พงษาวดารนั้นแบ่งเปนตอน ๆ เช่นนี้ ได้ส่งสมุดดำทั้ง ๒ เล่มนั้นคืนออกมาด้วย.
เพื่อจะให้ผู้อ่านเข้าใจพระบรมราชาธิบายในพระราชหัดถเลขานี้ชัดเจน จำจะต้องเล่าแม้โดยย่อพอให้ทราบก่อนว่า หนังสือพระราชพงษาวดารฉบับต่าง ๆ ที่หอพระสมุดวชิรญาณรวบรวมไว้ได้มีต่างกันอย่างไรบ้าง.
หนังสือพระราชพงษาวดารที่กรรมการหอพระสมุดหาต้นฉบับได้ในรัชกาลที่ ๕ มีอยู่ ๕ ความ คือ.
(๑)หนังสือพระราชพงษาวดาร ฉบับหลวงประเสริฐ ข้างต้นมีบานแพนกว่า "ศุภมัสดุ ๑๐๔๒ ศก วอกนักษัตร ณวันพุฒ เดือน ๕ ขึ้น ๑๒ ค่ำ ทรงพระกรุณาโปรดเหนือเกล้าเหนือกระหม่อมสั่งว่า ให้เอากฎหมายเหตุของพระโหราเขียนไว้แต่ก่อน แลกฎหมายเหตุซึ่งหาได้แต่หอหนังสือ แลเหตุซึ่งมีในพระราชพงษาวดารนั้น ให้คัดเข้าด้วยกันเปนแห่งเดียว ให้ระดับศักราชกันมาคุงเท่าบัดนี้" ดังนี้ คือว่า หนังสือพระราชพงษาวดารฉบับนี้สมเด็จพระนารายน์มหาราชมีรับสั่งให้แต่งขึ้น ต้นฉบับที่หอพระสมุดได้มาจะเขียนในครั้งกรุงเก่าหรือเมื่อแรกสร้างกรุงรัตนโกสินทรไม่แน่ ได้มาแต่เล่ม ๑ เล่มเดียว ความขึ้นต้นแต่สร้างพระพุทธรูปพระเจ้าพแนงเชิงเมื่อปีชวด จุลศักราช ๖๘๖ แลสร้างกรุงศรีอยุทธยาเมื่อปีขาล จุลศักราช ๗๑๒ มาจนปีมโรง จุลศักราช ๙๖๖ ปลายรัชกาลสมเด็จพระนเรศวร หมดเล่ม ๑ หนังสือ