หน้า:รายงานการประชุม สผ (๒๔๗๕-๑๑-๒๕) b.pdf/52

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๔๔๕

อนึ่ง ความในมาตรานี้ เมื่อพิจารณาตามหลักไวยากรณ์แล้ว แบ่งได้เป็นประโยคประธานและอนุประโยค ประโยคประธาน คือว่า "พระมหากษัตริย์ทรงตั้ง" กิริยาของประโยคประธาน คือ "ทรงตั้ง" กรรมของประโยคประธาน คือ "สมาชิกในสภาผู้แทนราษฎร" "เป็นประธานแห่งสภาหนึ่งนาย" "เป็นรองประธานนายหนึ่งหรือหลายนายก็ได้" เหล่านี้เป็นอนุประโยค ส่วนประโยคท้ายที่ว่า "ตามซึ่งสภาจะได้ลงมติเลือกนี้" ไปคุมกิริยา "ทรงตั้ง" ซึ่งเป็นประโยคประธานด้วย

พระยาอุดมฯ กล่าวว่า คำว่า "จะได้" ในความตอนท้ายมาตรานี้ ความหมาย ๆ ถึงว่า ได้แล้ว

ประธานอนุกรรมการฯ รับรองและเสนอให้ตัดคำ "จะ" ออก

พระยานิติศาสตร์ฯ กล่าวว่า เพื่อกันความสงสัย ขอเสนอให้เติมความว่า "ตามมติของสภา" ลงข้างหลังคำว่า "ราษฎร" แล้วอ่านว่า "ฯลฯ ทรงตั้งสมาชิกในสภาผู้แทนราษฎรตามมติของสภา" และตัดความตอนท้ายที่ว่า "ตามซึ่งสภาได้ลงมติเลือก" ออก

ประธานอนุกรรมการฯ รับรอง

ประธานสภาฯ กล่าวว่า เมื่อไม่มีอภิปรายกันต่อไป จะได้ลงมติ ไม่มีผู้ใดคัดค้าน ในที่สุด ที่ประชุมได้ลงมติรับรองร่างมาตรา ๒๒ ว่า ใช้ได้