หน้า:ปวศ กม ไทย - มธ - ๒๔๘๓.djvu/32

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
26
ระบอบที่ดิน

อำนาจทางปกครอง ถือกันว่า สามีเป็นเจ้าของภริยา บิดาเป็นเจ้าของบุตร ประมุขจึงถือกันว่าเป็นเจ้าของที่ในอาณาเขตต์ดุจเดียวกัน เพราะเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในประเทศ ต้องกินเวลานาน ๆ มาจนจวนสมัยปัจจุบัน มนุษย์จึงสามารถแยกอำนาจของสามี บิดา และประมุขออกได้ และเพิ่งพิเคราะห์เห็นว่า เป็นสิทธิคนละประเภท และใช้ได้ไปคนละขอบเขตต์[1] ในครั้งก่อนใครเป็นอิสสระต้องเป็นเจ้าของ การที่ประมุขว่าเป็นเจ้าอาณาเขตต์ จึงแสดงความสมบูรณ์แห่งอธิปตัย[2] แต่ทั้งนี้ก็เป็นทฤษฎีหรือนีตินัยมากกว่าอื่น เพราะอาณาเขตต์กว้างขวาง ผู้เป็นประมุขย่อมไม่สามารถครอบครองเหมือนเจ้าของที่ดินอันแท้จริง ทางพฤตินัยมีแต่จะปกครองอาณาเขตต์ คือ บริบาลการเมืองภายในอาณาเขตต์ ทำนองคล้ายกันกับวิธีปกครองปัจจุบัน ในประเทศเหล่านั้นการที่ประมุขอ้างอิงว่าเป็นเจ้าของที่ดินจึงไม่ค่อยเป็นอุปสรรคต่อสิทธิของราษฎรในที่ดิน เป็นแต่เหตุให้มีข้อจำกัดต่าง ๆ ดังกล่าวมาแล้ว


  1. กรรมสิทธิมุ่งไปในทางกฎหมายเอกชนเกี่ยวกับผลประโยชน์ในทางเงิน โดยฉะเพาะในระหว่างบุคคล ทำให้เจ้าของมีสิทธิห้ามมิให้ผู้อื่นสอดเข้าเกี่ยวข้องกับทรัพย์ของตนเท่านั้น ส่วนอำนาจนั้นมุ่งไปในทางกฎหมายมหาชน ประมาณราคาเป็นเงินไม่ได้ในระหว่างบุคคล ทำให้ผู้มีอำนาจมีสิทธิบังคับให้ผู้อื่นทำตาม ฉะนั้น อาจมีกรรมสิทธิ์ แต่ไม่มีอำนาจ หรือมีอำนาจ แต่ไม่มีกรรมสิทธิ์
  2. ภาษาไทยคำว่า "เจ้า" มุ่งไปทางกฎหมายเอกชนและมหาชนทั้งสองนัย คือ หมายถึง ผู้มีอำนาจปกครองและผู้มีกรรมสิทธิ์ คำว่ากรรมสิทธิ์เพิ่งประดิษฐใช้ขึ้นในรัชชกาลที่ ๕ เพื่อหมายความถึงสิทธิทางกฎหมายเอกชนโดยฉะเพาะตามความคิดเห็นในปัจจุบัน
ม.ธ.ก.