หน้า:พระราชดำรัสฯ แก้ไขการปกครองแผ่นดิน - ๒๔๗๐.pdf/43

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๓๒

นั้นก็มีโดยมาก เมื่อจะว่าตามความจริงแล้วก็เกือบจะเหมือนพระเจ้าแผ่นดินองค์เดียวที่จะพิพากษาเด็ดขาดทั่วไปทั้งสิ้น ที่สุดจนการที่ให้อธิบดีในกรมต่างๆกำกับศาลแลรับเรื่องได้แล้ว ตระลาการจะบาดหมายเอาคู่ความมาว่าความบางทีก็ไม่ได้ตัวมาว่าความ ด้วยขัดขวางแอบอิงอย่ในท่านผู้มีอำนาจมีบันดาศักดิ แลดื้อเสียเองๆบ้าง อธิบดีที่เปนผู้บังคับศาลนั้นๆก็ไม่บังคับบัญชาตลอดไปได้ พระเจ้าแผ่นดินต้องให้ตำรวจเปนผู้รับขัดข้อง ซึ่งตระลาการเอาขึ้นปฤกษาลูกขุนๆเห็นว่าเปนขัดข้องแล้วจึ่งได้ส่งมาให้ผู้รับขัดข้อง ตำรวจผู้รับขัดข้องนั้นไปเกาะจำเลยส่งศาลตามคำลูกขุนปฤกษา ถ้ายังไปทำการไม่ตลอดได้ก็ต้องกราบบังคมทูล ให้พระเจ้าแผ่นดินทรงเอะอะเองจึ่งได้ตัวจำเลยมาว่าความ เมื่อการเปนอยู่ดังนี้ก็เปนการเหลือกำลังที่พระเจ้าแผ่นดินองค์เดียวจะพิพากษาความทั้งแผ่นดิน แลตริตรองราชการอื่นๆบังคับให้ตลอดไปได้

การซึ่งเปนเหตุดังนี้ ก็เปนด้วยวิธีกระบวนพิจารณาความอย่างเก่าเปนทางยืดยาวอย่างหนึ่ง เพราะลูกขุนตระลาการผู้พิจารณาพิพากษาทั้งปวงต้องหาผลประโยชน์เลี้ยงชีวิตในทางความนั้นเอง ผลประโยชน์ที่จะได้นั้นก็โดยร้อนๆเย็นๆหวาดๆหวั่นๆเหมือนกรมพระนครบาลที่กล่าวมาแล้ว ข้าราชการซึ่งเปนคนดีๆก็ไม่ใคร่มีความปราถนาในตำแหน่งในกรมเหล่านี้ ด้วยมีกรมอื่นที่จะได้ผลประโยชน์มากแลสดวกดีกว่ากรมเหล่านั้น คนดีๆจึ่งไม่ใคร่จะมี มีแต่คนที่หาผลประโยชน์อย่างอื่นไม่ได้แล้ว จึ่งหันมาหาประโยชน์ในทางนี้อย่างหนึ่ง เพราะ