ข้ามไปเนื้อหา

อธิบายเรื่องเบื้องต้นที่ไทยจะเปนไมตรีกับฝรั่งเศส

จาก วิกิซอร์ซ
แม่แบบผิดพลาด: มีการลบช่องที่ไม่ได้ใช้ออก โปรดเติมกลับเข้าไป (โปรดดูเอกสารกำกับแม่แบบ)
อธิบายเรื่องเบื้องต้นที่ไทยจะเปนไมตรีกับฝรั่งเศส

เดิมการไปมาค้าขายในระหว่างนานาประเทศที่อยู่ในยุโรปกับประเทศทั้งหลายทางตะวันออกนี้ต้องเดินทางบก พวกฝรั่งโปรตุเกศพยายามหาทางแล่นเรือกำปั่นอ้อมทวีปอาฟริกามาถึงอินเดียได้ก่อนชาติอื่นเมื่อ พ.ศ. ๒๐๔๑ ในสมัยนั้นพวกชาวประเทศทางตวันออกยังไม่สันทัดใช้ปืนไฟเหมือนฝรั่ง พวกโปรตุเกศก็อาศรัยใช้อาวุธปืนไฟเปนกำลัง เที่ยวปราบปรามเมืองน้อยใหญ่ตามชายทเล ได้เมืองขึ้นแต่อินเดียเปนระยะมาถึงเมืองมละกาในแหลมมลายู และตลอดไปจนเหล่าเกาะชวาและเมืองมาเก๊าแดนจีนเปนที่สุด แต่พวกโปรตุเกศหามาเบียดเบียนได้ถึงเมืองไทยไม่ เปนแต่ให้มาทำทางพระราชไมตรีในครั้งรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ณกรุงศรีอยุธยา เมื่อ พ.ศ. ๒๐๖๐ แต่นั้นก็มีพวกโปตุเกศเข้ามาตั้งค้าขายอยู่ในเมืองไทย (สืบเชื้อสายมาจนถึงพวกที่อยู่ตำบลกฎีจีนในบัดนี้) เมื่อพวกโปรตุเกศเข้ามาตั้งค้าขายอยู่ไม่ช้านัก มาอาสาเปนทหารเข้ากองทัพหลวงสมเด็จพระไชยราชาธิราชไปรบพม่าที่เมืองเชียงกราน[1] มีบำเหน็จความชอบ สมเด็จพระไชยราชาธิราชจึงพระราชทานที่ตำบลบ้านดิน ที่ริมแม่น้ำฝั่งตวันตกเหนือปากคลองตะเคียน ให้พวกโปรตุเกศตั้งบ้านเรือนเปนภูมิลำเนา และพระราชทานอนุยาตให้สร้างวัดสาสนาคฤศตังในที่นั้น ก็มีตำบลบ้านฝรั่งโปรตุเกศที่กรุงศรีอยุธยาแต่นั้นมา.

พวกโปรตุเกศใช้เรือไปมาค้าขายถึงประเทศทางตวันออกได้กำไรร่ำรวยอยู่แต่ชาติเดียวเกือบร้อยปี จนราว พ.ศ. ๒๑๓๙ พวกฮอลันดากับพวกอังกฤษสืบรู้หนทางที่พวกโปรตุเกศเดินเรือ จึงพยายามแล่นเรืออ้อมทวีปอาฟริกาออกมาถึงประเทศตวันออกได้บ้าง พวกฮอลันดามาถึงเมืองไทยตอนปลายรัชกาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เมื่อ พ.ศ. ๒๑๔๑ พวกอังกฤษมาถึงเมืองไทยในต้นรัชกาลสมเด็จพระเอกาทศรถ เมื่อ พ.ศ. ๒๑๕๕ ต่างเชิญพระราชสาสนขอเปนทางพระราชไมตรีมาจากเจ้านายของตน เพื่อจะได้ไปมาค้าขายยังเมืองไทย ก็โปรดฯ พระราชทานอนุญาตให้ไปมาค้าขายได้เหมือนพวกโปรตุเกศ

แต่พวกโปรตุเกศเปนอริกับพวกฮอลันดาและอังกฤษที่ในยุโรปสาเหตุเกิดแต่ถือลัทธิสาสนาคฤศตังต่างกัน พวกโปรตุเกศถือลัทธิโรมันคาทอลิก ซึ่งยอมอยู่ในโอวาทของโป๊ปณกรุงโรม ฝ่ายพวกฮอลันดาและอังกฤษนั้นถือลัทธิโปรเตสตันต์ของพวกที่เอาใจออกหากจากโป๊ปไปตั้งเปนลัทธิขึ้นใหม่ เลยวิวาทถึงรบพุ่งกัน เมื่อพวกฮอลันดากับพวกอังกฤษออกมาได้ถึงประเทศทางตวันออก ก็มาร่วมมือกันรบรานแย่งชิงบ้านเมืองและสมบัติที่โปรตุเกศมาได้ไว้ทางตวันออกนี้ พวกโปรตุเกศก็อ่อนกำลังลงเปนอันดับมา อังกฤษตั้งหน้าหาอำนาจทางอินเดีย ส่วนฮอลันดามาตั้งหน้าหาอำนาจทางเหล่าเกาะชวา เกาะชวาอยู่ใกล้เมืองไทยกว่าอินเดีย จึงมีพวกฮอลันดาเข้ามาตั้งค้าขายอยู่ณกรุงศรีอยุธยาก่อนพวกอังกฤษ พวกฮอลันดามาทำความชอบในรัชกาลสมเด็จพระเอกาทศรถด้วยอาสาสงครามเปนต้น ก็ได้พระราชทานที่ให้ตั้งภูมิลำเนาทางริมฝั่งแม่น้ำฟากตวันออกใกล้ปากน้ำแม่เบี้ย ตรงกับบ้านพวกโปรตุเกศข้าม ครั้นต่อมาถึงแผ่นดินพระเจ้าทรงธรรม พวกฮอลันดาทำความชอบยิ่งขึ้น จึงได้พระราชทานที่ที่ปากน้ำเจ้าพระยาทางฝั่งตวันตก ตรงริมคลองบางปลากดข้างเหนือสมุทรปราการ ให้สร้างเปนสถานีที่ไว้สินค้าอิกแห่งหนึ่ง พวกฮอลันดาก็ก่อสร้างสถานที่ต่างๆ ขึ้นณที่นั้น เปนทำนองเมืองของพวกฮอลันดา เรียกชื่อว่าเมืองแอมสเตอร์แดมใหม่ (เดี๋ยวนี้น้ำเซาะพังลงน้ำไปหมดแล้ว) พวกฮอลันดาก็มีกำลังยิ่งขึ้นในประเทศนี้

ก็และลักษณการค้าขายของพวกฮอลันดาในชั้นแรกที่มาตั้งในเมืองไทยนั้น ต้องอาศรัยไทยเปนกำลังอยู่หลายอย่าง เปนต้นว่าเข้าปลาอาหารที่พวกออลันดาต้องการใช้เปนเสบียงณเมืองบันตัม ซึ่งฮอลันดาตั้งเปนที่มั่นที่เกาะชวา ก็ต้องมาหาซื้อไปจากเมืองไทย อิกประการ ๑ ที่จะค้าขายต่อไปทางเมืองจีน, เมืองยี่ปุ่น พวกฮอลันดาจะไปค้าขายโดยลำภังไม่ได้ เพราะแต่ก่อนมาพวกโปรตุเกศได้เคยไปทำรุกรานไว้ทางนั้น จนจีนและยี่ปุ่นเกลียดชังคนผมแดง (คือฝรั่ง) ทั่วไปไม่ว่าชาติไหน ๆ ไม่ยอมให้ไปค้าขายในเขตรแดนทั้งนั้น และในสมัยนั้น มีเรือไทยไปมาค้าขายกับเมืองจีนเมืองยี่ปุ่นอยู่เปนนิจ พวกฮอลันดาได้อาศรัยฝากสินค้าของตนที่ซื้อขายทางเมืองจีนเมืองยี่ปุ่นไปมาด้วยเรือไทย จึงต้องพยายามเอาใจดีต่อไทยมาตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระเอกาทศรถ จนตลอดรัชกาลพระเจ้าทรงธรรม ครั้นถึงรัชกาลพระเจ้าปราสาททอง ฮอลันดาได้บ้านเมืองทางเกาะชวามีอำนาจยิ่งกว่าแต่ก่อน และได้ไปคิดอ่านว่ากล่าวทางเมืองจีนเมืองยี่ปุ่น ขออนุญาตให้เรือของฮอลันดาไปค้าขายได้เอง ยังคงต้องอาศรัยเมืองไทยแต่ในการซื้อหาเสบียงอาหารบ้างเล็กน้อย กับที่จะซื้อขายสินค้าหากำไรในเมืองไทย ไม่ต้องพึ่งไทยมากเหมือนแต่ก่อน ครั้นพระเจ้าปราสาททองโปรด ฯ ให้ตั้งคลังสินค้าของหลวงขึ้น รับซื้อสินค้าที่เปนสิ่งสำคัญจากราษฎรในพื้นเมืองขายให้ชาวต่างประเทศ และเลือกซื้อสินค้าจากชาวต่างประเทศไปจำหน่ายในพื้นเมืองเปนการหลวง พวกฮอลันดาก็ไม่พอใจ ในชั้นแรกดูเหมือนจะตั้งหน้าฝ่าฝืน จนเปนเหตุให้พระเจ้าปราสาททองทรงขัดเคืองพวกฮอลันดา ถึงทรงพระราชดำริห์จะให้กองทัพเรือยกลงไปตีเมืองบันตัม ซึ่งเปนที่มั่นของพวกฮอลันดาเกาะชวา มีความปรากฎในจดหมายเหตุของพวกฮอลันดา ว่าในครั้งนั้นพระเจ้าปราสาททองมีรับสั่งให้เรียกตัวพวกแขกและจีนที่ชำนาญการเดินเรือไปไต่ถามเอาความรู้แผนที่ทเลสำหรับจะให้กองทัพเรือยกไป ความที่กล่าวนี้ปลาดที่มีหลักฐาน ด้วยแผนที่ทเลอันแสดงเค้าเงื่อนว่าได้ทำขึ้นในราวสมัยนั้น ปรากฎอยู่ในท้ายหนังสือไตรภูมิ์ฉบับที่มีอยู่ในหอพระสมุด ฯ บัดนี้ จึงเห็นว่าจะเปนความจริงดังพวกฮอลันดากล่าว แต่เหตุที่ไทยเกิดเปนอริกับพวกฮอลันดาครั้งแผ่นดินพระเจ้าปราสาททองนั้น ลงที่สุดระงับกลับดีกันไปได้ หาถึงต้องรบพุ่งกันไม่

มาถึงรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เมื่อพวกอังกฤษตั้งมั่นได้ในอินเดียแล้ว ก็เริ่มเข้ามาตั้งค้าขายในเมืองไทย คอนสตันติน ฟอลคอน ที่มาได้เปนเจ้าพระยาวิชเยนทร เข้ามาเมืองไทยกับพวกอังกฤษในครั้งนั้น ด้วยเปนลูกจ้างของพ่อค้าอังกฤษออกมาจากยุโรป แต่ส่วนตัวเปนชาติครีกมิได้เปนอังกฤษ ครั้นมาเห็นประโยชน์ที่จะค้าขายอยู่ในเมืองไทยโดยลำภังตน จึงเลิกรับจ้างอังกฤษ แล้วสมัคเข้ามารับราชการเปนที่สุด การที่อังกฤษมาตั้งค้าขายในเมืองไทย ต้องไปมาติดต่อกับอินเดียซึ่งเปนที่มั่น ทางที่จะไปมาได้ไกล้นั้น มาจอดเรือกำปั่นที่เมืองมริดอันอยู่ปากน้ำเมืองตนาวศรี ซึ่งในเวลานั้นอยู่ในอาณาเขตรกรุงสยาม แล้วลงเรือถ่อพายขึ้นทางลำน้ำตนาวศรีจนถึงปลายน้ำ แล้วขึ้นเดินบกข้ามเขาบรรทัดเข้ามาทางด่านสิงขร ลงชายทเลอ่าวสยามที่ตรงเกาะหลัก (อันตั้งที่ว่าการจังหวัดประจวบคิรีขันธ์บัดนี้) แล้วเดินเลียบชายทเลขึ้นมาจนถึงเมืองเพ็ชรบุรี จึงลงเรือเข้ามาพระนครศรีอยุธยา ทางเส้นนี้เปนทางสำคัญในการไปมาค้าขายในระหว่างกรุงสยามกับประเทศต่าง ๆ ทางทิศตวันตก เช่นอินเดีย ประเทศเปอร์เซีย ประเทศอาหรับ ตลอดจนชาวยุโรปมาแต่โบราณ เพราะการที่จะแล่นเรืออ้อมแหลมมลายูมาเข้าอ่าวสยามมาได้แต่บางฤดู ตั้งแต่อังกฤษเข้ามาตั้งค้าขายในกรุงศรีอยุธยา การไปมาค้าขายทางเมืองตนาวศรีมีมากขึ้น เมืองตนาวศรีและเมืองมริดซึ่งเปนเมืองท่าปลายทางนี้ก็ยิ่งสำคัญขึ้น

ทางพระราชไมตรีที่ไทยเคยมีกับฮอลันดาและอังกฤษ มาเกิดปัจจัยให้แปลกแปลงเมื่อในรัชกาลสมเด็จพระนารายน์ ฯ หลายอย่าง ว่าฉะเพาะส่วนพวกอังกฤษ การที่อังกฤษออกมาค้าขายทางประเทศตวันออกแต่เดิม เปนการที่พวกพ่อค้าเข้าทุนกันเปนบริษัทมาค้าขาย รัฐบาลอังกฤษเปนแต่อุดหนุนอำนาจอังกฤษที่มาเจริญขึ้นทางตวันออกตกอยู่ในมือบริษัทนั้น บริษัทไม่ยอมให้คนอังกฤษนอกจากที่ทำการให้บริษัทค้าขายโดยลำภังเพื่อประโยชน์ของตนเอง พวกอังกฤษที่มารับจ้างบริษัทมาเห็นช่องทางที่จะค้าขายหาผลประโยชน์ได้มากกว่าที่บริษัทให้ค่าจ้าง ก็เกิดไม่พอใจที่จะอยู่กับบริษัท แต่จะออกไปค้าขายโดยลำภังตนกลัวจะถูกบริษัทรังแกกดขี่ต่าง ๆ เมื่อวิชเยนทร์เข้ามารับราชการของไทย ได้มีตำแหน่งอยู่ในกรมพระคลังสินค้า ซึ่งมีน่าที่อำนวยการค้าขายของหลวง วิชเยนทร์รู้วิธีการค้าขายของพวกชาวต่างประเทศ คิดเห็นว่าถ้าได้ฝรั่งมาเดินเรือและทำการค้าขายของหลวง การค้าขายก็จะเจริญได้กำไรเข้าพระคลังยิ่งขึ้นอิกเปนอันมาก จึงเกลี้ยกล่อมพวกอังกฤษที่เอาใจออกหากจากบริษัทมารับราชการในการเดินเรือค้าขายของหลวง สัญญายอมอนุญาตให้พวกอังกฤษเหล่านั้นฝากสินค้าของตนเองไปมาในเรือหลวงได้ ก็มีคนอังกฤษสมัคเข้ามารับราชการตั้งร้อย การอันนี้ย่อมไม่เปนที่พอใจของบริษัทอังกฤษ ส่วนทางพวกฮอลันดานั้น มาในตอนนี้พวกฮอลันดามีทั้งกำลังเรือรบและเรือค้าขายเจริญยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน ก็คิดจะรวบเอาการค้าขายในระหว่างเมืองไทยเมืองจีนกับเมืองยี่ปุ่นที่ไปมาทางทเลไว้ในมือของพวกฮอลันดาให้หมด เมื่อเห็นไทยจัดการค้าขายของหลวงแขงแรงขึ้นก็ไม่พอใจ อังกฤษกับฮอลันดาเคยเข้ามือกันมาแต่ก่อน ครั้นมาผิดใจขึ้นกับไทยด้วยกัน ต่างก็คิดตั้งขึงแขงเอาแก่ไทย พอไทยเกิดรบกับพม่าขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๒๐๗ ฮอลันดาเห็นไทยติดทำสงครามอยู่ทางอื่น ก็หาเหตุเอากองทัพเรือปิดปากน้ำ สมเด็จพระนารายน์ ฯ จำต้องยอมสัญญาว่าจะไม่ค้าขายแข่งขันพวกฮอลันดาทางตวันออก ฝ่ายข้างอังกฤษเห็นพวกฮอลันดาแขงขึงขึ้นแก่ไทยทางนี้ ก็แขงขึงขึ้นแก่ไทยทางตวันตกบ้าง ได้ความปรากฎมาว่าอังกฤษจะคิดยึดเอาเมืองตนาวศรีและเมืองมริดซึ่งเปนเมืองท่าค้าขายของไทยทางตวันตกเปนของอังกฤษเสีย มิให้ไทยมีช่องทางที่จะค้าขายแข่งอังกฤษด้วยเหมือนกัน ในขณะนั้นทางยุโรป พระเจ้าหลุยที่ ๑๔ มีอานุภาพขึ้น พระเจ้าหลุยที่ ๑๔ เปนผู้อุปถัมภ์บำรุงสาสนาลัทธิโรมันคาธอลิก เปนข้าศึกกับพวกอังกฤษและฮอลันดาซึ่งถือลัทธิโปรเตสตันต์ ให้มาขอเปนทางพระราชไมตรี สมเด็จพระนารายน์ ฯ จึงทรงรับทางไมตรีของพระเจ้าหลุยที่ ๑๔ หวังจะเอาเปนสัมพันธมิตรมิให้พวกฮอลันดาและอังกฤษมารุกรานเมืองไทย

ส่วนความมุ่งหมายของฝรั่งเศสที่สมัคมาเปนไมตรีกับไทยครั้งแผ่นดินสมเด็จพระนารายน์ ฯ นั้น ที่จริงทีเดียวจะเปนอย่างไรก็ทราบไม่ได้แน่ในเวลานี้ แต่สังเกตตามความที่ปรากฎอยู่ในเรื่องราวที่พิมพ์ไว้ในสมุดเล่มนี้ ดูเหมือนส่วนพระเจ้าหลุยที่ ๑๔ เองกับพวกบาดหลวง จะมุ่งหมายเพียงจะเกลี้ยกล่อมไทย ตั้งแต่สมเด็จพระนารายน์ ฯ เปนต้น ให้เข้ารีดถือสาสนาคฤศตังตามลัทธิโรมันคาทอลิกให้เปนเกียรติยศในการสาสนูปถัมภกอย่างหนึ่ง กับจะอาศรัยเมืองไทยหาผลประโยชน์ในการค้าขายของฝรั่งเศสแข่งอังกฤษและฮอลันดาอย่าง ๑ หาได้คิดมุ่งหมายที่จะทำลายอิศรภาพของเมืองไทยเอาไปเปนเมืองขึ้นของฝรั่งเศสไม่ แต่มีฝรั่งเศสอิกพวกหนึ่งคิดมุ่งหมายถึงจะเอาเมืองไทยไปเปนเมืองขึ้น บางทีความข้อที่ว่ามานี้เองจะเปนมูลเหตุให้พวกฝรั่งเศสมาเดินอุบายแตกกันในประเทศนี้ มีความปลาดอยู่ในสมุดเล่มนี้แห่ง ๑ ซึ่งยังมิได้เคยปรากฎเค้าเงื่อนในที่อื่น คือที่เจ้าพระยาวิชเยนทรรู้สึกตัวมาช้านานว่า ทางที่ตัวปฏิบัติราชการอาจจะเกิดเปนภัยอันตรายแก่ตนได้ในเวลาหนึ่ง ถึงได้ซื้อบ้านช่องและส่งทรัพย์สมบัติไปเตรียมไว้ในประเทศฝรั่งเศส และยังมีความข้ออื่นอยู่ในสมุดเล่มนี้อิกหลายแห่ง ที่ชวนให้คิดเห็นว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อครั้งตอนปลายแผ่นดินสมเด็จพระนารายน์มหาราชยังจะคิดค้นหาความจริงให้พิสดารยิ่งกว่าที่เรารู้จักกันอยู่ในบัดนี้ได้อิก เพราะฉนั้นขอเชิญท่านทั้งหลายผู้เอาใจใส่ในความรู้เรื่องโบราณคดี จงอ่านเรื่องราวซึ่งปรากฎอยู่ในสมุดเล่มนี้ โดยเอาใจใส่พิจารณาให้รู้เหตุการณ์ในพงศาวดารที่จริงให้ยิ่งขึ้นไปเทอญ.


ด.ร.

เชิงอรรถ

[แก้ไข]
  1. ในหนังสือพระราชพงศาวดารเรียกชื่อควบกันว่า เชียงไกร เชียงกราน เพราะภาษามอญเรียกว่า เดิงไกรน์ เดี๋ยวนี้อังกฤษเรียกว่า เมืองอัตตะรัน ไปทางด่านพระเจดีย์ ๓ องค์