบ่งปันนานี้ โดยมากนายบ้านสงวนนาไว้ต่างหากเพื่อให้แก่ผู้มีตำแหน่งบริบาลเมือง นานั้นชาวบ้านถูกเกณฑ์ให้เป็นผู้ทำ[1] ในหัวพันประเทศลาวก็ถือประเพณีเช่นเดียวกัน ผู้เป็นท้าวแบ่งปันนาในระหว่างครัวเรือนอันมีอยู่ในหมู่บ้าน ฝ่ายท้าวเองก็เอาแปลงที่ดีไว้เป็นของตน การแบ่งปันมิได้ทำกันเป็นกำหนดรยะเวลาเสมอไปดังชุมนุมชนไทยขาว แต่กระทำกันตามกรณีที่เกิดขึ้น เช่น มีผู้อยู่ในครอบครัวแยกออกไปตั้งเป็นครัวหนึ่งต่างหาก หรือมีผู้ต่างบ้านเข้ามาอยู่ในบ้านนั้น หรือมีชาวบ้านร้งอค้านว่า ที่ ๆ ตนอยู่นั้นเป็นที่ ๆ ทำประโยชน์ได้ยาก ดังนี้ จึงเป็นเหตุให้มีการแบ่งปันนากันขึ้น ในพวกชาติเมืองก็มีการแบ่งปันนาเช่นเดียวกัน คนที่เป็นกวานลางและา้วเลือกเอาที่ ๆ ดีไว้สำหรับตน นาที่เหลือนั้นแบ่งปันให้ระหว่างครัวเรือนเป็นรายมากหรือน้อยตามความต้องการและกำลังของครอบครัว และทั้งตามภาระซึ่งครอบครัวของผู้รับส่วนแบ่งจะยอมปฏิบัติตามด้วย การแบ่งปันนี้มิได้ทำตามระยะเวลาเสมอไป แต่ทำตามกรณีที่เกิดขึ้นเช่นในเมืองหัวพัน ฉะนั้น ครอบครัวหนึ่งอาจยึดถือนาแปลงหนึ่งได้ตลอดชีวิตของหัวหน้า และบางทีเมื่อหัวหน้าตาย ลูกก็เข้ารับทำนาสืบต่อไป ถ้าพูดโดยทั่วไปแล้ว มีการแบ่งปันแต่ในกรณีที่จำนวนครอบครัวในหมู่บ้านเปลี่ยนไป เพราะเหตุที่ครอบครัวหนึ่งได้แยกออกเป็นสองครอบครัวหรือมีครอบครัวใหม่อพยพเข้ามาอยู่ ในการแบ่งปันนี้โดยมากไม่รวมเอานาทุกรายเข้ามาแบ่งกันใหม่ คงเอาแต่นาบางรายมาแบ่งเท่านั้น.


  1. E. Lunet de la Jonquière, Ethnographie de Tonkin septentrional.
ม.ธ.ก.