ข้ามไปเนื้อหา

หน้า:พระราชนิยม - ศิลปากร - ๒๕๑๒.pdf/4

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
คำนำ

ในงานพระราชทานเพลิงศพมหาเสวกตรี พระยาประพันธ์ดำรัสลักษณ์ (ถม ศุขะวณิช) ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม กำหนดงานวันที่ ๒๐ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๑๒ นายทวี ศุขะวณิช ผู้เป็นบุตร ได้มาติดต่อกรมศิลปากรขออนุญาตจัดพิมพ์หนังสือเรื่อง พระราชนิยมในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อแจกเป็นอนุสรณ์ในงานนี้ กรมศิลปากรยินดีอนุญาตให้จัดพิมพ์ได้ตามความประสงค์

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นพระมหากษัตริย์ลำดับที่ ๖ แห่งพระบรมราชวงศ์จักรี พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์นักปราชญ์ผู้ทรงพระปรีชาสามารถในการปกครองประเทศ ได้ทรงปรับปรุงกิจการภายในประเทศ ตลอดจนระเบียบ แบบแผน และประเพณีหลายประการ อันเป็นทางนำประเทศไทยให้ก้าวสู่ความเจริญทัดเทียมกับอารยประเทศทางฝ่ายตะวันตก กล่าวคือ ในด้านการศึกษา พระองค์ได้ทรงทำนุบำรุงและขยายการศึกษาให้เจริญแพร่หลายทั่วพระราชอาณาจักร ทรงยกโรงเรียนมหาดเล็ก ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตั้งขึ้นสำหรับสอนนักเรียนที่จะเข้ารับราชการในกระทรวงมหาดไทย ให้เป็นโรงเรียนข้าราชการพลเรือน และใน พ.ศ. ๒๔๕๙ ได้ยกโรงเรียนนี้ขึ้นเป็นจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย นับเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของไทย นอกจากนี้ พระองค์ยังได้ทรงริเริ่มการฝึกหัดครู และได้ทรงตราพระราชบัญญัติประถมศึกษาในปี พ.ศ. ๒๔๖๔ ในด้านการคมนาคม ได้ทรงตั้งกรมรถไฟหลวงขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๐ และได้โปรดให้ขยายทางรถไฟออกไปเป็นอันมาก

ในด้านการบำรุงกำลังรบและปลุกใจพลเมืองให้รักชาติ พระองค์ทรงตระหนักถึงภยันตรายอันใหญ่หลวงซึ่งจักบังเกิดจากบรรดาประเทศมหาอำนาจซึ่งกำลังแสวงหาเมืองขึ้น จึงทรงพยายามบำรุงกำลังของบ้านเมืองให้มีสมรรถภาพเข้มแข็งเพื่อป้องกันประเทศชาติ ได้ทรงวางระเบียบแบบแผนในการฝึกทหารตามแบบยุโรป ทรงตั้งกระทรวงทหารเรือเพื่อจัดการทัพเรือ และจัดตั้งกองทัพอากาศ ทรงแก้ไขพระราชบัญญัติ