หน้า:หนังสือ สผ ๐๐๑๔-ร ๙ (๒๕๖๓-๐๙-๑๘).pdf/29

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้ตรวจสอบแล้ว
บันทึกหลักการและเหตุผล
ประกอบร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..)
พุทธศักราช ....

หลักการ

ยกเลิกมมาตรา ๒๗๐ และมาตรา ๒๗๑ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

เหตุผล

การที่มาตรา ๒๗๐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้วุฒิสภาที่ได้รับการแต่งตั้งในวาระเริ่มแรกตามมาตรา ๒๖๙ มีหน้าที่และอำนาจติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ การจัดทำและดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาตินั้น เป็นการกำหนดบทบาทและหน้าที่ของวุฒิสภาที่ไม่สอดคล้องกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา และไม่สอดคล้องกับการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร เนื่องจากวุฒิสภาดังกล่าวมิได้มีที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนเหมือนกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร อำนาจดังกล่าวถึงควรเป็นอำนาจตามปกติของสภาผู้แทนราษฎรที่จะดำเนินการได้ โดยไม่จำต้องบัญญัติให้อำนาจแก่วุฒิสภาไว้เป็นการเฉพาะดังกล่าว ส่วนมาตรา ๒๗๑ ที่บัญญัติให้การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติที่วุฒิสภาหรือสภาผู้แทนราษฎรยับยั้งไว้ตามมาตรา ๑๓๗ (๒) หรือ (๓) ให้กระทำโดยที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา หากร่างพระราชบัญญัตินั้นเป็นไปตาม (๑) หรือ (๒) ของมาตรา ๒๗๑ นั้น เป็นการบัญญัติขั้นตอนการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติที่มิได้เป็นไปตามมาตรา ๑๓๗ และไม่มีความจำเป็นต้องบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะเพื่อให้วุฒิสภาที่ได้รับการแต่งตั้งในวาระเริ่มแรกมีบทบาทหน้าที่ที่แตกต่างจากวุฒิสภาที่จะได้มาในวาระต่อ ๆ ไป ดังนั้น เมื่อรัฐธรรมนูญได้บัญญัืติถึงขั้นตอนการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติที่วุฒิสภาหรือสภาผู้แทนราษฎรยับยั้งไว้แล้ว บทบัญญัติมาตรา ๒๗๑ จึงไม่มีความจำเป็นต้องบัญญัติไว้อีกเช่นกัน จึงจำเป็นต้องตรารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช .... นี้