หน้า:Constitutional imperialism in Japan (IA constitutionalim00clemrich).pdf/21

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
4. คณะรัฐมนตรี

มีเรื่องน่าสนใจให้สังเกต คือ คณะรัฐมนตรีนั้นไม่มีสถานะอย่างเป็นทางการในรัฐธรรมนูญ มีแต่ "รัฐมนตรี" ที่ได้รับการเอ่ยถึง และก็เป็นที่รับรู้อยู่เพียงเท่านั้น แม้ในเรื่องอำนาจหน้าทางราชการก็ตาม แต่คณะรัฐมนตรี ในฐานะที่เป็นคณะบุคคลนั้น ไม่เป็นที่รับรู้อย่างเป็นทางการ แน่ล่ะ จะเหมารวมก็ได้ว่า บรรดารัฐมนตรีทั้งหลาย ซึ่งมีผู้หนึ่งเรียกว่า "นายกรัฐมนตรี" นั้น ย่อมรวมกันเป็นองค์การอันเรียกว่า "สภารัฐมนตรี" หรือ "คณะรัฐมนตรี" ดังนั้น ในทางอ้อมแล้ว คณะรัฐมนตรีจึงย่อมเป็นที่รับรู้และต้องรับได้การพิจารณาในฐานะองค์กรตามรัฐธรรมนูญ[1] 

  1. ประกาศดังต่อไปนี้ (ออกในปี 1889) อธิบายอยู่ในตัวแล้ว
    "ประกาศพระบรมราชโองการ ที่ 135
    กิจหน้าที่ของคณะรัฐมนตรี

    ข้อ 1 คณะรัฐมนตรีประกอบด้วยรัฐมนตรีทั้งหลาย

    ข้อ 2 ประธานรัฐมนตรีเป็นหัวหน้ารัฐมนตรี ทูลรายงานกิจการแผ่นดินต่อองค์อธิปัตย์ และมีอำนาจควบคุมโดยทั่วไปเหนือฝ่ายต่าง ๆ ในการปกครอง ตามพระราชบัญชา

    ข้อ 3 ประธานรัฐมนตรีสามารถบัญชาฝ่ายใด ๆ ในการปกครอง หรือระงับคำประกาศของฝ่ายดังกล่าวระหว่างรอองค์อธิปัตย์ตัดสินพระทัยในเรื่องนั้นได้ ถ้าโอกาสดูจะสำคัญเพียงพอถึงขนาดต้องปฏิบัติการเช่นนั้น

    ข้อ 4 กฎหมายทั้งหลายก็ดี และพระราชกำหนดทั้งปวงก็ดี บรรดาที่กระทบต่อการปกครองโดยรวม ให้ประธานรัฐมนตรี กับทั้งรัฐมนตรีแห่งกระทรวงอันเป็นที่มาโดยตรงของพระราชกำหนดกฎหมายเหล่านั้น ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ ส่วนพระราชกำหนดทั้งปวงที่กระทบต่อกระทรวงพิเศษเพียงแห่งเดียว ให้ประธานรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการเพียงผู้เดียว

    ข้อ 5 เรื่องดังต่อไปนี้ ให้เสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อปรึกษาหารือ

    (1) ร่างกฎหมาย งบประมาณ และบัญชีที่ชำระสะสางแล้ว

    (2) สนธิสัญญากับต่างประเทศ และบรรดาปัญหาสำคัญระดับชาติ

    (3) ข้อกำหนดอันเกี่ยวกับการปกครอง หรือเกี่ยวกับการบังคับตามกฎและกฎหมาย

    (4) ข้อพิพาทอันเกี่ยวโยงกับอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีประจำกระทรวงที่เกี่ยวข้อง

    (5) ฎีกาจากประชาชนซึ่งพระมหากษัตริย์พระราชทานลงมา หรือซึ่งสภานิติบัญญัติแห่งจักรวรรดิเสนอมา

    (6) รายจ่ายที่อยู่นอกเหนืองบประมาณสามัญ

    (7) การตั้งพนักงานโชกูนิง และผู้ปกครองและผู้ว่าการส่วนท้องถิ่น ตลอดทั้งการเลื่อนและถอดบุคคลเหล่านั้น

    นอกจากข้างต้นแล้ว เรื่องสำคัญเรื่องใดที่เกี่ยวโยงกับหน้าที่ของรัฐมนตรีประจำกระทรวง และเกี่ยวข้องถึงฝ่ายชั้นสูงในการปกครอง ก็ให้เสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อปรึกษาหารือด้วย

    ข้อ 6 รัฐมนตรีทุกคนที่ประจำกระทรวงสามารถเสนอเรื่องใด ๆ ก็ตามที่มีผลต่อกิจหน้าที่ของตนผ่านประธานรัฐมนตรีมาเพื่อให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา

    ข้อ 7 ให้รัฐมนตรีกระทรวงสงครามและกระทรวงทหารเรือรายงานตรงต่อประธานรัฐมนตรี เว้นแต่ในกิจการทหารหรือทหารเรืออันสำคัญยิ่งยวด ซึ่งเสนาธิการได้ทูลรายงานโดยตรงต่อองค์อธิปัตย์ และองค์อธิปัตย์อาจทรงเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา

    ข้อ 8 หากประธานรัฐมนตรีมีเหตุขัดข้องทำให้มิอาจปฏิบัติกิจหน้าที่ของตนได้ กิจหน้าที่เหล่านั้นอาจถ่ายโอนเป็นการชั่วคราวไปยังรัฐมนตรีคนอื่น นอกเหนือจากหน้าที่ของรัฐมนตรีผู้นั้นอยู่แล้ว

    ข้อ 9 หากรัฐมนตรีคนใดมีเหตุขัดข้องทำให้มิอาจปฏิบัติกิจหน้าที่ของตนได้ กิจหน้าที่เหล่านั้นอาจถ่ายโอนเป็นการชั่วคราวไปยังรัฐมนตรีคนอื่น นอกเหนือจากหน้าที่ของรัฐมนตรีผู้นั้นอยู่แล้ว หรืออาจมีการตั้งมนตรีคนอื่นมาปฏิบัติกิจหน้าที่เหล่านั้น

    ข้อ 10 นอกเหนือไปจากรัฐมนตรีทั้งหลายแล้ว อาจมีการแต่งตั้งมนตรีขึ้นเป็นพิเศษให้เข้าร่วมคณะรัฐมนตรี"

(333)