หน้า:พรบ ปรับเป็นพินัย ๒๕๖๕.pdf/11

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว

เล่ม ๑๓๙ ตอนที่ ๖๖ ก

๒๕ ตุลาคม ๒๕๖๕
หน้า ๓๒
ราชกิจจานุเบกษา

มาตรา ๓๐ ผู้ใดต้องคําพิพากษาให้ชําระค่าปรับเป็นพินัย ไม่ชําระค่าปรับภายในเวลาที่ศาลกําหนด ให้ศาลมีอํานาจออกหมายบังคับคดีเพื่อยึดทรัพย์สินหรืออายัดสิทธิเรียกร้องในทรัพย์สินของผู้นั้นเพื่อชําระค่าปรับเป็นพินัย

มาตรา ๓๑ ให้นําความในมาตรา ๒๙/๑ วรรคสอง และวรรคสาม แห่งประมวลกฎหมายอาญา มาใช้บังคับแก่การบังคับคดีตามคําสั่งศาลตามมาตรา ๑๐ และมาตรา ๓๐ ด้วยโดยอนุโลม

มาตรา ๓๒ ห้ามมิให้อุทธรณ์คําพิพากษาของศาลในปัญหาข้อเท็จจริงและจํานวนค่าปรับเป็นพินัย

ผู้กระทําความผิดทางพินัยมีสิทธิอุทธรณ์ปัญหาข้อกฎหมายตามเงื่อนไขที่กําหนดในข้อบังคับที่ออกตามมาตรา ๒๘ เงื่อนไขดังกล่าวต้องคํานึงถึงความเป็นธรรมต่อผู้อุทธรณ์และสังคมโดยรวมในการรับภาระค่าใช้จ่ายประกอบกัน

คําพิพากษาของศาลชั้นอุทธรณ์ให้เป็นที่สุด

มาตรา ๓๓ คดีความผิดทางพินัยเป็นอันยุติด้วยเหตุดังต่อไปนี้

(๑) เมื่อมีการชําระค่าปรับเป็นพินัยหรือทํางานบริการสังคมหรือทํางานสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับเป็นพินัยครบถ้วนแล้ว

(๒) โดยความตายของผู้กระทําความผิดทางพินัย

(๓) เมื่อมีการเปรียบเทียบความผิดอาญาตามมาตรา ๑๖ (๔)

(๓) เมื่อคดีขาดอายุความตามมาตรา ๑๑ หรือพ้นกําหนดเวลาตามมาตรา ๑๒ แล้วแต่กรณี

มาตรา ๓๔ ห้ามมิให้หน่วยงานของรัฐบันทึกการกระทําความผิดทางพินัยของบุคคลใดรวมไว้ในบันทึกประวัติอาชญากรรม หรือในฐานะเป็นประวัติอาชญากรรม

มาตรา ๓๕ เพื่อประโยชน์ในการอํานวยความสะดวกในการชําระค่าปรับเป็นพินัย จะกําหนดให้ชําระผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กําหนดในกฎกระทรวงก็ได้

มาตรา ๓๖ ค่าปรับเป็นพินัยให้นําส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน เว้นแต่กฎหมายซึ่งบัญญัติความผิดทางพินัยหรือกฎหมายอื่นจะบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น