หน้า:พระราชนิยม - ศิลปากร - ๒๕๑๒.pdf/73

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
แพนกพระราชพิธี
กระทรวงวัง
วันที่ ๓ มกราคม พระพุทธศักราช ๒๔๖๗
ขอเดชะ ฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม

การแต่งกายในการทำบุญ ๗ วัน ๕๐ วัน แล ๑๐๐ วัน พระศพพระราชวงศ์ชั้นสูง ไว้พระศพในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งเป็นประเพณีมาแล้วแต่ก่อน ส่วนพระราชวงศ์ก็ทรงแต่งเครื่องดำแลขาวตามลำดับชั้นแลพระชนมายุ ข้าราชการที่เนื่องในสกุลแลราชินิกุลตลอดถึงพระญาติของพระศพฤๅข้าหลวงเดิมในรัชกาลนั้นก็แต่งเครื่องขาว ครั้นมีการไว้พระศพนอกพระบรมมหาราชวัง แลมีหญิงบรรดาศักดิ์ คือ ผู้ที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ มากขึ้น ก็เข้าในงานนั้น ๆ ด้วย การแต่งกายจะอนุโลมตามฝ่ายชาย บางคนก็ขัดข้อง เพราะยังไม่มีระเบียบ เคยได้ความลำบาก เช่น เมื่องานสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงศรีรัตนโกสินทร์[1] เป็นต้น ถึงแม้จะแต่งอย่างที่ถูก แต่แต่งเช่นนั้นไปในที่นั้นไม่ได้ก็มี ครั้นมาถึงบัดนี้ ใกล้จะถึงงาน ๗ วันพระศพสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้ามาลินีนพดารา[2] จึงมีผู้มาถามข้าพระพุทธเจ้าชุกชุมขึ้นว่า ควรแต่งอย่างไร เพื่อให้ต้องด้วยพระราชนิยม ด้วยผู้ที่ถามนั้นอยู่นอกเกณฑ์ผู้ที่ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตแต่งเครื่องขาว แลก็เป็นผู้ที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์คล้ายกับฝ่ายชายซึ่งเป็นข้าราชการผู้หนึ่ง ส่วนชายนั้นมีเครื่องแต่งแบบราชการ เช่น ปรกติครึ่งยศแลเต็มยศ ฝ่ายหญิงยังไม่มีระเบียบ โดยเหตุนี้ จึงเป็นเครื่องลำบากของฝ่ายหญิง ข้าพระพุทธเจ้าจึงเห็นด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมว่า ถ้าโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมตราลงไว้เป็นพระราชนิยมประการใดแล้ว การแต่งกายก็จะลงเป็นระเบียบเดียวกัน หมดความที่ตั้งใจผิดกันทั้งฝ่ายเจ้าภาพของงานแลผู้ไปในงานนั้น ๆ การจะควรประการใด ขอพระราชทานเรียนพระราชปฏิบัติ

ควรมิควรแล้วแต่จะทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้า
โปรดกระหม่อม ขอเดชะ
ข้าพระพุทธเจ้า เจ้าพระยาธรรมา.

  1. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงศรีรัตนโกสินทร์
  2. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามาลินีนพดารา
๕๑