หน้า:รายงานการประชุม สผ (๒๔๗๕-๐๘-๐๑).pdf/4

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๗๖

ประธานคณะกรรมการราษฎรแถลงว่า เรื่องกฎมนเทียรบาลนี้เป็นกระแสพระราชดำริอยู่ก่อนเปลี่ยนการปกครองแล้ว ครั้นมาเปลี่ยนการปกครองขึ้น ก็พระราชทานพระราชดำริมาให้คณะกรรมการราษฎรปรึกษา พระราชประสงค์นั้น คือว่า เจ้านายที่ทำการสมรสผิดกฎมนเทียรบาลเก่ามีโทษอาชญา จึ่งมีพระราชประสงค์อยากจะให้เลิกโทษอาชญาเสีย เพื่อให้สมแก่ความเป็นไปของบ้านเมืองตามสมัย ในข้อโทษนั้น ก็ไม่มีพระราชประสงค์ให้เป็นไปอย่างอื่น นอกจากว่า ถ้าทำผิด ก็ให้ถอดเสียจากฐานันดรศักดิ์เจ้านาย หลักทางการ (Principle) ก็มีอยู่ดั่งนี้ และเรื่องนี้ คณะกรรมการก็ได้พิจารณาหารือกับกรมร่างกฎหมายขอให้ร่างเป็นรูปกฎหมายขึ้น ดั่งที่ปรากฏนี้ นอกจากนี้ ก็ไม่มีอะไร เพราะความในกฎหมายนี้ก็สั้นและได้ความดีอยู่แล้ว

พระยาปรีดานฤเบศร์กล่าวว่า ตามข้อความที่ร่างไว้ในกฎมนเทียรบาลนี้ มีความไม่ชัดสำคัญอยู่หลายอย่าง ดั่งในมาตรา ๓ และมาตรา ๔ เป็นต้น สองมาตรานี้ปัญหาจะมีว่า ถ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่พระราชทานพระบรมราชานุญาตจะได้หรือไม่ และจะเป็นผัวเมียกันตามกฎหมายหรือไม่ และเพื่อป้องกันการโต้เถียงระวางศาล เห็นสมควรจะแก้ไขเพิ่มความขึ้นอีกมาตราหนึ่งว่า "แม้ชายหญิงนั้นจะได้ทำการสมรสกันโดยขัดขืนต่อพระบรมราช