ศักราช ๑๙๗๐ นับแต่กาลปรินิพพานแห่งสมเด็จพระเสฏฐสัพพัญญุตญาณาทิคุณคณาคณิตพิพิธรัตนปติมัณฑิตปรหิตกรวรสิริศากยมุนรโคดมสัมพุทธเจ้า เป็นปีที่ ๓๖ บริบูรณ์แห่งชนมายุของพระธรรมิกธรรมราชาธิราช ผู้เป็นเจ้าครองเมืองชัยนาถ[1] ฤดูร้อน เดือน ๖ ขึ้น ๔ ค่ำ วันพฤหัสบดี เวลาเช้า ๑๑ ชั้นฉาย ประกอบด้วยฤกษ์โรหิณีสมกับสาธิโยค พระบวรศีลญาณาธิคุณสมลังกตวนวาสีศรีสุเมธังกรโรยติสรวรสังฆนายก ผู้เป็นศิษย์แห่งพระอดิสัยมลวิรหิตศีลาทิคุณปติมัณฑิตรนากรวรญาณวนวาสีศรีสุเมธังกรสังฆราช อาศัยพระราชกำลังเกื้อกูลแห่งพระศรีสุริยพงศ์บรมบาลมหาธรรมราชาธิราช ผู้ทรงคุณอันไพศาล ทรงปรีชาญาณอันรุ่งเรือง ราชบุตรของพระสุรเดชพลธรวรธรรมราชาธิราชเจ้า ให้ดำเนินการสลักรอยพระบาททั้งคู่ของสมเด็จพระกวิสรวรสุคตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพียบพร้อมด้วยมงคล ๑๐๘ แผ่ไปเต็มจักรลักษณ์อันวิจิตรต่าง ๆ เป็นที่ชื่นชูใจยิ่งนัก เช่นเดียวกับขนาดรัตนบทเจดีย์ที่พระบรมไตรโลกนารถศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงให้ปรากฏบนยอดเขาสุมันตกูฏอันประเสริฐ เป็นมงกุฎแก้วของลังกาทวีป ที่ให้เกิดอภิรมย์แห่งใจ บนแผ่นศิลากว้างใหญ่นี้ อันพระมหาเถระวิทยวงศ์ ผู้เข้าใจในการจิตรกรรมเป็นอย่างดี นำมาจากเมืองสุโขทัย โดยพระราชานุเคราะห์แห่งพระมหาธรรมราชา ผู้พระชนกแห่งพระบรมบาลธรรมราชนรบดี รอยพระพุทธยุคลบาทอันประดับด้วยจักร สมบูรณ์ด้วยรูปสวัสดิมงคล เป็นที่เจริญตาเจริญใจนี้ อันพระสิริสุเมธังกรสังฆนายกองค์ประธานสงฆ์อำนวยการสลักโดยพระราชานุเคราะห์แห่งพระธีรราชธรรมราชาเจ้า เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้แสวงคุณงามความดีในพระพุทธศาสนาของพระพุทธเจ้าผู้เป็นที่พึ่งของโลก ด้วยเดชะการบุญนี้ ขอให้บรรดาผู้มีชีวิตจงประสบความสุข ขอให้ผู้รักษาแผ่นดินปลูกเลี้ยงรักษาแผ่นดินจงทั่วถึงโดยคุณธรรมเทอญ.[2]
- ↑ คำว่า ผู้เป็นเจ้าครองเมืองชัยนาถ แปลจากศัพท์บาลีว่า ชยนาถิสสร และคำนี้เองให้ข้อสังเกตว่า พระศรีสุริยพงศ์บรมบาลมหาธรรมราชาธิราชมิได้ครองเมืองสองแคว (พิษณุโลก) แต่มาครองอยู่ที่ (ทวิสาข) ชัยนาถบุรี พระชนกของพระองค์ท่านคือที่ออกพระนามไว้ในพระราชพงศาวดารว่า พระมหาธรรมราชาธิราชเจ้า ซึ่งเป็นพระเจ้าตาของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเจ้า
- ↑ สำเนาคำแปลจารึกภาษามคธ