หน้า:รายงานการประชุม สผ (๒๔๗๕-๑๑-๒๓).pdf/14

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๒๖๔

คิดเป็นดอกเบี้ยเสีย ๑๐๐ บาท ส่วนคำที่ว่า “อื่น ๆ” นั้นก็เหมือนกับคำ “ฯลฯ” ที่จะเขียนข้อความให้บริบูรณ์ไม่ได้ ดั่งที่เคยพูดกันมาแล้ว คือว่า แล้วแต่บุคคลอันอาจจะใช้ความคิดที่จะเขียนข้อความใดให้ได้ดอกเบี้ยสูงกว่าอัตรา ส่วนที่ว่า ตราสารที่เปลี่ยนมือได้นั้น ก็คือว่า แทนที่จะเป็นหนังสือสัญญากู้ ก็เขียนเป็นตั๋วสัญญาใช้เงินดั่งที่บริษัทให้กู้เงินใช้อยู่ ซึ่งเขียนข้อความเป็นจำนวนเงินที่ไม่จริงลงไว้ ส่วนข้อ (ค) ก็อย่างเดียวกับข้อ (ข) ความประสงค์คือว่า จะเอาดอกเบี้ยให้มาก แต่แทนที่จะเป็นเงิน กลายเป็นสิ่งของอย่างอื่น ไม่เรียกเป็นดอกเบี้ย เช่น กู้เงินไป ๑๐๐ บาท แทนที่จะส่งเงิน ให้ใช้เป็นเข้าสัก ๒–๓ เกวียน หรือใช้เป็นไม้หรือสินค้าอย่างอื่น ๆ ก็ได้ ซึ่งจะเห็นได้ว่า ตนจะได้ประโยชน์มากกว่า เช่น คิดดอกเบี้ยร้อยละ ๑๕ แทนที่จะเป็นเช่นนั้น ก็ให้ส่งเข้าเป็นเกวียนซึ่งมีราคาสูงกว่า ๑๑๕ บาท อย่างที่เรียกว่า วิธี “ตกเข้าหรือสินค้าอื่น ๆ” ส่วนที่ว่า เพิกถอนนี้นั้น คือว่า แทนที่จะใช้เงิน ก็ให้เลิกหนี้ในจำนวนเงินที่กู้ไปแล้ว ให้หาสิ่งอื่นซึ่งมีราคาสูงกว่าเงินกู้มาชดใช้แทน เป็นต้น ส่วนมาตรา ๔ คือว่า ผู้รับโอนสิทธิแห่งเงินกู้ซึ่งเจ้าหนี้ให้กู้เกินอัตรา หรือข้อความอันไม่เป็นจริงดั่งที่ระบุไว้ในมาตรา ๓ (ก) (ข) (ค) โดยตนเองก็รู้อยู่ แต่ก็รับมอบสิทธินั้นมา จะเป็นหนังสือสัญญาหรือเอกสารอย่างอื่นก็ดี แล้วนำไปทวงถามเอาจากลูกหนี้ เรียกว่า พยายามจะถือเอาประโยชน์ในสิทธินั้น ๆ ก็มีความผิดดั่งผู้กระทำเหมือนกัน