หน้า:รายงานการประชุม สผ (๒๔๗๕-๑๑-๒๖) a.pdf/29

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๔๗๖

กฎหมายแล้ว ประธานสภาฯ หรือพระเจ้าแผ่นดิน ก็ต้องทำให้ ปัญหามีเพียงว่า ใครจะเซ็นสั่งนัดประชุมสภา

หลวงแสงฯ กล่าวว่า ที่พูดกันมานี้แบ่งออกเป็น ๒ อย่าง ในมาตรา ๓๓ มีแต่กล่าวว่า ให้ประธานของสภานำความกราบบังคมทูลขึ้นไป ใครจะเป็นผู้รับพระบรมราชโองการไม่ปรากฏ เป็นปัญหาว่า จะพระราชทานพระบรมราชโองการมากับใคร อีกประการหนึ่ง ถ้าท่านไม่โปรดเสียเลย จะทำอย่างไร ฉะนั้น ควรใส่ว่า ให้ประธานของสภานำความกราบบังคมทูล รับสนองพระบรมราชโองการ เมื่อบัญญัติเช่นนี้ เป็นการบังคับอยู่ในตัวว่า พระเจ้าอยู่หัวจะต้องพระราชทานมากับประธานสภาฯ แล้วตัดคำว่า ขึ้นไป ข้างท้ายออก

ประธานอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญกล่าวว่า ถ้าจะให้แก้แล้ว ควรจะเติมอย่างนี้ คือ เติมในบรรทัดสุดท้าย ขีดคำว่า ขึ้นไป ออก แล้วเติมเป็นว่า กราบบังคมทูลและรับสนองพระบรมราชโองการ

หลวงแสงนิติศาสตร์รับรอง

นายจรูญ สืบแสง กล่าวว่า เพื่อให้เป็นการมัดให้แน่น ควรจะใส่ลงไปว่า ในหลวงจะต้องเซ็น

หลวงแสงฯ กล่าวว่า เท่าที่พูดให้เป็นที่เข้าใจ เห็นจะพอแล้ว เพราะถ้าท่านไม่กระทำจริงแล้ว จะไปมัดอย่างไรก็ไม่ได้

พระยานิติศาสตร์ฯ กล่าวว่า ตามหลักรัฐธรรมนูญแล้ว ที่เกี่ยวกับในหลวง ย่อมไม่มี sanction เพราะจะไปฟ้องร้องยังโรงศาลไม่ได้