หน้า:รับสั่ง - ดำรง - ๒๔๙๓.pdf/18

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๑๒

เงินเป็นประมาณ เจ้ากรมรับเงินไปหนักเท่าใด ต้องทำเงินส่งเท่านั้น และยอมให้ค่าระเหยเมื่อหล่อหลอม เรียกว่า ค่าสูญเพลิง ซึ่งถือกันว่าจำเป็นอีกด้วย เจ้ากรมทำเงินจะส่งเงินที่ทำเป็นบาทแล้วเบากว่าน้ำหนักเงินแท่งเกินกว่าอัตราที่กำหนดไม่ได้ ถ้าเป็นเช่นนั้น ต้องออกทุนของตนเองใช้ คล้ายกับเป็นการแลกได้แลกเสีย ถ้าเจ้ากรมทำเงินพยายามจัดการละเอียดละออให้เนื้อเงินสูญไฟน้อยลงกว่าอัตรา ก็เป็นกำไร กำไรก็ได้แก่เจ้ากรมทำเงินนั้น เป็นประเพณีอย่างนั้นมาแต่บรมโบราณ เมื่อตั้งโรงกระษาปณ์ก็ทำการระหว่างพระคลังกับโรงกระษาปณ์ตามวิธีทำเงินบาทแต่เดิม อาศัยวิธีหลอมอย่างฝรั่ง เนื้อเงินสูญเพลิงน้อยลงกว่าตามวิธีหลอมอย่างไทยมาก พนักงานทำโรงงานกระษาปณ์ซึ่งขึ้นอยู่ในเจ้ากรมทำเงินจึงร่ำนวยกันต่อมาไม่มีใครสู้ ความข้อนี้ไม่มีใครรู้ความจริงมากนักว่า ร่ำรวยขึ้นมาอย่างไร ต่อมา เจ้าพระยานรรัตน์ได้รับตำแหน่งโรงกระษาปณ์ ไปดิสโคเวอร์เข้าว่า รายได้จากเงินสูญเพลิงนั้นมีมาก และเนื่องด้วยไม่ปรารถนาจะได้เงินนั้นมาเป็นของตน จึงนำความขึ้นกราบบังคมทูล สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงตรัสว่า เมื่อกินกันอยู่แล้ว ก็กินกันต่อไปเถิด ทำให้ผู้ที่มั่งมีอยู่แล้วนั้นกลับมั่งมีขึ้นอีก ความดีที่ได้ดิสโคเวอร์เรื่องนี้ก็มีอยู่ แต่ท่านมาเล็งเห็นว่า การได้ครั้งนี้ไม่ใช่ได้ด้วยน้ำพักน้ำแรง รวยก็รวยขึ้น เงินก็มีพอกินพออยู่ ประจวบกับมีการสร้างวัดเทพศิรินทราวาสถวายสมเด็จพระเทพศิรินทร์ฯ เจ้าพระยานรรัตน์ระลึกถึงพระคุณ จึงสนองพระเดชพระคุณด้วยการเอาเงินไปจ้างถมดินวัดเทพศิรินทร์เป็นจำนวนเงินนับด้วยหมื่นด้วยแสน ลงทุนทำอยู่คนเดียว

การสร้างโรงกระษาปณ์นี้ปรากฏเมื่อไปเมืองพะม่าว่า พระเจ้ามินดงทรงชอบวิธีการของไทย จึงสั่งเครื่องจักรไปยังเมืองพะม่า ตั้งโรงกระษาปณ์ขึ้นที่เมืองมัณฑเลทำเงินรูปีของพะม่าขึ้นบ้าง แต่ไม่สำเร็จประโยชน์ เพราะราษฎรพะม่าชอบใช้เงินรูปีของอังกฤษมาเสียช้านานทั่วทั้งประเทศแล้ว ไม่