อธิบายเรื่องหนังสือพงษาวดารเมืองหลวงพระบาง

จาก วิกิซอร์ซ

อธิบายเรื่องหนังสือพงษาวดารเมืองหลวงพระบาง


การเลือกเรื่องหนังสือพิมพ์แจกในงานศพพระยาดัษกรปลาศ ข้าพเจ้าได้ตั้งใจค้นหาเรื่องทางเมืองหลวงพระบาง ด้วยเห็นว่าจะสมกับประวัติของ พระยาดัษกรปลาศยิ่งกว่าหนังสือเรื่องอื่น พเอิญในหอพระสมุด ฯ มีเรื่องพงษาวดาร เมืองหลวงพระบาง ซึ่งข้าพเจ้าเข้าใจว่ายังไม่ได้เคยพิมพ์มาแต่ก่อน จึงได้เลือกให้พิมพ์เปน ประชุมพงษาวดารภาคที่ ๑๑ สำหรับแจกในงานศพพระยาดัษกรปลาศ หนังสือพงษาวดารเมืองหลวงพระบางฉบับนี้ ตามเนื้อเรื่องแสดงว่าเปนหนังสือแต่งถวายเมื่อในรัชกาลที่ ๕ แต่ใครจะเปนผู้แต่งหาทราบไม่ หอพระสมุด ฯ ได้ต้นฉบับมาจากอาลักษณฉบับ ๑ จากกระทรวงมหาดไทยฉบับ ๑ เรื่องข้างตอนต้นเห็นได้ว่า เก็บความจาก พงษาวดารล้านช้าง ฉบับที่พิมพ์ในประชุมพงษาวดารภาคที่ ๑ นั้นเอง ฉบับนั้นเปนภาษาชาวหลวงพระบาง ฉบับนี้เอามาแต่งเสียใหม่ ให้เปนภาษาชาวกรุงเทพ ฯ อ่านเข้าใจง่ายขึ้น แล แต่งเรื่องพงษาวดารเพิ่มเติมต่อลงมาจนสิ้นรัชกาลที่ ๔ แต่ความตอนต้นฉบับนี้ผู้แต่งแก้ไขศักราช


(๑๑) เลอะเทอะวิปลาศจากฉบับเดิมมาก ข้าพเจ้าได้พยายามสอบแก้เข้าหาฉบับเดิม ซึ่งเห็นว่าจะเปนหลักฐานถูกต้องหลายแห่ง แต่เวลาชำระน้อย เกรงจะสอบไม่ทั่วถึง ฤๅถูกต้องได้ทีเดียว หนังสือพงษาวดารทางนี้เรียกชื่อต่าง ๆ กันหลายอย่าง เรียกว่า พงษาวดารล้านช้างบ้าง พงษาวดารกรุงศรีสัตนาคนหุตบ้าง พงษาวดารเมืองหลวงพระบางบ้าง พงษาวดารเมืองเวียงจันท์บ้าง ชวนให้สงไสยความจริงนั้นดังนี้ คือ ที่เรียกว่า กรุงศรีสัตนาคนหุตก็ดี ฤาเมืองล้านช้างก็ดี ที่จริง เปนอันหนึ่งอันเดียวกัน ที่เรียกว่า ศรีสัตนาคนหุต เปนของผูกภาษาบาฬีขึ้นเรียกให้ไพเราะ คำว่า ล้านช้าง เปนภาษาที่ไทยเรียกกันมาแต่ก่อน แลคำว่าล้านช้างนั้น ตามที่เข้าใจกันโดยมาก ฤๅแม้ความ เข้าใจของพวกหลวงพระบางเองทุกวันนี้ว่า "ช้างสิบแสนตัว" จึงเขียนว่าล้านช้าง แต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชวินิจฉัยว่า ที่จริงนั้น "ลานช้าง" หมายความว่าเปนทำเลช้าง คู่กับ ลานนา ซึ่งเรียกอาณาเขตร มณฑลภาคพายัพ มาแต่โบราณ ซึ่งหมายความว่าเปนทำเลทำนา เพราะทางเมืองหลวงพระบางเปนที่ห้วยเขาป่าดง ทำนองจะเปนที่มีช้างมาก จึงเรียกว่าลานช้าง ส่วนเมืองเชียงราย เชียงใหม่ มีที่ราบสำหรับทำไร่นามาก จึงเรียกว่า ลานนา เปนคู่กัน เปนคำของพวกไทยที่อยู่ทางข้างเหนือเรียกแต่ดึกดำบรรพ์


(๑๒) กรุงศรีสัตนาคนหุต ฤาล้านช้าง เดิมตั้งราชธานีอยู่ที่เมือง เชียงคง เชียงทอง คือที่หลวงพระบางทุกวันนี้ จึงเรียกว่าเมืองหลวง (พึ่งเพิ่มนามพระบางต่อเข้าในชั้นหลัง) เปนราชธานีมาจนปีวอก พ.ศ. ๒๑๐๓ ตรงสมัยในรัชกาลสมเด็จพระมหาจักรพรรดิครองกรุงศรีอยุทธยา พระไชยเชษฐาธิราชย้ายลงมาอยู่เมืองเวียงจันท์ ๆ จึงขึ้นชื่อเปนราชธานีมาแต่ครั้งนั้น แลจึงใช้ชื่อพระบางเติมท้ายนามเมืองหลวงขึ้น ด้วยพระบางยังคงอยู่ที่เมืองหลวงเดิม กรุงศรี สัตนาคนหุตยังรวมเปนอาณาเขตรอันเดียวกันทั้งเวียงจันท์ แลหลวงพระบางมาจนราวปีวอก พ.ศ. ๒๒๓๕ ตรงสมัยในรัชกาลสมเด็จพระเพทราชาธิราช ครองกรุงศรีอยุทธยา พวกราชวงษ์กรุงศรีสัตนา คนหุตเกิดแตกกันเปน ๒ ก๊ก พระไชยองค์แว ได้อาณาเขตรข้าง ตอนใต้ ตั้งเมืองเวียงจันท์เปนราชธานี เจ้ากิงกิสสะ ได้อาณา เขตรข้าง ตอนเหนือ ตั้งเมืองหลวงเดิม คือเมืองหลวงพระบางเปนราชธานี ต่างใช้นามว่า กรุงศรีสัตนาคนหุตเหมือนกันทั้ง ๒ ฝ่าย เมื่อปราบปรามกันลงไม่ได้ จึงได้ตกลงแยกกันเปน ๒ อาณาเขตร แล จึงเกิดชื่อสำหรับเรียกให้แปลกกันว่า พระเจ้ากรุงจันทบุรีศรีสัตนา คนหุตล้านช้างร่มขาวฝ่าย ๑ พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตล้านช้าง ร่มขาวหลวงพระบางฝ่าย ๑ แต่ผู้อื่นก็เรียกว่า เจ้าเมืองเวียงจันท์ แลเจ้าเมืองหลวงพระบางมาจนทำลายล้างเมืองเวียงจันท์เสีย เมื่อเจ้าอนุเปนขบถในรัชกาลที่ ๓ จึงเหลือแต่หลวงพระบางเมืองเดียวอยู่จนตราบเท่าทุกวันนี้


(๑๓) เรื่องพงษาวดารที่พิมพ์ในสมุดเล่มนี้ ข้างตอนต้นที่จริงเปน พงษาวดารกรุงศรีสัตนาคนหุต ฤๅลานช้างรวมกันมาจนน่า ๓๕ จึงแยกไปเปน พงษาวดารเมืองหลวงพระบาง เพราะเหตุที่มีเจ้าเวียงจันท์ขึ้นต่างหากอิกก๊ก ๑ อาณาเขตรแยกกันดังกล่าวมาแล้ว ข้าพเจ้าขออนุโมทนากุศลบุญราษีทักษิณานุปทา ซึ่งนายใหญ่โรหิตเสถียร ได้บำเพ็ญในการปลงศพสนองคุณ นายพันเอก พระยาดัษกรปลาศ ( ทองอยู่ โรหิตเสถียร ) ผู้บิดา ด้วยความกตัญญูกตเวที แลได้พิมพ์หนังสือเรื่องนี้ให้แพร่หลาย เชื่อว่าท่านทั้งหลายผู้ที่ได้อ่านสมุดเล่มนี้ จะพอใจแลอนุโมทนาด้วยทั่วกัน


สภานายก หอพระสมุดวชิรญาณ วันที่ ๙ เมษายน พ.ศ.๒๔๖๒