จุลศักราช ๑๑๕๒ (ขาดความฉบับพิมพ์ ๒ เล่มอยู่ ๖ น่าสมุดพิมพ์) ก็ยุติไว้เพียงนั้น ข้าพเจ้าเข้าใจว่า ตำนานการแต่งหนังสือพระราชพงษาวดารจะได้เปนดังแสดงมานี้ นี่ว่าตามความรู้ที่มีอยู่ในเวลานี้ แต่ถ้าต่อไปภายน่าไปพบหนังสือหรือสิ่งใดให้เห็นหลักฐานเปนอย่างอื่น ก็จะต้องเปลี่ยนความเห็นไปตามหลักฐานที่จะได้พบ เพราะฉนั้น ไม่ยืนยันว่า ความเห็นที่กล่าวมานี้ถูกต้องแน่นอนทีเดียว กล่าวไว้แต่พอให้เปนทางดำริห์ของผู้ศึกษาพงษาวดารด้วยกัน.
ถ้าจะมีคำถามในที่นี้ว่า เมื่อลงความเห็นอย่างนี้แล้ว จะว่าอย่างไรถึงเรื่องหนังสือพระราชพงษาวดารที่ว่า สมเด็จพระวันรัตนแต่งไว้เปนภาษามคธ ข้าพเจ้าขอตอบว่า เรื่องหนังสือพระราชพงษาวดารที่ว่า สมเด็จพระวันรัตนได้แต่งไว้เปนภาษามคธนั้น กรมพระสมมตอมรพันธุ์ได้เคยทรงสดับมาจากสมเด็จพระสังฆราชวัดราชประดิษฐว่า ท่านได้เคยเห็นหนังสือนั้น แลยังเล่าถึงที่เอาศัพท์ภาษาไทยไปแผลงเปนภาษามคธ เช่น จมื่นทิพเสนา ไปแผลงเปน จะมีโนทิพพะเสนา ดังนี้เปนต้น ส่วนตัวเข้าพเจ้าเองก็ได้เคยกราบทูลถามสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาบำราบปรปักษ์ว่า หนังสือเรื่องนั้นมีจริงดังเขาว่าหรืออย่างไร ท่านรับสั่งว่า ได้เคยทอดพระเนตรเห็นที่กรมสมเด็จพระปรมานุชิตฯ เข้าพระไทยว่า หนังสือนั้นจะยังอยู่ที่วัดพระเชตุพน จึงมีรับสั่งถามพระมงคลเทพ (เที่ยง) ซึ่งเคยเปนถานานุกรมในกรมสมเด็จพระปรมานุชิตฯ พระมงคลเทพถวายพระพรต่อหน้าข้าพเจ้าว่า เมื่อกรมสมเด็จพระปรมานุชิตฯ สิ้นพระชนม์แล้ว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดให้เจ้าพนักงานไปรับหนังสือในหอไตรของ