หน้า:รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) ๒๕๕๗.pdf/9

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว

เล่ม ๑๓๑ ตอนที่ ๕๕ ก

๒๒ กรกฎาคม ๒๕๕๗
หน้า ๙
ราชกิจจานุเบกษา

แห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ และข้าราชการฝ่ายอื่น ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ และทรงให้พ้นจากตำแหน่ง เว้นแต่กรณีที่พ้นจากตำแหน่งเพราะความตาย

มาตรา ๒๕ บรรดาบทกฎหมาย พระราชหัตถเลขา และพระบรมราชโองการใด ๆ อันเกี่ยวกับราชการแผ่นดิน ต้องมีรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ เว้นแต่รัฐธรรมนูญนี้บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น

มาตรา ๒๖ ผู้พิพากษาและตุลาการมีอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ให้เป็นไปโดยยุติธรรมตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย

มาตรา ๒๗ ให้มีสภาปฏิรูปแห่งชาติ มีหน้าที่ศึกษาและเสนอแนะเพื่อให้เกิดการปฏิรูปในด้านต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

(๑) การเมือง

(๒) การบริหารราชการแผ่นดิน

(๓) กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม

(๔) การปกครองท้องถิ่น

(๕) การศึกษา

(๖) เศรษฐกิจ

(๗) พลังงาน

(๘) สาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม

(๙) สื่อสารมวลชน

(๑๐) สังคม

(๑๑) อื่น ๆ

ทั้งนี้ เพื่อให้การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมีความเหมาะสมกับสภาพสังคมไทย มีระบบการเลือกตั้งที่สุจริตและเป็นธรรม มีกลไกป้องกันและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบที่มีประสิทธิภาพ ขจัดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและสังคมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทำให้กลไกของรัฐสามารถให้บริการประชาชนได้อย่างทั่วถึง สะดวก รวดเร็ว และมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดและเป็นธรรม

มาตรา ๒๘ ให้สภาปฏิรูปแห่งชาติ ประกอบด้วย สมาชิกจำนวนไม่เกินสองร้อยห้าสิบคน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจากผู้มีสัญชาติไทยโดยการเกิด และมีอายุไม่ต่ำกว่าสามสิบห้าปี ตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติถวายคำแนะนำ

พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติเป็นประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติคนหนึ่ง และเป็นรองประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติไม่เกินสองคน ตามมติของสภาปฏิรูปแห่งชาติ