หน้า:รับสั่ง - ดำรง - ๒๔๙๓.pdf/53

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๔๗

(พ.ศ. ๒๓๙๙) ทรงเห็นว่า เป็นทองคำ เมื่อขุดได้ ผู้ขุดมิได้ยุบหลอมเสีย และเมื่อโปรดฯ ให้เก็บไว้ ณ หอเสถียรธรรมปริต มีผู้ร้ายลักพระกริ่งทองคำซึ่งรักษาไว้ด้วยกันไป พระพุทธรูปนี้ไม่หาย ทรงเห็นเป็นของประหลาด เพราะพ้นอันตรายมาแล้ว ๒ ครั้ง คือ ผู้ขุดก็ไม่ทำอันตราย และผู้ร้ายก็ไม่ลักไป จึงทรงพระราชดำริแบบอย่างให้ช่างหล่อพระพุทธรูปนั่งขัดสมาธิเพ็ชรต้องตามพุทธลักษณะ หน้าตัก ๕ นิ้วครึ่ง เบื้องหลังมีเรือนแก้วเป็นพุ่มพระมหาโพธิ มีอักษรขอมจำหลักลงในวงกลีบบัว เบื้องหน้า ๙ เบื้องหลัง ๙ พระคุณนาม แสดงพระพุทธคุณ ยอดเรือนแก้วมีรูปพระมหามงกุฎตั้งติดอยู่กับฐานชั้นล่างรองฐานพระซึ่งเป็นที่สำหรับสรงน้ำพระ มีท่อเป็นรูปหัววัว แสดงเป็นที่หมายพระโคตรซึ่งเป็นโคตมะ สร้างเสร็จแล้ว เอาพระพุทธรูปทองคำที่กล่าวใส่ไว้ใต้ฐาน ขนานนามว่า "พระนิรันตราย"

ต่อมา ทรงพระราชดำริว่า พระสงฆ์คณะธรรมยุติกนิกายซึ่งทรงสถาปนาขึ้นนั้นแพร่หลายจนมีผู้ศรัทธาสร้างวัดถวายในนิกายนี้มากขึ้น ใน พ.ศ. ๒๔๑๑ จึ่งโปรดฯ ให้ช่างหล่อพระพุทธรูปนี้ขึ้น ๑๘ องค์เท่าจำนวนปีที่เสวยราชย์เพื่อถวายเป็นที่ระลึกแก่วัดในนิกายนั้น แต่สวรรคตเสียก่อน มาถวายวัดในรัชกาลที่ ๕.

ต่อมาในรัชกาลที่ ๖ พ.ศ. ๒๔๖๘ พระมงกุฎเกล้าฯ ทรงพระราชปรารภว่า เสวยราชย์มาเท่ากับรัชกาลที่ ๒ จึงโปรดให้ช่างหล่อพระพุทธรูปนั่งสมาธิกาไหล่ทองรวม ๑๖ พระองค์ ขนานนามว่า "พระนิโรทันตราย" มีรูปนาคแปลงเป็นมนุษย์เชิญฉัตรกั้นพระรูปหนึ่ง เชิญพัดโบกรูปหนึ่ง อยู่สองข้าง ๆ ละรูป ถวายวัดมหานิกาย ๑๕ องค์ เก็บไว้กับพระนิรันตรายในพระบรมมหาราชวังองค์หนึ่ง และยังอยู่ในวังจนบัดนี้