เจริญทางพระราชไมตรี ทางการค้าขาย ทางจดหมายส่งสารโต้ตอบ ทางแต่งหนังสือพระราชพงศาวดาร ทางพระพุทธศาสนา ทางตำราราชเสวกราชประเพณี ทางขบวนพยุหยาตราชลมารคสถลมารค และการพระบรมศพ ฯลฯ จดหมายเหตุประเภทต่าง ๆ เหล่านี้ได้นำมาพิมพ์ขึ้นไว้ตามลำดับศักราชและรัชสมัยเท่าที่จะสรรหามาได้ ดั่งได้แบ่งประเภทพิมพ์ไว้แล้วในเล่มนี้ เริ่มตั้งแต่จดหมายเหตุที่จารึกไว้ ณ พระเจดีย์ศรีสองรักษ์ จังหวัดเลย อันเป็นเรื่องราวระหว่างสมเด็จพระมหาจักรพรรดิแห่งกรุงศรีอยุธยากับสมเด็จพระไชยเชษฐาธิราชแห่งกรุงศรีสัตนาคนหุตกระทำสัตยสาบานเป็นราชพันธมิตรต่อกันเมื่อปีวอก พุทธศักราช ๒๑๐๓ เป็นเรื่องแรก แล้วจบลงด้วยเรื่องจดหมายเหตุการพระบรมศพเป็นเรื่องสุดท้ายของหนังสือเล่มนี้
กรรมการขอแถลงไว้ด้วยว่า จดหมายเหตุต่าง ๆ ที่นำมาพิมพ์ยังไม่สมบูรณ์เท่าที่ควร เพราะการรวบรวมเอกสารเป็นไปด้วยความยากลำบาก นอกจากต้องคัดเขียนอักขรวิธีไปตามต้นเรื่องต้นฉบับแล้ว ยังต้องถ่ายภาพหาภาพของจดหมายเหตุเรื่องนั้น ๆ มาพิมพ์ประกอบเป็นหลักฐานไว้อีกด้วย ดั่งนั้น จึงอาจมีจดหมายเหตุระหว่างยุคระหว่างรัชสมัยตกค้างอยู่มิได้นำมาพิมพ์ในคราวนี้ หากมีเรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นโดยนัยฉนี้ ก็พึงเข้าใจว่ามีอนุสนธิตามที่ได้พรรณนามา อย่างไรก็ตาม กรรมการจักพยายามรวบรวมจดหมายเหตุที่ตกค้างอยู่มาพิมพ์สืบต่อไปอีกจนกว่าจดหมายเหตุสมัยอยุธยาจะสมบูรณ์ แล้วจึงจะเสนอประชุมจดหมายเหตุสมัยธนบุรี ซึ่งบัดนี้ก็ได้ประมวลไว้แล้ว เป็นอันดับต่อไป
ผู้อ่านประชุมจดหมายเหตุคงจะเห็นความแตกต่างของลายมือที่เขียนหนังสือไทย ถ้อยคำสำนวนโวหาร อักขรวิธี ตลอดจนรูปสระพยัญชนะ ที่ปรากฏในที่แต่ละแห่งของจดหมายเหตุว่ามีความผิดแผกแตกต่างมาทุกสมัย แม้กับปัจจุบันก็ยิ่งแตกต่างกันเป็นอันมาก แสดงให้เห็นว่า การเขียน การพูด การใช้อักขรวิธี เป็นไปตามยุคตามสมัยนิยม และนอกกว่านั้นยังเป็นมาตรการวัดระดับการศึกษาในสมัยนั้น ๆ ได้ว่าสูงต่ำเพียงใดอีกด้วย เช่น เราจะได้อ่านคำกราบบังคมทูลของขุนนางยศชั้นออกพระผู้เป็นราชทูตเขียนรายงานทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายองศ์พระมหากษัตริย์ด้วยสำนวนโวหารอันไพเราะ ทุกท่านที่ได้อ่านจะเว้นสรรเสริญพระธรรมไมตรีราชทูตของสมเด็จพระบรมโกศมิได้เลยว่าทำไมจึงเขียนได้ดีถึงเพียงนั้น และข้อที่ควรสำนึกก็คือ นักศึกษาสมัยนี้จะหมิ่นฝีมือเขียนหนังสือคนสมัยอยุธยาไม่ได้เป็นอันขาด
ในโอกาสนี้ ขอขอบคุณกรรมการ ๓ ท่าน คือ นายฉันทิชย์ กระแสสินธุ์ นายปรีดา ศรีชลาลัย นายยิ้ม ปัณฑยางกูล ที่ได้ร่วมกันดำเนินการจนเป็นผลสำเร็จโดยไม่เห็นแก่ความเหนื่อยยากเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของรัฐบาล ในเรื่องการจัดพิมพ์เอกสารนี้ คณะกรรมการจะเว้นเสียไม่ได้ที่จะจารึกไว้ซึ่งพระคุณ ฯพณฯ จอมพล ถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี ที่ได้อนุมัติงบประมาณการจัดพิมพ์เอกสารสำคัญของชาติที่เก่าคร่ำคร่าขึ้นไว้ให้มีอายุสืบต่อไปอีก