ข้ามไปเนื้อหา

หน้า:พงศาวดาร (หัตถเลขา) - ๒๔๕๕ (๓).djvu/74

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๒๙

เลื่อนลงมาล้อมค่ายจีนบางกุ้งใกล้จะเสียอยู่แล้ว กรมการเมืองสมุทสงครามบอกเข้ามาให้กราบทูล ครั้นได้ทราบจึงโปรดให้พระมหามนตรีเปนกองน่าเสด็จยกทัพหลวงไปทางชลมารคถึงเมืองสมุทสงคราม ให้ทัพน่าเข้าโจมตีกองทัพพม่าก็แตกฉานทั้งสิ้นในเพลาเดียว พลทหารไทยไล่ตลุมบอนฟันแทงพม่าล้มตายในนน้ำในบกเปนอันมาก ทัพพม่าพ่ายหนีกลับไปทางด่านเจ้าขว้าวไปยังเมืองทวาย เก็บได้เครื่องสาตราวุธแลเรือรบเรือไล่ครั้งนั้นเปนอันมาก แล้วเสด็จเลิกทัพกลับยังกรุงธนุบรี แลพระเกียรติยศก็ปรากฎขจรไปในสยามประเทศทุก ๆ เมือง.

ในขณะนั้นบรรดานายชุมนุมทั้งปวงซึ่งคุมพรรคพวกตั้งอยู่ในแขวงอำเภอหัวเมืองต่าง ๆ แลรบพุ่งชิงอาหารกันอยู่แต่ก่อนนั้น ก็สงบราบคาบลงทุก ๆ แห่ง มิได้เบียดเบียน[1] กันสืบไป ต่างต่างเข้ามาถวายตัวเปนข้าทูลลอองธุลีพระบาท ได้รับพระราชทานเงินทองแลเสื้อผ้า แลโปรดชุบเลี้ยงให้เปนขุนนางในกรุงแลหัวเมืองบ้าง บ้านเมืองก็สงบปราศจากโจรผู้ร้าย แลราษฎรก็ได้ตั้งทำไร่นา ลูกค้าวานิชก็ไปมาค้าขายทำมาหากินเปนศุข เข้าปลาอาหารก็ค่อยบริบูรณ์ขึ้น คนทั้งหลายก็ค่อยได้บำเพ็ญการกุศลต่าง ๆ ฝ่ายสมณสากยบุตรในพระพุทธสาสนาก็ได้รับบิณฑบาตจัตุปัจจัย ค่อยได้ความศุขบริบูรณ์ เปนกำลังเล่าเรียน บำเพ็ญเพียรในสมณกิจฝ่ายคันถธุระวิปัศนาธุระทั้งปวงต่าง ๆ.

ในปีชวด สำฤทธิศกนั้น สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริห์ว่า พระพุทธสาสนาจักวัฒนาการรุ่งเรืองนั้น เพราะอาไศรยจัตุบรรสัชทั้งสี่ปฏิบัติตามพระบรมพุทโธวาท แลพระสงฆ์ทุกวันนี้ยังปฏิบัติ


  1. เดิมว่า เบียดเบียนบีฑา