ข้ามไปเนื้อหา

หน้า:สงวนของ - ดำรง - ๒๔๗๓.pdf/25

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๒๓

การสงวนโบราณวัตถุส่วนการค้น คือ หาของมาเข้าพิพิธภัณฑสถานนั้น อาศัยด้วยลักษณ ๔ อย่าง อย่างที่ ๑ คือ หาได้ด้วยพบเอง ยกตัวอย่างดังเช่นศิลาจารึกหรือของโบราณที่ทิ้งอยู่ไม่มีใครหวงแหนเป็นต้น อย่างที่ ๒ หาได้ด้วยอำนาจในกฎหมาย เรื่องนี้มีพระบรมราชวินิจฉัยบัญญัติไว้ในคำพิพากษาศาลฎีกา ที่ ๑๑๐ ร.ศ. ๑๓๐ (พ.ศ. ๒๔๕๔) ว่า ทรัพย์แผ่นดินอันเป็นของโบราณของปลาดฯ ผู้ได้จะต้องโฆษณา (คือจะปกปิดไม่ได้) และนำมาถวาย (คือส่งต่อเจ้าพนักงาน) ถ้ามิฉะนั้นต้องมีโทษ ดังนี้ วิธีที่ทำให้ข้อนี้ ถ้าเขาเอาของมาส่งโดยดี ควรตีราคาของนั้นแล้วให้เงินเป็นบำเหน็จแก่เขาเท่าอัตราส่วน ๑ ใน ๓ ของราคาตามกฎหมายเดิม อย่างที่ ๓ ได้ด้วยซื้อ คือ ของที่มีเจ้าของโดยชอบด้วยกฎหมายและเขายอมขาย แต่การซื้อควรซื้อแต่เป็นของที่เป็นอย่างยอดเยี่ยมไม่มีสอง เพราะเงินในราชบัณฑิตยสภามีน้อย อย่างที่ ๔ ได้ด้วยเจ้าของมีแก่ใจถวายไว้สำหรับบ้านเมือง ในข้อนี้ราชบัณฑิตยสภามีความยินดีที่สังเกตเห็นตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดฯ ให้จัดพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนครขึ้น มหาชนชอบมาชมและมีผู้ถวายสิ่งของเข้าพิพิธภัณฑ์สำหรับพระนครมากขึ้นกว่าแต่ก่อน ถึงกระนั้น ของโบราณที่ผู้อื่นรวบรวมหรือส้อนเร้นไว้ก็ยังมีไม่น้อย แต่ราชบัณฑิตยสภาหวังใจว่า