หน้า:วินิจฉัย ผผ แดง 180 2564.pdf/5

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
- ๕ -

๖.๒ ประเด็นการบริหารจัดการของภาครัฐซึ่งได้รับการสนับสนุนหน้ากากอนามัยจากบริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด จัดสรรหน้ากากอนามัยให้กับประชาชนยังไม่ทั่วถึง รวมทั้งไม่มีการควบคุมราคาหน้ากากอนามัยที่จำหน่ายในร้านสะดวกซื้อ (เซเว่น อีเลฟเว่น) นั้น จากการแสวงหาข้อเท็จจริง ประกอบกับการลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง ณ โรงงานผลิตหน้ากากอนามัยของ บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด ปรากฏว่า บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด ได้ดำเนินโครงการหน้ากากอนามัยฟรีเพื่อบุคลากรทางการแพทย์ โรงพยาบาล และประชาชนทั่วไป โดยผลิตหน้ากากอนามัยทางการแพทย์และมอบให้กับโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เพื่อแจกจ่ายให้กับโรงพยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ และประชาชนที่ขาดโอกาสในการเข้าถึงหน้ากากอนามัย ซึ่งได้มีการส่งมอบหน้ากากอนามัยให้กับโรงพยาบาลทั่วประเทศ องค์กรการกุศล และกลุ่มเปราะบางต่าง ๆ เช่น ชมรมผู้สูงอายุ กลุ่มผู้พิการ กลุ่มอาสาสมัคร ประมาณ ๑,๐๙๔ แห่ง จำนวนรวมทั้งสิ้น ๑๑ ล้านชิ้น สำหรับกรณีการจำหน่ายหน้ากากอนามัยภายในร้านสะดวกซื้อ (เซเว่น อีเลฟเว่น) นั้น บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) มิได้นำหน้ากากอนามัยที่ผลิตภายใต้โครงการหน้ากากอนามัยฟรีเพื่อบุคลากรทางการแพทย์ โรงพยาบาล และประชาชนทั่วไปของบริษีท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด มาจำหน่ายแต่อย่างใด แต่เป็นการติดต่อกับผู้ผลิตหน้ากากอนามัยทางการแพทย์รายอื่น และกำหนดราคาเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด แต่เนื่องจากหน้ากากอนามัยทางการแพทย์มีปริมาณจำกัดจึงทำให้จำหน่ายหมดภายในเวลารวดเร็ว กรณีจึงถือได้ว่าโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ได้ดำเนินการแจกจ่ายหน้ากกาอนามัยทางการแพทย์ที่ผลิตโดยบริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด ให้กับกลุ่มเป้าหมายเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการ รวมทั้งการจำหน่ายหน้ากากอนมัยทางการแพทย์ในร้านสะดวก (เซเว่น อีเลฟเว่น) ยังอยู่ภายใต้การกำกับดูแลในด้านราคาของกรมการค้าภายใน และการควบคุมคุณภาพของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาด้วย

๖.๓ กรณีร้องเรียนความล่าช้าในการจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้กับประชาชน นั้น จากการแสวงหาข้อเท็จจริงปรากฏว่า การจัดหาวัคซีนป้องกัน COVID-19 ของประเทศไทยเริ่มกระบวนการตั้งแต่ในช่วงที่บริษัทผู้ผลิตวัคซีนป้องกัน COVID-19 มาใช้กับประชาชนเกิดความล่าช้าไม่ทันต่อสถานการณ์ความรุนแรงของโรคได้ ด้วยเหตุนี้ การจัดทำวัคซีนป้องกัน COVID-19 จึงเป็นการพิจารณาจัดซื้อภายใต้ความเสี่ยง โดยต้องทำการจองวัคซีนล่วงหน้า ซึ่งเป็นปัญหาและอุปสรรคในการใช้จ่ายงบประมาณตามพระราชบัญญัติการจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. ๒๕๖๐ เนื่องจากการจัดซื้อภายใต้พระราชบัญญัติดังกล่าวจะต้องเป็นกรณีที่วัคซีนเกิดขึ้นแล้ว อย่างไรก็ตาม พระราชบัญญัติความมุ่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๑ ได้เปิดโอกาสให้คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติสามารถใช้จ่ายงบประมาณในกรณีการวิจัยพัฒนาได้ ขณะนี้ประเทศไทยได้จัดซื้อวัคซีนป้องกัน COVID-19 จาก ๒ บริษัท ได้แก่ บริษัท ชิโนแวค ไบโอเทค จำกัด จำนวน ๒,๐๐๐,๐๐๐ โดส และจากบริษัท AstraZeneca จำนวน ๒๖,๐๐๐,๐๐๐ โดส รวมทั้งมีแผนที่จะจัดซื้อวัคซีนเพิ่มอีกอีก ๓๕,๐๐๐,๐๐๐ โดส ซึ่งประเทศไทยตั้งเป้าหมายในการจัดหาวัคซีนป้องกัน COVID-19 ให้ครอบคลุมประชาชน จำนวน ๓๓,๐๐๐,๐๐๐ โดส หรือคิดเป็นร้อยละ ๕๐ ของประชาชนทั้งประเทศ สำหรับวัคซีนที่จัดซื้อไว้แล้วคาดว่าจะได้รับตั้งแต่ในเดือนกุมภาพันธ์ – พฤษภาคม ๒๕๖๔ โดยฉีดวัคซีนเข็มแรกในวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ กรณ๊จึงถือได้ว่า คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการจัดหาวัคซีน COVID-19 เป็นไปด้วยความรอบคอบแล้ว

/จากข้อเท็จจริง...