ข้ามไปเนื้อหา

หน้า:Great & wonderful revolution in Siam (1690).pdf/6

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
3
คำนำถึงผู้อ่าน

หากไม่ทรงอยู่ในป่าล่าช้างก็จะทรงอยู่ในวังจดจ่อกับการแผ่นดินของพระองค์เป็นนิตย์ พระองค์มิทรงใฝ่สงคราม เพราะจะยังความพินาศให้แก่ราษฎรของพระองค์ซึ่งพระองค์ทรงถนอมรัก แต่เมื่อพสกนิกรของพระองค์เป็นกบฏไซร้ หรือเจ้าชายจากแคว้นใกล้แดนเคียงปรามาสพระองค์แม้แต่น้อยนิด หรือฝ่าฝืนความเคารพที่พระองค์พึงได้รับ ก็ไม่มีพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใดในฝ่ายตะวันออกทั้งมวลที่จะแก้แค้นได้โจ่งแจ้ง[1] หรือสำแดงความลุ่มหลงในความรุ่งโรจน์มากไปกว่านี้แล้ว พระองค์ทรงใคร่รู้ทุกสิ่ง และมีพระปัญญาญาณชาญฉลาดและเฉียบแหลม ทรงเป็นครูในสิ่งที่มีพระทัยใคร่เรียนรู้ได้โดยง่าย พระองค์ช่างวิเศษ พระทัยกว้าง และทรงเป็นมิตรที่ซื่อตรงเท่าที่จะพึงปรารถนาให้เป็นได้ นี่เป็นคุณสมบัติอันชัชวาลที่ดลดาลให้พระองค์ทรงเป็นที่เคารพของแคว้นใกล้แดนเคียง เป็นที่หวั่นเกรงของศัตรู เป็นที่ยกย่องและรักใคร่ของพสกนิกร จนถึงขั้นที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการเทิดทูนบูชา พระองค์มิทรงเคยติดอยู่ในสิ่งชั่วร้ายที่ครอบงำเจ้าชายชาวตะวันออกเป็นอาจิณยิ่งนัก กลับทรงมักลงโทษมหันต์แก่ขุนนางคนสำคัญที่สุดและเจ้าหน้าที่ชั้นสูงในราชสำนักเพราะเหตุว่า ปล่อยกายปล่อยใจไปกับความรื่นรมย์มากไป ฉะนั้น สิ่งที่เอาชนะได้ยากที่สุดซึ่งเป็นตัวขัดขวางการเปลี่ยนใจเจ้าชายชาวอินเดียผู้กราบไหว้รูปปั้น ซึ่งก็คือ ความลุ่มหลงอิสตรีจนเกินอัตรานั้น จึงไม่อาจพบได้ในพระองค์

ด้วยความเฉียบแหลมในพระปัญญาญาณ พระองค์จึงทรงพานพบความผิดพลาดในศาสนาของบรรพชน และไม่ทรงเชื่อในพระเป็นเจ้าที่ดับสูญได้[2] ตามความเห็นอันเป็นที่นิยมกัน หรือดังที่อาจารย์ฝ่ายเทวนิยม[3] บางคนกล่าวว่า พระเป็นเจ้าผู้เหนื่อยหน่ายกับการอภิบาลสรวงสวรรค์ได้ดื่มด่ำไปกับการพักผ่อน และจมอยู่ตลอดไปในความหลงลืมว่า สิ่งใดเกิดขึ้นในโลกบ้าง ทั้งพระองค์ยังไม่ทรงเชื่อถือโชคลางอีกนับพันตามคำเทศนาของเหล่าสมณะซึ่งเป็นนักเทศน์และนักบวชประจำราชอาณาจักร กลับกัน ทรงเชื่อว่า พระเป็นเจ้านั้นไม่มีวันดับสูญ พระลิขิตของพระเป็นเจ้าจะอภิบาลโลกอย่างไม่หยุดนิ่งแล้วจึงบริหารจัดการสรรพสิ่งไปตามพระอัธยาศัย[4] พระองค์มักทรงภาวนาถึงพระเป็นเจ้าผู้เป็นอมตะพระองค์เดียวกันนี้ และวิงวอนขอพระเทวานุเคราะห์ด้วยความยำเกรงอย่างสุดซึ้งอย่างน้อย

วัน
  1. ในภาษาเก่า "conspicuous" สามารถหมายถึง (1) ชัดแจ้ง ชัดเจน (2) โดดเด่น (3) โด่งดัง เลื่องชื่อ ดังที่ Kersey (1708, น. 157) นิยามว่า "eaſie to be ſeen, clear, manifeſ; eminent, famous" (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  2. คำว่า "annihilate" ในสมัยนั้นมีความหมายเหมือนในปัจจุบัน คือ ทำลายล้าง หรือล้างผลาญ ดังที่ Kersey (1708, น. 37) นิยามว่า "to Bring, or turn any created Being to nothing, to Deſtroy it uttrerly" ฉะนั้น "annihilated God" จึงมีความหมายตรงตัวว่า "พระเป็นเจ้าที่ถูกทำลายล้างแล้ว" ในที่นี้แปลเป็น "พระเป็นเจ้าที่ดับสูญได้" เพราะจะสอดคล้องกับข้อความแวดล้อมที่ระบุว่า พระองค์ไม่ทรงเชื่อใน "annihilated god" แต่ทรงเชื่อใน "eternal God" (พระเป็นเจ้าที่เป็นนิรันดร์) หรือ "immortal God" (พระเป็นเจ้าที่เป็นอมตะ) แต่บางที "annihilated God" ในที่นี้อาจมีความหมายอย่างอื่นอีก เช่น อาจเกี่ยวข้องกับความเชื่อแบบ annihilationism ในศาสนาคริสต์ (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  3. ปรกติแล้วคำว่า "theis" เป็นรูปเขียนแบบเก่าของคำว่า "these" แต่ในกรณีนี้ไม่น่าใช่ เพราะจุดอื่นก็ยังเขียน "these" จึงเห็นว่า อาจเป็นการพิมพ์ "theist" ผิด เพราะข้อความแวดล้อมกล่าวถึงการดำรงอยู่ของเทพ คำว่า "theist" เป็นวิเศษณ์ของคำว่า "theism" ที่แปลว่า เทวนิยม และตาม Dictionary.com (2022f) คำว่า "theism" ได้รับการบันทึกครั้งแรกสุดในช่วง ค.ศ. 1670–80 ราว 10–20 ปีก่อนเอกสารนี้ สอดคล้องกับที่ Lexico.com (2022) ว่า คำ "theist" เกิดขึ้นในกลางคริสต์ศตวรรษที่ 17 (ค.ศ. 1601–1700) ฉะนั้น ก็เป็นไปได้ที่เอกสารนี้จะใช้คำนี้ (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  4. กริยาวลี "dispose of" ในภาษาปัจจุบันแปลว่า กำจัดทิ้ง จำหน่ายไป ทำให้หมดสิ้นไป ทำลาย ฯลฯ ตามความใน Dictionary.com (2022b) ส่วนในภาษาเก่าแปลว่า ทำ (กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง) ไปตามที่ตนพอใจ ดังที่ Kersey (1708, น. 211) นิยามว่า "to do what one pleaſes with" (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)