หน้า:รายงานการประชุม สผ (๒๔๗๕-๑๑-๒๖) a.pdf/31

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๔๗๘

มาตรานี้ วรรค ๒ คำว่า "ก่อนที่มี" นั้น ขอตัดคำว่า 'ที่' ออก คงอ่านว่า ก่อนมี และคำว่า "ผู้ต้องหาว่าเป็นสมาชิก" ตัดคำว่า "ว่า" ออก คงอ่านเป็นว่า "ผู้ต้องหาเป็นสมาชิก"

นายจรูญ สืบแสง ถามว่า ถ้าเป็นในระหว่างสมัยประชุมวิสามัญ สมาชิกจะถูกฟ้องไหม?

ประธานอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญตอบว่า เราใส่ไว่นั้นว่า สมัยประชุม ซึ่งจะเป็นสมัยประชุมสามัญหรือวิสามัญก็สุดแต่การ และที่ใส่ไว้เช่นนั้น ก็ปรารถนาว่า การประชุมสภาเป็นการประชุมใหญ่ยิ่งของประเทศ จึ่งต้องให้สมาชิกได้มาเข้าประชุมได้ เพราะถึงคราวประชุม อาจจะมีการแกล้งกับจับไปคุมขังด้วยเหตุใดก็ได้ ฉะนั้น สมาชิกนั้นก็จะมาประชุมไม่ได้ เพื่อกันความดั่งว่านี้ จึ่งกำหนดขอให้บรรเทาการที่จะพิจารณาไว้ก่อน เพราะว่า ประโยชน์และธุระของสภาใหญ่ยิ่งกว่า แต่มิใช่ว่า เมื่อสิ้นธุระของสภา สมาชิกผู้นั้นจะหลุดพ้นความรับผิดชอบก็หาไม่ ฉะนั้น เมื่อไปทำผิดอะไรไว้ ตนก็ต้องรับผิดชอบตามกฎหมายบ้านเมือง และในที่นี้ ขอรวมพูดถึงมาตรา ๓๕ ด้วย เพราะเป็นข้อความเช่นเดียวกัน ในมาตรา ๓๕ มีความว่า "ในระหว่างสมัยประชุม ห้ามมิให้จับหรือหมายเรียกตัวสมาชิกไปกักขัง เว้นไว้แต่จับในขณะกระทำผิด แต่ต้องรีบรายงานไปยังประธานแห่งสภา ประธานแห่งสภาอาจสั่งปล่อยผู้ถูกจับให้พ้นจากการกักขังได้" ซึ่งมีความหมายเช่นเดียวกับที่ได้อธิบายมาแล้ว