หน้า:Siam (IA siampeepsatmany00youn).pdf/118

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
สอดส่องหลายท้องถิ่น

ขุนนางผู้หนึ่งซึ่งครั้งหนึ่งได้รับคำขอให้ยึดราชบัลลังก์แล้วกำจัดผู้ชิงราชสมบัติซึ่งกำลังครองราชย์อยู่ในเวลานั้นเสีย ขุนนางผู้นั้นนำเทียนสองเล่มมา เล่มหนึ่งแทนตนเอง และอีกเล่มแทนผู้ชิงราชสมบัติ แล้วเฝ้ามองเทียนมอด เทียนของตนมีชัย อาศัยเหตุนี้ว่าส่อถึงความสำเร็จของตน ขุนนางจึงยกพลขึ้นประทุษร้ายเจ้าแผ่นดิน ปราบเจ้าแผ่นดินลงได้ จึงได้ครองราชสมบัติแทน[1]

อนึ่ง ยังมีการพิจารณาคดีที่เกี่ยวข้องกับการกินและดื่ม หนึ่งในนี้เป็นการดื่มน้ำสรงรูปเคารพ ถ้าผู้ดื่มบังเกิดเหตุร้ายภายในสองสัปดาห์หลังจากวันที่ตนดื่มน้ำนั้น เขาจะถูกพิพากษาว่ามีความผิด อีกวิธีการหนึ่งเป็นการกินข้าวซึ่งนักบวชมอบให้โดยผสมกับยาและของเลวร้ายอย่างอื่น หากการบริโภคนั้นยังผลให้ผู้ต้องหาเกิดเจ็บป่วย ก็เป็นเครื่องพิสูจน์ว่า เขาผู้นั้นมีความผิด การพิจารณาคดีรูปแบบนี้ใช้ตรวจจับความผิดเล็ก ๆ น้อย ๆ หลายประเภทสืบ ๆ กันมาจนถึงเวลาที่ค่อนข้างไม่ช้าไม่นานมานี้เอง วิธีทรมานในรูปแบบคล้ายคลึงกันเคยมีอยู่ในอังกฤษจนถึงกลางศตวรรษที่ 13 เป็นอย่างช้า โดยกำหนดให้กินขนมปังและชีสคำเล็กคำหนึ่ง ถ้าอาหารเหลานี้ไม่ก่ออันตรายใด ๆ ผู้กินก็เป็นอันบริสุทธิ์ แต่หากกินแล้วชักดิ้นชักงอ คนผู้นั้นก็มีความผิด

การปีนต้นไม้ก็ได้รับการนำมาใช้สืบหาตัวผู้กระทำความผิด เพื่อการนี้ จะมีการลอกเปลือกของต้นไม้อันเจาะจงชนิด เหลือแต่ส่วนลำต้นลื่น ๆ ไว้ข้างใต้ คนผู้ประสงค์จะพิสูจน์ว่าตนบริสุทธื์ในข้อหาที่ตนถูกฟ้องนั้นสามารถกระทำได้โดย "ปีนเสาตกน้ำมัน" ให้ตลอดรอดฝั่ง

ก่อนเริ่มการพิจารณาคดีด้วยวิธีดำน้ำครั้งใด ๆ นายทะเบียน[2] จะร่ายคำนมัสการยืดยาวต่อ "เทพเจ้าแห่งภูเขา ลำน้ำ ทะเลสาป และคลองบึงทั้งปวง"[3] จะมี

  1. คงหมายถึงเหตุการณ์ที่พระเทียรราชาเสี่ยงเทียนก่อนชิงราชสมบัติกรุงศรีอยุธยาจากขุนวรวงศาธิราช ซึ่งพระราชพงศาวดาร (พระราชพงษาวดาร ฉบับพระราชหัดถเลขา ภาค 1, 2455, น. 19–23) ว่า "ขุนพิเรนทรเทพ ขุนอินทรเทพ หมื่นราชเสน่หา หลวงศรียศ ก็พากันไปยังวัดราชประดิษฐาน เข้าไปเฝ้าพระเทียรราชา นมัสการแล้วจึงแจ้งความว่า ทุกวันนี้ แผ่นดินเปนทุรยศ ข้าพเจ้าทั้งสี่คนคิดกันจะจับขุนวรวงษาธิราชฆ่าเสีย แล้วจะเชิญพระองค์ลาผนวชขึ้นครองศิริราชสมบัติ จะเห็นประการใด พระเทียรราชาก็เห็นด้วย. . .ก็ชวนกันฟั่นเทียนสองเล่ม ขี้ผึ้งหนักเท่ากัน ด้ายไส้นั้นนับเส้นเท่ากัน เล่มเทียนสั้นยาวเสมอกัน. . .ครั้นอธิษฐานเสร็จแล้ว ก็จุดเทียนทั้งสองเล่มนั้นเข้า. . .เทียนขุนวรวงษาธิราชดับลง คนทั้งห้าก็บังเกิดโสมนัศยินดียิ่งนัก"
  2. พระอัยการลักษณะพิสูจน์ดำน้ำลุยเพลิง มาตรา 7 (แลงกาต์, 2481, น. 365) ว่า ผู้อ่านคำสัตยาธิษฐานในการดำน้ำ คือ อาลักษณ์
  3. พระอัยการลักษณะพิสูจน์ดำน้ำลุยเพลิง มาตรา 10 (แลงกาต์, 2481, น. 368) ว่า "เทวันบรรพตทังมวน ห้วยหนองคลองควร คำนึงรำพึงเลงญาณ"
82