หน้า:รายงาน สว (๒๕๖๔-๐๑-๑๔).pdf/5

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
– ๒ –

คณะกรรมาธิการได้พิจารณาถึงสภาพปัญหาที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้านควบคู่กับมาตรการยุติการตั้งครรภ์ในกรณีที่มีเหตุจําเป็นให้สอดคล้องกับบริบทของสังคมในปัจจุบัน โดยได้คํานึงถึงสิทธิและคุณค่าของทารกที่จะเกิดมา และการคุ้มครองสิทธิของหญิงผู้ตั้งครรภ์ให้ได้รับความเป็นธรรม เกิดความสมดุลกับทุกฝ่ายเป็นประการสําคัญ ประกอบกับข้อบ่งขี้ทางการแพทย์ในการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การยึดหลักการและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่มุ่งคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย รวมทั้งหลักบุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย ได้รับความคุ้มครองการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล ไม่ว่าด้วยเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องถิ่นกําเนิด เชื่อชาติ ภาษา เพศ อายุ ความพิการ สภาพทางกายหรือสุขภาพ ตลอดจนหลักศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ย่อมได้รับความคุ้มครอง ทั้งนี้ เพื่อให้หญิงที่ตั้งครรภ์โดยไม่พร้อมได้มีทางออกของปัญหา และเข้าถึงบริการยุติการตั้งครรภ์ที่มีความปลอดภัยสูงสุด ลดอัตราการทําแท้งที่ผิดกฎหมาย หญิงดังกล่าวไม่ถูกสังคมตีตราหรือประณามจนไม่มีที่ยืนในสังคม เพื่อมีให้เป็นการปฏิเสธสิทธิของหญิงโดยปราศจากการกําหนดเงื่อนไขและเงื่อนเวลาที่เหมาะสม

ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้นคณะกรรมาธิการจึงมีข้อสังเกตต่อร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม ประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (ความผิดฐานทําให้แท้งลูก) ดังนี้

๑.การกําหนดอายุครรภ์สําหรับความผิดฐานหญิงทําให้ตนแท้งลูกหรือยอมให้ผู้อื่นทําให้ตน แท้งลูก ขณะมีอายุครรภ์เกินสิบสองสัปดาห์มีความผิดและต้องได้รับโทษ ถือว่ามีความเหมาะสม เนื่องจากการกําหนดระยะเวลาดังกล่าว มีข้อบ่งขี้ทางการแพทย์ยืนยันถึงความปลอดภัย

๒.การกําหนดเงื่อนไขและเหตุแห่งการยุติการตั้งครรภ์ของหญิงเพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิของ หญิงผู้ตั้งครรภ์และอํานาจในการตัดสินใจให้ได้รับความเป็นธรรม โดยไม่ถูกลิดรอนหรือจํากัดสิทธิ เมื่อมีเหตุจําเป็น เห็นว่ามีความเหมาะสมแล้ว แต่การยุติการตั้งครรภ์ดังกล่าวต้องกระทําโดยผู้ประกอบ วิชาซีพเวชกรรมและตามหลักเกณฑ์ของแพทยสภา และคํานึงถึงหลักความปลอดภัยต่อชีวิต และร่างกายเป็นสําคัญ

๓.การกําหนดเหตุจําเป็นที่ต้องยุติการตั้งครรภ์ เนื่องจากหากทารกคลอดออกมา จะมีความ เสี่ยงอย่างมากที่จะได้รับผลกระทบจากความผิดปกติทางกายหรือจิตใจถึงขนาดทุพพลภาพอย่างร้ายแรงนั้น ถือเป็นการล่วงละเมิดสิทธิของทารกที่จะเกิดมาเป็นบุคคล ประกอบกับคําว่า "ทุพพลภาพ" เป็นคําที่มีความใกล้เคียงหรือทับซ้อนกับคําว่า "ความพิการ" และมีการใช้ถ้อยคําสลับไปมาในหลายกรณี จึงเห็นควรปรับเหตุแห่งการยุติการตั้งครรภ์จากถ้อยคําว่า "จากความผิดปกติทางกายหรือจิตใจถึงขนาดทุพพลภาพ" เป็นคําว่า "ต่อสุขภาพ" เนื่องจากเป็นถ้อยคําที่มีความหมายอย่างกว้างและไม่เกิดผลเสียต่อกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นการเฉพาะ โดยคํานึงถึงคุณค่าความเป็นมนุษย์ของทารกที่จะเกิดมาให้ได้รับความคุ้มครองจากการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลโดยปราศจากอคติและการตีตราจากสังคมด้วยเหตุแห่งความผิดปกติทางร่างกาย ความพิการ หรือทุพพลภาพ ตั้งแต่อยู่ในครรภ์