หน้า:แถลงการณ์สำนักนายกรัฐมนตรี (๒๕๓๙-๐๙-๒๗).pdf/1

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว

เล่ม ๑๑๓ ตอนที่ ๔๓

๒๘ กันยายน ๒๕๓๙
หน้า ๓
ราชกิจจานุเบกษา

แถลงการณ์สำนักนายกรัฐมนตรี
เรื่อง การยุบสภาผู้แทนราษฎร การกำหนดวันเลือกตั้ง
และการดำเนินการเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม

เนื่องจาก บัดนี้ ได้มีพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๓๙ แล้ว ซึ่งมีผลให้สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง รัฐบาลจึงขอชี้แจงเหตุผลและแนวทางที่จะดำเนินการต่อไปให้ประชาชนทราบ ดังนี้

๑. การยุบสภาผู้แทนราษฎรเป็นกระบวนการปกติของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาดังที่ปฏิบัติอยู่ในหลายประเทศ เมื่อใดที่มีความขัดแย้งหรือเกิดปัญหาทางการเมืองขึ้นอันอาจนำมาซึ่งวิกฤตการณ์ต่าง ๆ จนฝ่ายบริหารไม่สามารถบริหารราชการแผ่นดิน หรือฝ่ายนิติบัญญัติไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อไปให้เป็นปกติได้ และกระแสความต้องการหรือมติมหาชนปรากฏเป็นประเด็นสำคัญในขณะนั้น ๆ วิธีการสุดท้ายที่มักนำมาใช้อยู่เสมอ คือ การยุบสภาผู้แทนราษฎร เพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรขึ้นใหม่ ดังที่เรียกว่า เป็นการคืนอำนาจอธิปไตยกลับไปให้ประชาชน ซึ่งระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภาและรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยก็ยอมรับวิธีการดังกล่าว ดังที่ได้เคยดำเนินการเช่นนี้มาแล้วหลายครั้ง เช่น เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๙ พ.ศ. ๒๕๒๖ พ.ศ. ๒๕๒๙ พ.ศ. ๒๕๓๑ พ.ศ. ๒๕๓๕ และ พ.ศ. ๒๕๓๘

๒. การยุบสภาผู้แทนราษฎรครั้งนี้เกิดจากการที่นายกรัฐมนตรีประสงค์จะลาออกจากตำแหน่งเพื่อเปิดทางให้มีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ซึ่งในการนี้ จำเป็นต้องเริ่มจากการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีคนใหม่ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรนำความกราบบังคมทูล ต่อจากนั้น นายกรัฐมนตรีคนใหม่ก็จะดำเนินการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีอีกไม่เกิน ๔๘ คน เพื่อนำความกราบบังคมทูลเป็นลำดับไป แต่การดำเนินการตามขั้นตอนดังกล่าวไม่อาจเป็นไปโดยเรียบร้อย ทั้งเป็นที่เชื่อว่า การบริหารราชการแผ่นดินโดยรัฐบาลผสมหลายพรรคจะนำไปสู่ความขัดแย้งและเกิดปัญหาทางการเมืองได้ดังที่ประสบมาแล้ว แม้จะไม่มีความรุนแรงมากนัก เพราะต่างตะหนักในปัญหาและพยายามประคับประคองสถานการณ์มาเป็นลำดับ แต่มีแนวโน้มว่าจะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นได้ เมื่อพิจารณาประกอบกับกระแสเรียกร้องของประชาชนแล้ว เห็นว่า หากปล่อยทิ้งไว้ จะเป็นชนวนให้เกิดปัญหาความไม่เชื่อมั่นในระบบและกลไกต่าง ๆ ของรัฐ อันจะเป็นอันตรายต่อการปกครองแบบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภาได้ในที่สุด จึงสมควรตราพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร เพื่อคืนอำนาจการตัดสินใจทางการเมืองในยามหัวเลี้ยวหัวต่อเช่นนี้กลับไปให้ประชาชนพิจารณาโดยการเลือกตั้งใหม่ในวันอาทิตย์ที่ ๑๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๙