ข้ามไปเนื้อหา

อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก/ส่วนที่ 1

จาก วิกิซอร์ซ
ข้อที่ 1

เพื่อความมุ่งประสงค์แห่งอนุสัญญานี้ เด็กหมายถึง มนุษย์ทุกคนที่มีอายุต่ำกว่าสิบแปดปี เว้นแต่จะบรรลุนิติภาวะก่อนหน้านั้นตามกฎหมายที่ใช้บังคับแก่เด็กนั้น

ข้อที่ 2
  1. รัฐภาคีจะเคารพและประกันสิทธิตามที่กำหนดไว้ในอนุสัญญานี้ แก่เด็กแต่ละคนที่อยู่ในเขตอำนาจของตน โดยปราศจากการเลือกปฏิบัติไม่ว่าชนิดใดๆ โดยไม่คำนึงถึง เชื้อชาติ สีผิว ภาษา ศาสนา ความคิดเห็นทางการเมืองหรือทางอื่น ต้นกำเนิดทางชาติ ชาติพันธุ์ หรือสังคม ทรัพย์สิน ความทุพพลภาพ การเกิดหรือสถานะอื่นๆของเด็ก หรือบิดามารดา หรือผู้ปกครองตามกฎหมาย
  2. รัฐภาคีจะดำเนินมาตรการที่เหมาะสมทั้งปวง เพื่อที่จะประกันว่าเด็กได้รับการคุ้มครองการเลือกปฏิบัติ หรือการลงโทษในทุกรูปแบบ บนพื้นฐานของสถานภาพ กิจกรรมความคิดเห็นที่แสดงออก หรือความเชื่อของบิดามารดา ผู้ปกครองตามกฎหมาย หรือสมาชิกในครอบครัวของเด็ก
ข้อที่ 3
  1. ในการกระทำทั้งปวงที่เกี่ยวกับเด็ก ไม่ว่าจะกระทำโดยสถาบันสังคมสงเคราะห์ของรัฐหรือเอกชน ศาลยุติธรรม หน่วยงานฝ่ายบริหาร หรือองค์กรนิติบัญญัติ ผลประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงเป็นลำดับแรก
  2. รัฐภาคีรับที่จะประกันให้มีการคุ้มครอง และการดูแลแก่เด็กเท่าที่จำเป็นสำหรับความอยู่ดีของเด็ก โดยคำนึงถึงสิทธิและหน้าที่ของบิดามารดา ผู้ปกครองตามกฎหมาย หรือบุคคลอื่นที่รับผิดชอบเด็กนั้นตามกฎหมายด้วย และเพื่อการนี้ จะดำเนินมาตรการทางนิติบัญญัติ และบริหารที่เหมาะสมทั้งปวง
  3. รัฐภาคีจะประกันว่า สถาบัน การบริการ และการอำนวยความสะดวกที่มีส่วนรับผิดชอบต่อการดูแลหรือการคุ้มครองเด็กนั้น จะเป็นไปตามมาตรฐานที่ได้กำหนดไว้โดยหน่วยงานที่มีอำนาจ โดยเฉพาะด้านความปลอดภัย สุขภาพ และในเรื่องจำนวนและความเหมาะสมของเจ้าหน้าที่ ตลอดจนการกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพ
ข้อที่ 4

รัฐภาคีจะดำเนินมาตรการที่เหมาะสมทั้งปวง ทั้งด้านนิติบัญญัติ บริหารและด้านอื่นๆ เพื่อการปฏิบัติให้เป็นไปตามสิทธิที่อนุสัญญานี้ได้ให้การยอมรับ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมนั้น รัฐภาคีจะดำเนินมาตรการเช่นว่านั้น โดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างเต็มที่ และภายในกรอบของความร่วมมือระหว่างประเทศ เมื่อจำเป็น

ข้อที่ 5

รัฐภาคีจะเคารพต่อความรับผิดชอบ สิทธิ และหน้าที่ของบิดามารดา หรือของสมาชิกของครอบครัวขยาย หรือชุมชน ซึ่งกำหนดไว้โดยขนบธรรมเนียมในท้องถิ่น หรือของผู้ปกครองตามกฎหมาย หรือบุคคลอื่นที่รับผิดชอบต่อเด็กตามกฎหมาย ในอันที่จะแนะแนวตามที่เหมาะสมในการใช้สิทธิของเด็กตามที่อนุสัญญานี้ให้การรับรอง ในลักษณะที่สอดคล้องกับความสามารถที่พัฒนาตามวัยของเด็ก

ข้อที่ 6
  1. รัฐภาคียอมรับว่า เด็กทุกคนมีสิทธิติดตัวที่จะมีชีวิต
  2. รัฐภาคีจะประกันอย่างเต็มที่เท่าที่จะทำได้ ให้มีการอยู่รอด และการพัฒนาของเด็ก
ข้อที่ 7
  1. เด็กจะได้รับการจดทะเบียนทันทีหลังการเกิด และจะมีสิทธิที่จะมีชื่อนับตั้งแต่เกิด และสิทธิที่จะได้รับสัญชาติ และเท่าที่จะเป็นไปได้ สิทธิที่จะรู้จัก และได้รับการดูแลเลี้ยงดูจากบิดามารดาของตน
  2. รัฐภาคีจะประกันให้มีการปฏิบัติตามสิทธิเหล่านี้ตามกฏหมายภายในและพันธกรณีของรัฐภาคี ที่มีอยู่ภายใต้ตราสารระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่เด็กจะตกอยู่ในสถานะไร้สัญชาติ
ข้อที่ 8
  1. รัฐภาคีรับที่จะเคารพต่อสิทธิของเด็ก ในการรักษาเอกลักษณ์ของตนไว้รวมถึงสัญชาติ ชื่อ และความสัมพันธ์ทางครอบครัวของตนตามที่กฎหมายรับรอง โดยปราศจากการแทรกแซงที่มิชอบด้วยกฎหมาย
  2. ในกรณีที่มีการตัดเอกลักษณ์บางอย่าง หรือทั้งหมดของเด็กออกไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย รัฐภาคีจะให้ความช่วยเหลือและความคุ้มครองตามสมควร เพื่อให้เอกลักษณ์ของเด็กกลับคืนมาโดยเร็ว
ข้อที่ 9
  1. รัฐภาคีจะประกันว่า เด็กจะไม่ถูกแยกจากบิดามารดาโดยขัดกับความประสงค์ของบิดามารดา เว้นแต่ในกรณีที่หน่วยงานที่มีอำนาจ ซึ่งอาจถูกทบทวนโดยทางศาลจะกำหนดตามกฎหมายและวิธีพิจารณาที่ใช้บังคับอยู่ว่า การแยกเช่นที่ว่านี้จำเป็นเพื่อผลประโยชน์สูงสุดของเด็ก การกำหนดเช่นที่ว่านี้อาจจำเป็นในกรณีเฉพาะ เช่น ในกรณีที่เด็กถูกกระทำโดยมิชอบ หรือถูกทอดทิ้งละเลยโดยบิดามารดา หรือในกรณีที่บิดามารดาอยู่แยกกันและต้องมีการตัดสินว่าเด็กจะพำนักที่ใด
  2. ในการดำเนินการใดๆ ตามวรรค 1 ของข้อนี้ จะให้โอกาสทุกฝ่ายที่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมในการดำเนินการดังกล่าว และแสดงความคิดเห็นของตนให้ประจักษ์
  3. รัฐภาคีจะเคารพต่อสิทธิของเด็กที่ถูกแยกจากบิดาหรือมารดา หรือจากทั้งคู่ ในอันที่จะรักษาความสัมพันธ์ส่วนตัว และการติดต่อโดยตรงทั้งกับบิดาและมารดาอย่างสม่ำเสมอ เว้นแต่เป็นการขัดต่อผลประโยชน์สูงสุดของเด็ก
  4. ในกรณีที่การแยกเช่นที่ว่านี้เป็นผลมาจากการกระทำใดๆ โดยรัฐภาคีต่อบิดาหรือมารดา หรือทั้งบิดามารดา หรือต่อเด็ก เช่น การกักขัง การจำคุก การเนรเทศ การส่งตัวออกนอกประเทศ หรือการเสียชีวิต (รวมทั้งการเสียชีวิตอันเกิดจากสาเหตุใดๆที่เกิดขึ้นขณะที่ผู้นั้นอยู่ในการควบคุมของรัฐ) หากมีการขอร้อง รัฐภาคีนั้นจะต้องให้ข้อมูลข่าวสารที่จำเป็นเกี่ยวกับที่อยู่ของสมาชิกของครอบครัวที่หายไปแก่บิดามารดา เด็ก หรือในกรณีที่เหมาะสม แก่สมาชิกของครอบครัว เว้นแต่เนื้อหาของข้อมูลข่าวสารนั้นจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อความอยู่ดีของเด็ก อนึ่ง รัฐภาคีจะให้การประกันต่อไปว่า การยื่นคำร้องขอเช่นว่านั้นจะไม่ก่อให้เกิดผลร้ายต่อบุคคลที่เกี่ยวข้อง
ข้อที่ 10
  1. ตามพันธกรณีของรัฐภาคี ภายใต้ข้อ 9 วรรค 1 คำร้องของเด็ก หรือบิดามารดาของเด็กที่จะเดินทางเข้าหรือออกนอกรัฐภาคี เพื่อวัตถุประสงค์ของการกลับไปอยู่ร่วมกันใหม่เป็นครอบครัว จะได้การดำเนินการโดยรัฐภาคีในลักษณะที่เป็นคุณ มีมนุษยธรรมและรวดเร็ว รัฐภาคีจะประกันอีกด้วยว่า การยื่นคำร้องดังกล่าวจะไม่ก่อให้เกิดผลเสียต่อผู้ร้อง และสมาชิกในครอบครัวของผู้ร้อง
  2. เด็กที่บิดามารดาอาศัยอยู่ต่างรัฐกันกับเด็ก จะมีสิทธิที่จะรักษาความสัมพันธ์ส่วนตัว และการติดต่อโดยตรงทั้งกับบิดามารดาได้อย่างสม่ำเสมอ เว้นแต่ในสภาพการณ์พิเศษ เพื่อการนี้และตามพันธกรณีของรัฐภาคีภายใต้ข้อ 9 วรรค 1 รัฐภาคีจะเคารพต่อสิทธิของเด็ก และบิดามารดาของเด็ก ในอันที่จะเดินทางออกนอกประเทศใดๆรวมทั้งประเทศของตน และสิทธิที่จะเดินทางออกนอกประเทศใดๆจะอยู่ภายใต้ข้อจำกัดดังที่กำหนดไว้โดยกฎหมายเท่านั้น และซึ่งจำเป็นสำหรับการรักษาความมั่นคงแห่งชาติ ความสงบเรียบร้อย สาธารณสุข หรือศีลธรรมของประชาชน หรือสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่น และสอดคล้องกับสิทธิอื่นๆที่ได้รับการยอมรับในอนุสัญญานี้
ข้อที่ 11
  1. รัฐภาคีจะดำเนินมาตรการต่างๆ ที่จะหยุดยั้งการโยกย้ายเด็ก และการไม่ส่งเด็กกลับคืนจากต่างประเทศที่มิชอบด้วยกฎหมาย
  2. เพื่อการนี้ รัฐภาคีจะส่งเสริมให้มีการจัดทำความตกลงทวิภาคี หรือพหุภาคี หรือการภาคยานุวัติความตกลงที่มีอยู่
ข้อที่ 12
  1. รัฐภาคีจะประกันแก่เด็กที่สามารถ มีความคิดเห็นเป็นของตนได้แล้ว ซึ่งสิทธิที่จะแสดงความคิดเห็นเหล่านั้นโดยเสรีในทุกๆเรื่องที่มีผลกระทบต่อเด็ก ทั้งนี้ความคิดเห็นดังกล่าวของเด็กจะได้รับการพิจารณาตามสมควรแก่อายุ และวุฒิภาวะของเด็กนั้น
  2. เพื่อความมุ่งประสงค์นี้ เด็กจะได้รับโดยเฉพาะอย่างยิ่งโอกาสที่จะมีสิทธิมีเสียงในกระบวนพิจารณาทางตุลาการ และทางปกครองใดๆที่มีผลกระทบต่อเด็กไม่ว่าโดยตรง หรือผ่านผู้แทน หรือองค์กรที่เหมาะสม ในลักษณะที่สอดคล้องกับระเบียบวิธีปฏิบัติตามกฎหมายภายใน
ข้อที่ 13
  1. เด็กจะมีสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออก สิทธินี้จะรวมถึงเสรีภาพที่จะแสวงหา ได้รับ หรือถ่ายทอดข้อมูลข่าวสาร และความคิดทุกลักษณะ โดยไม่ถูกจำกัดโดยเขตแดน ไม่ว่าจะโดยวาจา ลายลักษณ์อักษร หรือการตีพิมพ์ ในรูปศิลปะหรือผ่านสื่ออื่นใดตามที่เด็กเลือก
  2. การใช้สิทธิดังกล่าวนี้อาจอยู่ภายใต้ข้อจำกัดบางประการ แต่ข้อจำกัดเหล่านี้ต้องเป็นข้อจำกัดเช่นที่บัญญัติตามกฎหมาย และเช่นที่จำเป็นเท่านั้น

• ก) เพื่อการเคารพต่อสิทธิ และชื่อเสียงของบุคคลอื่น หรือ • ข) เพื่อการรักษาความมั่นคงแห่งชาติ หรือความเรียบร้อย หรือสาธารณสุข หรือศีลธรรมของประชาชน

ข้อที่ 14
  1. รัฐภาคีจะเคารพต่อสิทธิของเด็กที่จะมีเสรีภาพทางความคิด มโนธรรม และศาสนา
  2. รัฐภาคีจะเคารพต่อสิทธิและหน้าที่ของบิดามารดา และผู้ปกครองตามกฎหมาย ในกรณีที่เหมาะสมในอันที่จะให้แนวทางแก่เด็กในการใช้สิทธิของตน ในลักษณะที่สอดคล้องกับความสามารถที่พัฒนาตามวัยของเด็ก
  3. เสรีภาพในการแสดงออกทางศาสนา หรือความเชื่อของตน อาจอยู่เพียงภายใต้ข้อจำกัดเช่นที่กำหนดโดย กฎหมายเท่านั้น และเช่นที่จำเป็นที่จะรักษาความปลอดภัย ความสงบเรียบร้อย สาธารณสุข หรือศีลธรรมของประชาชน หรือสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของบุคคลอื่น
ข้อที่ 15
  1. รัฐภาคียอมรับสิทธิของเด็กที่จะมีเสรีภาพในการสมาคม และเสรีภาพในการชุมนุมอย่างสงบ
  2. ไม่อาจมีการจำกัดการใช้สิทธิเหล่านี้ นอกเหนือจากข้อจำกัดที่กำหนดขึ้นโดยสอดคล้องกับกฎหมาย และที่จำเป็นสำหรับสังคมประชาธิปไตย เพื่อประโยชน์ของความมั่นคงแห่งชาติ หรือความปลอดภัยของประชาชน ความสงบเรียบร้อย การคุ้มครองด้านสาธารณสุข หรือศีลธรรม หรือการคุ้มครองสิทธิ และเสรีภาพของบุคคลอื่น
ข้อที่ 16
  1. เด็กจะไม่ถูกแทรกแซงโดยพลการ หรือโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายในความเป็นส่วนตัว ครอบครัว บ้าน หรือหนังสือโต้ตอบ รวมทั้งจะไม่ถูกกระทำโดยมิชอบต่อเกียรติ และชื่อเสียง
  2. เด็กมีสิทธิได้รับการคุ้มครองทางกฎหมายจากการแทรกแซง หรือการกระทำดังกล่าว
ข้อที่ 17

รัฐภาคียอมรับในหน้าที่อันสำคัญของสื่อมวลชน และจะประกันว่าเด็กสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและวัสดุจากแหล่งต่างๆกัน ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลข่าวสารและวัสดุที่มุ่งส่งเสริมความผาสุก ทั้งทางสังคม จิตใจ และศีลธรรม ตลอดจนสุขภาพกายและจิตของเด็ก เพื่อการนี้รัฐภาคีจะ • ก) ส่งเสริมให้สื่อมวลชนเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารและวัสดุ ที่จะมีประโยชน์ทั้งทางสังคมและวัฒนธรรมแก่เด็ก และโดยสอดคล้องกับเจตนารมณ์ข้อ 29 • ข) ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศในการผลิต แลกเปลี่ยน และเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารและวัสดุดังกล่าว จากแหล่งข้อมูลทางวัฒนธรรมทั้งในประเทศ และระหว่างประเทศ • ค) ส่งเสริมการผลิต และเผยแพร่หนังสือสำหรับเด็ก • ง) ส่งเสริมให้สื่อมวลชนให้ความสนใจเป็นพิเศษกับความจำเป็นทางด้านภาษาของเด็กที่เป็นสมาชิกของชนกลุ่มน้อย หรือชนพื้นเมือง • จ) ส่งเสริมการพัฒนาแนวทางที่เหมาะสมสำหรับการป้องกันเด็ก จากข้อมูล ข่าวสารและวัสดุที่เป็นอันตรายต่อความอยู่ดีกินดีของเด็ก ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงบทบัญญัติในข้อ 13 และ 18

ข้อที่ 18
  1. รัฐภาคีจะใช้ความพยายามที่สุด เพื่อประกันให้มีการยอมรับหลักการที่ว่า ทั้งบิดาและมารดามีความรับผิดชอบร่วมกันในการเลี้ยงดูและพัฒนาเด็ก บิดามารดา หรือผู้ปกครองตามกฎหมายแล้วแต่กรณี เป็นผู้รับผิดชอบเบื้องต้นในการเลี้ยงดูและพัฒนาเด็ก โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นพื้นฐาน
  2. เพื่อความมุ่งประสงค์ในการให้หลักประกัน และส่งเสริมสิทธิที่กำหนดไว้ในอนุสัญญานี้ รัฐภาคีจะให้ความช่วยเหลือที่เหมาะสมแก่บิดามารดา และผู้ปกครองตามกฎหมายในอันที่จะปฏิบัติความรับผิดชอบของตนในการอบรมเลี้ยงดูเด็ก และจะประกันให้มีการพัฒนาสถาบันการอำนวยความสะดวก และการบริการต่างๆสำหรับการดูแลเด็ก
  3. รัฐภาคีจะดำเนินมาตรการที่เหมาะสมทั้งปวงที่จะประกันว่า บุตรของบิดามารดาที่ต้องทำงานมีสิทธิได้รับประโยชน์จากการบริการ และสิ่งอำนวยความสะดวกเกี่ยวกับการดูแลเด็กที่พวกเขามีสิทธิจะได้
ข้อที่ 19
  1. รัฐภาคีจะดำเนินมาตรการที่เหมาะสมทั้งปวง ด้านนิติบัญญัติ บริหาร สังคมและการศึกษา ในอันที่จะคุ้มครองเด็กจากรูปแบบทั้งปวงของความรุนแรง ทั้งทางร่างกายและจิต การทำร้ายหรือการกระทำอันมิชอบ การทอดทิ้งหรือการปฏิบัติโดยประมาท การปฏิบัติที่ผิดหรือการแสวงประโยชน์ รวมถึงการกระทำอันมิชอบทางเพศขณะอยู่ในการดูแลของบิดามารดา ผู้ปกครองตามกฎหมาย หรือบุคคลอื่นใดซึ่งเด็กนั้นอยู่ในความดูแล
  2. ตามแต่จะเหมาะสม มาตรการคุ้มครองเช่นว่านี้ ควรรวมถึง กระบวนการที่มีประสิทธิผลสำหรับการจัดตั้งแผนงานทางสังคม ในอันที่จะให้การสนับสนุนที่จำเป็นแก่เด็กและบุคคลซึ่งเด็กนั้นอยู่ในความดูแล ตลอดจนกระบวนการที่มีประสิทธิผลสำหรับป้องกันในรูปแบบอื่น และให้มีการระบุ การรายงานการส่งเรื่องเพื่อพิจารณา การสืบสวน การปฏิบัติ และการติดตามเรื่องของกรณีการปฏิบัติที่ผิดต่อเด็ก ตามที่ระบุมาแล้วข้างต้น และในกรณีที่เหมาะสมให้ทางตุลาการเข้ามามีส่วนร่วมด้วย
ข้อที่ 20
  1. เด็กที่ถูกพรากจากสภาพครอบครัว ไม่ว่าจะโดยถาวรหรือชั่วคราว หรือที่ไม่อาจปล่อยให้อยู่ในสภาพที่ว่านั้น เพื่อประโยชน์สูงสุดของเด็กเอง จะได้รับการคุ้มครอง และความช่วยเหลือพิเศษที่จัดให้โดยรัฐ
  2. รัฐภาคีจะประกันให้มีการดูแลแก่เด็กเช่นว่านั้นตามกฎหมายภายใน
  3. นอกเหนือจากประการอื่นแล้ว การดูแลดังกล่าวอาจรวมถึง การจัดหาผู้อุปถัมภ์ กาฟาลาห์ ของกฎหมายอิสลาม การรับบุตรบุญธรรม หรือถ้าจำเป็นการจัดให้อยู่ในความดูแลของสถาบันที่เหมาะสมสำหรับการดูแลเด็ก ในการพิจารณาถึงหนทางแก้ไขให้คำนึงถึงการควรให้มีความต่อเนื่องในการเลี้ยงดูเด็ก และภูมิหลังทางชาติพันธุ์ ศาสนา และวัฒนธรรม และภาษาของเด็ก
ข้อที่ 21

รัฐภาคีซึ่งยอมรับและ/หรือยอมให้มีระบบการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมจะประกันว่าประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นข้อพิจารณาที่สำคัญที่สุด และจะ • ก) ประกันว่า การรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมต้องได้รับการอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ ผู้มีอำนาจเท่านั้น ซึ่งเป็นผู้กำหนดตามกฎหมายและวิธีพิจารณาที่ใช้บังคับอยู่ และอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลข่าวสารทั้งปวงที่เกี่ยวข้องและเชื่อถือได้ว่า การรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมนั้นกระทำได้เมื่อคำนึงถึงสถานภาพของเด็กเป็นบุตรบุญธรรมนั้นกระทำได้เมื่อคำนึงถึงสภาพของเด็กในส่วนที่เกี่ยวข้องกับบิดามารดา ญาติพี่น้อง และผู้ปกครองตามกฎหมาย และในกรณีที่จำเป็น บุคคลที่เกี่ยวข้องได้ให้ความยินยอมอย่างผู้เข้าใจเรื่องต่อการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม โดยได้รับคำปรึกษาตามที่จำเป็น • ข) ยอมรับว่าการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมข้ามประเทศอาจถือได้ว่าเป็นทางเลือกหนึ่งของการดูแลเด็ก หากไม่สามารถจัดหาผู้อุปถัมภ์ หรือครอบครัวที่รับเป็นบุตรบุญธรรมให้เด็กได้ หรือไม่สามารถให้เด็กได้รับการดูแลด้วยวิธีการอันเหมาะสมในประเทศถิ่นกำเนิดของเด็กนั้น • ค) ประกันว่าเด็กที่อยู่ในข่ายของการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมข้ามประเทศ จะได้รับมาตรการคุ้มครองและมาตรฐานเช่นเดียวกับที่ใช้อยู่ในกรณีการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมภายในประเทศ • ง) ดำเนินมาตรการที่เหมาะสมทั้งปวงเพื่อประกันว่า ในการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมข้ามประเทศนั้น การจัดหาผู้อุปการะแก่เด็ก จะไม่ส่งผลให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้รับประโยชน์ทางการเงินที่ไม่สมควรจากการนั้น • จ) ส่งเสริมเมื่อเป็นการเหมาะสมซึ่งความมุ่งหมายของข้อนี้ โดยการจัดทำข้อตกลง หรือข้อตกลงทวิภาคี หรือพหุภาคี และภายในกรอบนี้พยายามที่จะประกันว่า การจัดหาผู้อุปถัมภ์แก่เด็กในอีกประเทศหนึ่งนั้นได้กระทำโดยหน่วยงานหรือองค์กรที่มีอำนาจ

ข้อที่ 22
  1. รัฐภาคีจะดำเนินมาตรการที่เหมาะสมที่จะประกันว่า เด็กที่ร้องขอสถานะเป็นผู้ลี้ภัย หรือที่ได้รับการพิจารณาเป็นผู้ลี้ภัย หรือที่ได้รับการพิจารณาเป็นผู้ลี้ภัยตามกฎหมายหรือกระบวนการภายในหรือระหว่างประเทศที่ใช้บังคับ ไม่ว่าจะมีบิดามารดาของเด็กหรือบุคคลอื่นติดตามมาด้วยหรือไม่ก็ตาม จะได้รับการคุ้มครองและความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมที่เหมาะสมในการได้รับสิทธิที่มีอยู่ตามที่ระบุไว้ในอนุสัญญานี้ และในตราสารระหว่างประเทศอื่นๆอันเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนหรือมนุษยธรรม ซึ่งรัฐดังกล่าวเป็นภาคี
  2. เพื่อวัตถุประสงค์นี้ รัฐภาคีจะให้ความร่วมมือตามที่พิจารณาว่าเหมาะสมแก่ความพยายามใดๆ ของทั้งองค์การสหประชาชาติ และองค์การระดับรัฐบาล หรือองค์การที่มิใช่ระดับรัฐบาลอื่นที่มีอำนาจ ซึ่งร่วมมือกับองค์การสหประชาชาติในการคุ้มครองและช่วยเหลือเด็กเช่นว่า และในการติดตามหาบิดามารดาหรือสมาชิกอื่นของครอบครัวของเด็กผู้ลี้ภัย เพื่อให้ได้รับข้อมูลข่าวสารที่จำเป็นสำหรับการกลับไปอยู่ร่วมกันใหม่เป็นครอบครัวของเด็ก ในกรณีที่ไม่สามารถค้นพบบิดามารดาหรือสมาชิกอื่นๆของครอบครัว เด็กนั้นจะได้รับการคุ้มครองเช่นเดียวกับเด็กที่ถูกพรากจากสภาพครอบครัว ทั้งที่เป็นการถาวรหรือชั่วคราวไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด ดังเช่นที่ระบุไว้ในอนุสัญญานี้
ข้อที่ 23
  1. รัฐภาคียอมรับว่าเด็กที่พิการทางร่างกายหรือจิต ควรมีชีวิตที่สมบูรณ์และปกติสุข ในสภาวะที่ประกันในศักดิ์ศรี ส่งเสริมการพึ่งพาตนเอง และเอื้ออำนวยให้เด็กมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในชุมชน
  2. รัฐภาคียอมรับในสิทธิของเด็กพิการที่ได้รับการดูแลเป็นพิเศษ และจะสนับสนุนและประกันที่จะขยาย เท่าที่กำลังทรัพยากรจะอำนวย ความช่วยเหลือซึ่งมีการร้องขอ และซึ่งเหมาะสมกับสภาพของเด็ก และสภาพการณ์ของบิดามารดา หรือบุคคลอื่นที่ดูแลเด็ก ไปยังเด็กที่อยู่ในเกณฑ์และผู้ที่รับผิดชอบในการดูแลเด็ก
  3. โดยยอมรับความจำเป็นพิเศษของเด็กพิการ ความช่วยเหลือที่ให้ตามวรรค 2 ของข้อนี้เป็นการให้เปล่าเท่าที่จะเป็นไปได้ ทั้งนี้ โดยพิจารณาถึงกำลังทรัพย์ของบิดามารดา หรือบุคคลอื่นที่ดูแลเด็ก และความช่วยเหลือเช่นว่าจะถูกกำหนดขึ้นเพื่อที่จะประกันว่า เด็กพิการจะสามารถอย่างมีประสิทธิผลที่จะเข้าถึง และได้รับการศึกษา การฝึกอบรม การบริการดูแลสุขภาพ การบริการเรื่องการฟื้นฟูสภาพ การตระเตรียมสำหรับการจ้างงาน และโอกาสทางด้านสันทนาการ ในลักษณะที่ส่งเสริมให้เด็กสามารถบรรลุผลสำเร็จอย่างเต็มที่เท่าที่เป็นไปได้ในการเข้าสังคมและการพัฒนาตนเอง ซึ่งรวมถึงการพัฒนาทางวัฒนธรรมและจิตใจด้วย
  4. ภายใต้บรรยากาศความร่วมมือระหว่างประเทศ รัฐภาคีจะส่งเสริมการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารที่เหมาะสม ในด้านการดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน และด้านการรักษาเด็กพิการทางการแพทย์ ทางจิตวิทยา และทางการฟื้นฟูสมรรถภาพ รวมทั้งการเผยแพร่ และการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับวิธีฟื้นฟูการศึกษา และการบริการด้านการฝึกอาชีพ โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะช่วยให้รัฐภาคีสามารถปรับปรุงความสามารถและทักษะ และเพิ่มพูนประสบการณ์ในด้านนี้ ในเรื่องนี้ความต้องการของประเทศกำลังพัฒนาควรได้รับการคำนึงถึงเป็นพิเศษ
ข้อที่ 24
  1. รัฐภาคียอมรับในสิทธิของเด็กที่จะได้รับมาตรฐานสาธารณสุขที่สูงที่สุดเท่าที่จะหาได้ และสิ่งอำนวยความสะดวก สำหรับการบำบัดรักษาความเจ็บป่วย และการฟื้นฟูสุขภาพ รัฐภาคีจะพยายามดำเนินการที่จะประกันว่าไม่มีเด็กคนใดถูกลิดรอน สิทธิในการรับบริการดูแลสุขภาพเช่นว่านั้น
  2. รัฐภาคีจะให้มีการปฏิบัติตามซึ่งสิทธินี้อย่างเต็มที่ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งจะดำเนินมาตรการที่เหมาะสม ดังนี้

• ก) ลดการเสียชีวิตของทารก และเด็ก • ข) ประกันให้มีการให้ความช่วยเหลือทางการแพทย์ที่จำเป็น และการดูแลสุขภาพแก่เด็กทุกคน โดยเน้นการพัฒนาการดูแลสุขภาพขั้นปฐม • ค) ต่อสู้กับโรคภัย และทุพโภชนาการ รวมทั้งที่อยู่ภายในขอบข่ายของการดูแลสุขภาพขั้นปฐม ซึ่งนอกเหนือจากวิธีการอื่นแล้วยังดำเนินการโดยการใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่พร้อมแล้ว และโดยการจัดหาอาหารที่ถูกหลักโภชนาการ และน้ำดื่มที่สะอาดอย่างเพียงพอ ทั้งนี้ โดยการพิจารณาถึงอันตราย และความเสี่ยงของมลภาวะแวดล้อม • ง) ประกันให้มีการดูแลสุขภาพอย่างเหมาะสมแก่มารดา ทั้งก่อนและหลังคลอด • จ) ประกันว่าทุกส่วนของสังคม โดยเฉพาะบิดามารดาและเด็ก จะได้รับข้อมูลข่าวสาร และเข้าถึงการศึกษาและการสนับสนุนให้ใช้ความรู้พื้นฐานในเรื่องโภชนาการและสุขภาพเด็ก เรื่องประโยชน์ของการเลี้ยงดูด้วยนมมารดา เรื่องอนามัยและสุขาภิบาลสภาพแวดล้อม และเรื่องการป้องกันอุบัติเหตุ • ฉ) พัฒนาการดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน การแนะแนวแก่บิดามารดา และการให้บริการและการศึกษาและในเรื่องการวางแผนครอบครัว

  1. รัฐภาคีจะดำเนินมาตรการที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพทั้งปวง เพื่อที่จะขจัดทางปฏิบัติดั้งเดิมที่เป็นผลร้ายต่อสุขภาพของเด็ก
  2. รัฐภาคีรับที่จะส่งเสริมและสนับสนุนความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อที่จะให้การดำเนินการให้สิทธิที่ยอมรับในข้อนี้บังเกิดผลอย่างเต็มที่ตามลำดับ เกี่ยวกับเรื่องนี้ความจำเป็นของประเทศกำลังพัฒนาจะได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ
ข้อที่ 25

รัฐภาคียอมรับในสิทธิของเด็ก ผู้ซึ่งได้รับการจัดโดยหน่วยงานที่มีอำนาจให้ไปได้รับการดูแล การคุ้มครอง หรือการบำบัดรักษาสุขภาพ ทั้งร่างกายและจิต ในอันที่จะได้รับการทบทวนการบำบัดรักษาที่ให้แก่เด็กเป็นระยะๆ ตลอดจนสภาวะแวดล้อมอื่นๆทั้งปวงที่เกี่ยวข้องกับการจัดการดังกล่าว

ข้อที่ 26
  1. รัฐภาคียอมรับสิทธิของเด็กทุกคน ในอันที่จะได้รับประโยชน์จากการประกันสังคม รวมถึงการประกันภัยทางสังคม และจะดำเนินมาตรการที่จำเป็น เพื่อให้สิทธินี้บังเกิดผลอย่างเต็มที่ตามกฎหมายของแต่ละประเทศ
  2. ในกรณีที่เหมาะสม การให้ประโยชน์ควรคำนึงถึงทรัพยากร และสภาวะแวดล้อมของเด็ก และบุคคลที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการเลี้ยงดูเด็ก ตลอดจนข้อพิจารณาอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับการร้องขอรับประโยชน์ซึ่งกระทำโดยเด็กผู้นั้นหรือตัวแทน
ข้อที่ 27
  1. รัฐภาคียอมรับสิทธิของเด็กทุกคน ในอันที่จะได้รับมาตรฐานของการดำรงชีวิตที่เพียงพอสำหรับการพัฒนาด้านร่างกาย สมอง จิตใจ ศีลธรรม และสังคมของเด็ก
  2. บิดามารดาหรือผู้อื่นที่รับผิดชอบต่อเด็ก มีความรับผิดชอบเบื้องต้นที่จะจัดหาสภาพความเป็นอยู่ที่จำเป็นสำหรับการพัฒนาของเด็ก ทั้งนี้ ตามความสามารถและกำลังการเงินของบุคคลเหล่านั้น
  3. ตามสภาวะและกำลังความสามารถของประเทศ รัฐภาคีจะดำเนินมาตรการที่เหมาะสมที่จะให้ความช่วยเหลือบิดามารดา และผู้อื่นที่รับผิดชอบต่อเด็ก ในการดำเนินตามสิทธินี้ และในกรณีที่จำเป็นรัฐภาคีจะให้ความช่วยเหลือด้านวัตถุและแผนงานสนับสนุน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ด้านโภชนาการ เครื่องนุ่งห่ม และที่อยู่อาศัย
  4. รัฐภาคีจะดำเนินมาตรการที่เหมาะสมทั้งปวง ที่จะได้รับชดใช้ค่าเลี้ยงดูเด็กคืนจากบิดามารดาหรือผู้อื่นที่มีความรับผิดชอบทางการเงินต่อเด็ก ทั้งที่อยู่ในรัฐภาคีเองและรัฐอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกรณีที่บุคคลที่มีความรับผิดชอบทางการเงินต่อเด็กอาศัยอยู่ในรัฐอื่น นอกเหนือจากรัฐที่เด็กอาศัยอยู่ รัฐภาคีจะส่งเสริมการเข้าเป็นภาคีในความตกลงระหว่างประเทศ หรือการจัดทำความตกลงเช่นว่านั้น ตลอดจนการจัดทำข้อตกลงอื่นๆที่เหมาะสม
ข้อที่ 28
  1. รัฐภาคียอมรับสิทธิของเด็กที่จะได้รับการศึกษา และเพื่อที่จะให้สิทธินี้บังเกิดผลตามลำดับ และบนพื้นฐานของโอกาสที่เท่าเทียมกัน รัฐภาคีจะ

• ก) จัดการศึกษาระดับประถมเป็นภาคบังคับที่เด็กทุกคนสามารถเรียนได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย • ข) สนับสนุนการพัฒนาของการศึกษาระดับมัธยมในรูปแบบต่างๆ รวมถึงการศึกษาสายสามัญและสายอาชีพ จัดการศึกษาให้แพร่หลายและเปิดกว้างแก่เด็กทุกคน และดำเนินมาตรการที่เหมาะสม เช่นการนำมาใช้ซึ่งการศึกษาแบบให้เปล่า และการเสนอให้ความช่วยเหลือทางการเงินในกรณีที่จำเป็น • ค) ทำให้การศึกษาในระดับสูงเปิดกว้างแก่ทุกคนบนพื้นฐานของความสามารถ โดยทุกวิธีการที่เหมาะสม • ง) ทำให้ข้อมูลข่าวสาร และการแนะแนวทางการศึกษาและอาชีพ เป็นที่แพร่หลาย และเปิดกว้างแก่เด็กทุกคน • จ) ดำเนินมาตรการเพื่อสนับสนุนการเข้าเรียนอย่างสม่ำเสมอ และลดอัตราการออกจากโรงเรียนกลางคัน

  1. รัฐภาคีจะดำเนินมาตรการที่เหมาะสมที่จะประกันว่า ระเบียบวินัยของโรงเรียนได้กำหนดขึ้น ในลักษณะที่สอดคล้องกับศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ของเด็กและสอดคล้องกับอนุสัญญานี้
  2. รัฐภาคีจะส่งเสริมและสนับสนุนความร่วมมือระหว่างประเทศ ในส่วนที่เกี่ยวกับการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อที่จะเกื้อกูลต่อการขจัดความเขลาและการไม่รู้หนังสือทั่วโลก และเอื้ออำนวยให้ได้รับความรู้ทางวิชาการและทางเทคนิค และวิธีการสอนสมัยใหม่เกี่ยวกับเรื่องนี้ ความต้องการของประเทศกำลังพัฒนาจะได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ
ข้อที่ 29
  1. รัฐภาคีตกลงว่า การศึกษาของเด็กจะมุ่งไปสู่

• ก) การพัฒนาบุคลิกภาพ ความสามารถพิเศษ และความสามารถทางด้านร่างกายและจิตใจของเด็ก ให้เต็มศักยภาพของเด็กแต่ละคน • ข) การพัฒนาความเคารพต่อสิทธิมนุษยชน และเสรีภาพขั้นพื้นฐาน และต่อหลักการที่วางไว้ในกฎบัตรสหประชาชาติ • ค) การพัฒนาความเคารพต่อบิดามารดาของเด็ก เอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม ภาษา และค่านิยมของเด็กนั้นเอง และต่อค่านิยมของชาติที่เด็กนั้นอาศัยอยู่ และต่อค่านิยมของชาติถิ่นกำเนิดของเขา และต่ออารยธรรมอื่นๆ ที่แตกต่างไปจากของเขาเอง • ง) การเตรียมเด็กให้มีชีวิตที่มีความรับผิดชอบในสังคมที่เสรีด้วยจิตสำนึกแห่งความเข้าใจกัน สันติภาพ ความอดกลั้น ความเสมอภาพทางเพศ และมิตรภาพในหมู่มวลมนุษย์ทุกกลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มคนชาติ กลุ่มศาสนา ตลอดจนในหมู่คนพื้นเมืองดั้งเดิม • จ) การพัฒนาความเคารพต่อสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ

  1. ไม่มีความตอนใดในข้อนี้หรือในข้อ 28 ที่จะได้รับการตีความให้เป็นการก้าวก่ายเสรีภาพของบุคคลและองค์กร ในการจัดตั้งและอำนวยการสถาบันทางการศึกษา แต่ทั้งนี้จะต้องเคารพต่อหลักการที่ระบุไว้ในวรรค 1 ของข้อนี้เสมอ และต่อเงื่อนไขที่ว่าการศึกษาที่ให้ในสถาบันเหล่านั้นต้องเป็นไปตามมาตรฐานขั้นต่ำที่รัฐได้วางไว้
ข้อที่ 30

ในรัฐที่มีชนกลุ่มน้อยทางชาติพันธุ์ ศาสนา และภาษา หรือกลุ่มชนพื้นเมืองดั้งเดิมอาศัยอยู่ เด็กที่มาจากชนกลุ่มน้อยนั้น หรือที่เป็นชนพื้นเมืองจะต้องไม่ถูกปฏิเสธซึ่งสิทธิที่จะปฏิบัติตามวัฒนธรรม ที่จะนับถือและปฏิบัติทางศาสนา หรือสิทธิที่จะใช้ภาษาของตนในชุมชนกับสมาชิกอื่นในกลุ่มเดียวกัน

ข้อที่ 31
  1. รัฐภาคียอมรับสิทธิของเด็กที่จะมีการพักและเวลาพักผ่อน การเข้าร่วมกิจกรรม การละเล่นทางสันทนาการที่เหมาะสมกับวัยของเด็ก และการมีส่วนร่วมอย่างเสรีในทางวัฒนธรรมและศิลปะ
  2. รัฐภาคีจะเคารพและส่งเสริมสิทธิของเด็ก ที่จะเข้ามีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ในทางวัฒนธรรมและศิลปะ และจะสนับสนุนการใช้โอกาสที่เหมาะสมเท่าเทียมกัน สำหรับกิจกรรมทางวัฒนธรรม ศิลปะ สันทนาการ และการพักผ่อนหย่อนใจ
ข้อที่ 32
  1. รัฐภาคียอมรับสิทธิของเด็กที่จะได้รับการคุ้มครองจากการแสวงหาประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และจากการทำงานใดที่น่าจะเป็นการเสี่ยงอันตราย หรือที่ขัดขวางการศึกษาของเด็ก หรือเป็นอันตรายต่อสุขภาพ หรือการพัฒนาทางร่างกาย สมอง จิตใจ ศีลธรรม และสังคมของเด็ก
  2. รัฐภาคีจะดำเนินมาตรการทางนิติบัญญัติ บริหาร สังคม และการศึกษา เพื่อประกันให้มีการดำเนินการตามข้อนี้ เพื่อวัตถุประสงค์ดังกล่าว และโดยคำนึงถึงบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องในตราสารระหว่างประเทศอื่นๆ รัฐภาคีจะ

• ก) กำหนดอายุขั้นต่ำสำหรับการรับเข้าทำงาน • ข) กำหนดกฎเกณฑ์ที่เหมาะสมเกี่ยวกับจำนวนชั่วโมง และสถานภาพการจ้างงาน • ค) กำหนดบทลงโทษ หรือวิธีการลงโทษอื่นๆ ที่เหมาะสมเพื่อประกันให้ข้อนี้มีผลใช้บังคับจริงจัง

ข้อที่ 33

รัฐภาคีจะดำเนินมาตรการที่เหมาะสมทั้งปวง รวมทั้งมาตรการทางนิติบัญญัติ บริหาร สังคม และทางการศึกษาที่จะคุ้มครองเด็กจากการใช้โดยผิดกฎหมายซึ่งยาเสพติด รวมทั้งสารที่มีพิษต่อจิตประสาทอื่นๆ ที่ได้นิยามไว้ในสนธิสัญญาระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง และที่จะป้องกันการใช้เด็กเพื่อการผลิต และค้าโดยผิดกฎหมายซึ่งสารเช่นว่านั้น

ข้อที่ 34

รัฐภาคีรับที่จะคุ้มครองเด็กจากการแสวงหาประโยชน์ทางเพศ และการกระทำทางเพศที่มิชอบทุกรูปแบบเพื่อการนี้ รัฐภาคีจะดำเนินมาตรการที่เหมาะสมทั้งปวง ทั้งมาตรการภายในประเทศ และมาตรการทวิภาคีและพหุภาคีเพื่อป้องกัน • ก) การชักจูง หรือบีบบังคับเด็กให้มีส่วนร่วมในกิจกรรมทางเพศใดๆที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย • ข) การแสวงประโยชน์จากเด็กในการค้าประเวณี หรือการกระทำอื่นๆที่เกี่ยวกับเพศที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย • ค) การแสวงประโยชน์จากเด็กในการแสดงลามกอนาจาร และที่เกี่ยวกับสิ่งลามกอนาจาร

ข้อที่ 35

รัฐภาคีจะดำเนินมาตรการที่เหมาะสมทั้งปวง ทั้งในระดับประเทศ ระดับทวิภาคีและพหุภาคี เพื่อป้องกันการลักพา การขาย หรือการลักลอบค้าเด็ก ไม่ว่าด้วยวัตถุประสงค์ใด หรือในรูปแบบใด

ข้อที่ 36

รัฐภาคีจะคุ้มครองเด็กจากการถูกแสวงหาประโยชน์ทุกรูปแบบอื่นทั้งหมดที่เป็นผลร้ายต่อสวัสดิภาพของเด็กไม่ว่าในด้านใด

ข้อที่ 37

รัฐภาคีประกันว่า • ก) จะไม่มีเด็กคนใดได้รับการทรมาน หรือถูกปฏิบัติ หรือลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือต่ำช้า จะไม่มีการลงโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิตที่ไม่มีโอกาสจะได้รับการปล่อยตัว สำหรับความผิดที่กระทำโดยบุคคลที่มีอายุต่ำกว่าสิบแปดปี • ข) จะไม่มีเด็กคนใดถูกลิดรอนเสรีภาพโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือโดยพลการ การจับกุมกักขังหรือจำคุกเด็กจะต้องเป็นไปตามกฎหมาย และจะใช้เป็นมาตรการสุดท้ายเท่านั้น และให้มีระยะเวลาที่สั้นที่สุดอย่างเหมาะสม • ค) เด็กทุกคนที่ถูกลิดรอนเสรีภาพจะได้รับการปฏิบัติด้วยมนุษยธรรม และด้วยความเคารพในศักดิ์ศรีแต่กำเนิดของมนุษย์ และในลักษณะที่คำนึงถึงความต้องการของบุคคลในวัยนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เด็กทุกคนที่ถูกลิดรอนเสรีภาพจะถูกแยกต่างหากจากผู้ใหญ่ เว้นแต่จะพิจารณาเห็นว่าจะเป็นประโยชน์สูงสุดต่อเด็กที่จะไม่แยกเช่นนั้น และเด็กจะมีสิทธิที่จะคงการติดต่อกับครอบครัวทางหนังสือตอบโต้ และการเยี่ยมเยียน เว้นแต่ในสภาพการณ์พิเศษ • ง) เด็กทุกคนที่ถูกลิดรอนเสรีภาพมีสิทธิที่จะขอความช่วยเหลือทางกฎหมาย หรือทางอื่นที่เหมาะสมโดยพลัน ตลอดจนสิทธิที่จะค้านความชอบด้วยกฎหมายของการลิดรอนเสรีภาพของเขาต่อศาล หรือหน่วยงานที่มีอำนาจอื่นที่เป็นอิสระและเป็นกลาง และที่จะได้รับคำวินิจฉัยโดยพลันต่อการดำเนินการเช่นว่า

ข้อที่ 38
  1. รัฐภาคีรับที่จะเคารพ และประกันให้มีความเคารพต่อกฎเกณฑ์แห่งกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศที่ใช้บังคับกับรัฐภาคี ในกรณีพิพาทกันด้วยอาวุธซึ่งเกี่ยวข้องกับเด็ก
  2. รัฐภาคีจะดำเนินมาตรการที่สามารถกระทำได้ทั้งปวงที่จะประกันว่าบุคคลที่มีอายุไม่ถึง 15 ปี จะไม่มีส่วนร่วมโดยตรงในการกระทำอันเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน
  3. รัฐภาคีจะหลีกเลี่ยงการเกณฑ์บุคคลใดๆ ที่มีอายุไม่ถึง 15 ปี เข้าประจำกองทัพ ในการเกณฑ์บุคคลที่มีอายุถึง 15 ปีแต่ไม่ถึง 18 ปีนั้น รัฐภาคีจะพยายามเกณฑ์บุคคลที่มีอายุมากที่สุดก่อน
  4. ตามพันธกรณีภายใต้กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศในอันที่จะคุ้มครองประชาชนพลเรือนในการพิพาทกันด้วยอาวุธนั้น รัฐภาคีจะดำเนินมาตรการที่สามารถกระทำได้ทั้งปวง ที่จะประกันให้ความคุ้มครอง และดูแลเด็กที่ได้รับผลกระทบจากการพิพาทกันด้วยอาวุธ
ข้อที่ 39

รัฐภาคีจะดำเนินมาตรการที่เหมาะสมทั้งปวง ที่จะส่งเสริมการฟื้นฟูทั้งทางร่างกายและจิตใจ และการกลับคืนสู่สังคมของเด็กที่ได้รับเคราะห์จากการละเลยในรูปแบบใดๆ การแสวงประโยชน์การกระทำอันมิชอบ การทรมานหรือการลงโทษ หรือการปฏิบัติที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือต่ำช้าโดยรูปแบบอื่น หรือการพิพาทกันด้วยอาวุธ การฟื้นฟูหรือการกลับคืนสู่สังคมดังกล่าว จะเกิดขึ้นในสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมสุขภาพ การเคารพตนเอง และศักดิ์ศรีของเด็ก

ข้อที่ 40
  1. รัฐภาคียอมรับสิทธิของเด็กทุกคนที่ถูกกล่าวหา ตั้งข้อหา หรือถูกถือว่าได้ฝ่าฝืนกฎหมายอาญา ที่จะได้รับการปฏิบัติต่อในลักษณะที่สอดคล้องกับการส่งเสริมความสำนึกในศักดิ์ศรีและคุณค่าของเด็ก ซึ่งจะเสริมความเคารพของเด็กต่อสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของผู้อื่น และในลักษณะที่ต้องคำนึงถึงอายุของเด็กและความปรารถนาที่จะส่งเสริมการกลับคืนสู่สังคม และการมีบทบาทเชิงสร้างสรรค์ของเด็กในสังคม
  2. เพื่อการนี้ และโดยคำนึงถึงบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับตราสารระหว่างประเทศ รัฐภาคีประกันว่า

• ก) จะไม่มีเด็กคนใดถูกกล่าวหา ตั้งข้อหา หรือถูกถือว่าได้ฝ่าฝืนกฎหมายอาญาโดยเหตุแห่งการกระทำหรืองดเว้นการกระทำ ซึ่งไม่ต้องห้ามตามกฎหมายภายในหรือกฎหมายระหว่างประเทศ ในขณะที่การกระทำหรืองดเว้นการกระทำนั้นเกิดขึ้น • ข) เด็กทุกคนถูกกล่าวหา หรือตั้งข้อหาว่าได้ฝ่าฝืนกฎหมายอาญาอย่างน้อยที่สุดจะได้รับหลักประกันดังต่อไปนี้

  1. ได้รับการสันนิษฐานว่าบริสุทธิ์ จนกว่าจะได้รับการพิสูจน์ว่ามีความผิดตามกฎหมาย
  2. ได้รับการแจ้งข้อหาทันทีและโดยตรง และในกรณีที่เหมาะสมโดยบิดามารดาหรือผู้ปกครองตามกฎหมาย และจะได้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย หรือทางอื่นที่เหมาะสม เพื่อการตระเตรียมและการสู้คดีของเด็ก
  3. ได้รับการตัดสินใจโดยไม่ชักช้า โดยหน่วยงานหรือองค์กรทางตุลาการที่มีอำนาจเป็นอิสระและเป็นกลาง ในการพิจารณาความอย่างยุติธรรมตามกฎหมาย ทั้งนี้ ให้มีความช่วยเหลือทางกฎหมายหรือทางอื่นที่เหมาะสม เว้นเสียแต่เมื่อพิจารณาเห็นว่าจะไม่เป็นประโยชน์สูงสุดกับเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อคำนึงถึงอายุของเด็ก หรือสถานการณ์ บิดามารดาหรือผู้ปกครองตามกฎหมาย
  4. จะไม่ถูกบังคับให้เบิกความหรือสารภาพผิด สามารถซักถามหรือซักค้านพยาน และให้พยานของตนเข้ามามีส่วนร่วม และให้มีการซักถามพยานแทนตนภายใต้เงื่อนไขแห่งความเท่าเทียมกัน
  5. หากพิจารณาว่าได้มีการฝ่าฝืนกฎหมายอาญา ก็ให้การวินิจฉัยหรือมาตรการใดที่กำหนดโดยผลของการวินิจฉัยนั้น ได้รับการทบทวนโดยหน่วยงานหรือองค์กรตุลาการที่มีอำนาจเป็นอิสระและเป็นกลางในระดับสูงขึ้นไป
  6. ให้มีความช่วยเหลือของล่ามโดยไม่คิดมูลค่า หากเด็กไม่สามารถเข้าใจ หรือพูดภาษาที่ใช้อยู่
  7. ในทุกขั้นตอนของกระบวนการพิจารณา ให้เคารพต่อเรื่องส่วนตัวของเด็กอย่างเต็มที่
  8. รัฐภาคีจะหาทางส่งเสริมให้มีการตรากฎหมาย กำหนดกระบวนวิธีพิจารณา จัดตั้งหน่วยงานและสถาบัน ซึ่งจะใช้เป็นการเฉพาะกับเด็กที่ถูกกล่าวหา ตั้งข้อหา หรือถูกถือว่าได้ฝ่าฝืนกฎหมายอาญา และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง

• ก) การกำหนดอายุขั้นต่ำ ซึ่งเด็กที่มีอายุต่ำกว่านั้นจะถูกถือว่าไม่มีความสามารถที่จะฝ่าฝืนกฎหมายอาญาได้ • ข) เมื่อเห็นว่าเหมาะสมและเป็นที่พึงปรารถนา ให้กำหนดมาตรการที่จะใช้กับเด็กเหล่านั้น โดยไม่ต้องอาศัยกระบวนการทางตุลาการ ทั้งนี้โดยมีเงื่อนไขว่าสิทธิมนุษยชนและการคุ้มครองตามกฎหมาย จะได้รับการเคารพอย่างเต็มที่อยู่

  • การดำเนินงานต่างๆ เช่นคำสั่งให้มีการดูแล แนะแนว และควบคุม การให้คำปรึกษา การภาคทัณฑ์ การอุปการะดูแล แผนงานการศึกษาและการฝึกอบรมวิชาชีพ และทางอื่น นอกเหนือจากการให้สถาบันเป็นผู้ดูแล จะต้องมีไว้เพื่อประกันว่าเด็กจะได้รับการปฏิบัติในลักษณะที่เหมาะสมแก่ความเป็นอยู่ที่ดีของเด็ก และได้สัดส่วนกับทั้งสภาพการณ์ และความผิดของเด็ก
ข้อที่ 41

ไม่มีส่วนใดในอนุสัญญานี้ จะมีผลกระทบต่อบทบัญญัติใดๆซึ่งชักจูงให้สิทธิของเด็กบังเกิดผลมากกว่า ซึ่งอาจปรากฏอยู่ใน • กฎหมายของรัฐภาคี หรือ • กฎหมายระหว่างประเทศที่มีผลใช้บังคับกับรัฐนั้น