ข้ามไปเนื้อหา

อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก/ส่วนที่ 2

จาก วิกิซอร์ซ
ข้อที่ 42

รัฐภาคีรับที่จะดำเนินการให้หลักการและบทบัญญัติในอนุสัญญานี้ เป็นที่รับรู้กันอย่างกว้างขวาง ทั้งแก่ผู้ใหญ่และเด็ก ด้วยวิธีการที่เหมาะสมและจริงจัง

ข้อที่ 43
  1. เพื่อวัตถุประสงค์ในการตรวจสอบความคืบหน้าของรัฐภาคี ในการทำให้พันธกรณีซึ่งจะต้องดำเนินการตามอนุสัญญานี้บังเกิดผล ให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการว่าด้วยสิทธิเด็กขึ้น ซึ่งจะทำหน้าที่ดังที่กำหนดไว้ต่อไป
  2. ให้คณะกรรมการ ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญสิบคน ที่มีสถานะทางศีลธรรมสูง และเป็นที่ยอมรับในความสามารถในด้านที่อนุสัญญานี้ครอบคลุมถึง รัฐภาคีจะเลือกตั้งสมาชิกจากคณะกรรมการจากคนชาติของตน และสมาชิกของคณะกรรมการนี้จะทำหน้าที่ในฐานะส่วนตัว ทั้งนี้ ให้คำนึงถึงการกระจายทางภูมิศาสตร์อย่างเป็นธรรม และคำนึงถึงระบบกฎหมายหลัก
  • 3. ให้มีการเลือกตั้งของสมาชิกของคณะกรรมการ โดยการลงคะแนนลับจากรายชื่อบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อโดยรัฐภาคี รัฐภาคีแต่ละรัฐอาจเสนอนามบุคคลจากคนชาติของตนได้หนึ่งคน
  • 4. การเลือกตั้งคณะกรรมการครั้งแรก จะมีขึ้นไม่ช้ากว่าหกเดือนหลังจากวันที่อนุสัญญานี้มีผลบังคับใช้ และหลังจากนั้นให้มีการเลือกตั้งอีกทุกสองปี อนึ่งอย่างน้อยสี่เดือนก่อนวันเลือกตั้งแต่ละครั้ง เลขาธิการสหประชาชาติจะทำหนังสือเชิญรัฐภาคีให้เสนอนามผู้สมัครภายในสองเดือน หลังจากนั้นเลขาธิการฯ จะจัดทำรายชื่อตามลำดับอักษรของผู้ที่ได้รับการเสนอนาม โดยระบุถึงรัฐภาคีที่เป็นผู้เสนอนาม และส่งรายชื่อไปยังรัฐภาคีอนุสัญญานี้
  • 5. การเลือกตั้งจะกระทำขึ้นในการประชุมของรัฐภาคี ซึ่งจัดโดยเลขาธิการฯ ณ สำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติ ในการประชุมดังกล่าว ซึ่งสองในสามของรัฐภาคี ประกอบขึ้นเป็นองค์ประชุมนั้น บุคคลที่ได้รับเลือกตั้งให้เป็นสมาชิกของคณะกรรมการ คือ ผู้ที่ได้รับคะแนนเสียงมากที่สุด และได้รับเสียงข้างมากเด็ดขาดจากผู้แทนรัฐภาคีที่เข้าร่วมและออกเสียง
  • 6. สมาชิกของคณะกรรมการจะได้รับเลือกตั้งให้อยู่ในวาระคราวละสี่ปี และจะมีสิทธิได้รับเลือกตั้งซ้ำหากได้รับการเสนอนามอีก สมาชิกห้าคนของสมาชิกทั้งหมดที่ได้รับการเลือกตั้งในครั้งแรกจะหมดวาระเมื่ออยู่ในต่ำแหน่งครบสองปี ประธานของที่ประชุมจะเป็นผู้เลือกนามของสมาชิกทั้งห้านั้น โดยการจับฉลากทันทีหลังจากการเลือกตั้งครั้งแรก
  • 7. หากมีสมาชิกคนใดของคณะกรรมการเสียชีวิต หรือลาออก หรือประกาศว่าไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการได้อีกต่อไปไม่ว่าด้วยเหตุผลใด รัฐภาคีที่เสนอนามสมาชิกผู้นั้นจะแต่งตั้งผู้เชี่ยวชาญอีกคนหนึ่งจากบรรดาคนชาติของตนเพื่อทำหน้าที่ตามวาระที่เหลือ ทั้งนี้อยู่กับความเห็นชอบของคณะกรรมการ
  • 8. คณะกรรมการจะกำหนด ระเบียบ ข้อบังคับการประชุมของตนเอง
  • 9. คณะกรรมการจะเลือกเจ้าหน้าที่ของตน โดยมีวาระสองปี
  • 10. การประชุมของคณะกรรมการ โดยปกติจะจัด ณ สำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติ หรือ ณ สถานที่อื่นที่สะดวกซึ่งกำหนดโดยคณะกรรมการ โดยปกติคณะกรรมการจะประชุมเป็นประจำทุกปี ระยะเวลาการประชุมของคณะกรรมการจะได้รับการกำหนดและทบทวนในกรณีที่จำเป็น โดยการประชุมของรัฐภาคีของอนุสัญญานี้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความเห็นชอบของสมัชชาใหญ่
  • 11. เลขาธิการสหประชาชาติจะจัดเจ้าหน้าที่ และสิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็น สำหรับการปฏิบัติงานที่มีประสิทธิผลของคณะกรรมการภายใต้อนุสัญญานี้
  • 12.. โดยความเห็นชอบของสมัชชาใหญ่ สมาชิกของคณะกรรมการที่จัดตั้งขึ้นภายใต้อนุสัญญานี้ จะได้รับเงินตอบแทนจากแหล่งเงินของสหประชาชาติ ตามข้อกำหนด และเงื่อนไขที่สมัชชาใหญ่เป็นผู้กำหนด
ข้อที่ 44
  1. รัฐภาคีรับที่จะเสนอรายงานต่อคณะกรรมการ โดยผ่านเลขาธิการสหประชาชาติในเรื่องมาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลรับเอา ซึ่งทำให้สิทธิได้รับการรับรองในอนุสัญญานี้บังเกิดผล และในเรื่องความคืบหน้าของการใช้สิทธิเหล่านั้น

• ก) ภายในสองปี นับจากวันที่อนุสัญญานี้มีผลใช้บังคับต่อรัฐภาคีที่เกี่ยวข้อง • ข) ทุกๆห้าปี หลังจากนั้น

  1. รายงานที่ทำขึ้นตามข้อนี้ จะระบุถึงปัจจัยและปัญหาต่างๆ ถ้ามี ที่ส่งผลกระทบต่อระดับการปฏิบัติตามพันธกรณีตามอนุสัญญานี้ ให้รายงานเหล่านั้นมีข้อมูลข่าวสารเพียงพอ สำหรับให้คณะกรรมการเข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงการดำเนินตามอนุสัญญาในประเทศที่เกี่ยวข้องด้วย

3. รัฐภาคีที่ได้เสนอรายงานฉบับแรกเริ่มที่สมบูรณ์ให้แก่คณะกรรมการแล้วไม่จำต้องให้ข้อมูลข่าวสารพื้นฐานที่ได้ให้ไว้แล้วแต่ต้นอีกในรายงานฉบับต่อๆไป ที่เสนอตามนัยแห่งวรรค 1 (ข) ของข้อนี้ 4. คณะกรรมการอาจขอข้อมูลข่าวสาร ที่เกี่ยวกับการดำเนินตามอนุสัญญานี้เพิ่มเติมจากรัฐภาคี 5. คณะกรรมการจะรายงานกิจกรรมของตนต่อสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ โดยผ่านคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมทุกๆ สองปี 6. รัฐภาคีจะทำให้รายงานดังกล่าว เป็นที่ทราบกันอย่างกว้างขวางในประเทศตน

ข้อที่ 45

เพื่อส่งเสริมการปฏิบัติตามอนุสัญญาอย่างมีประสิทธิผล และเพื่อสนับสนุนความร่วมมือระหว่างประเทศในด้านที่อนุสัญญาครอบคลุมถึง • ก) ทบวงการชำนัญพิเศษต่างๆ องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ และองค์กรอื่นๆของสหประชาชาติ มีสิทธิเข้าร่วมในการพิจารณาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามบทบัญญัติต่างๆ ของอนุสัญญานี้ที่อยู่ในขอบข่ายอำนาจขององค์กรเหล่านั้น คณะกรรมการอาจเชิญทบวงการชำนัญพิเศษ องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติและองค์กรที่มีอำนาจอื่นๆ ซึ่งคณะกรรมการพิจารณาว่าเหมาะสมมาให้คำปรึกษาเฉพาะด้าน ในเรื่องการปฏิบัติตามอนุสัญญานี้ในเรื่องที่อยู่ในขอบข่ายอำนาจขององค์กรเหล่านั้น คณะกรรมการอาจเชิญทบวงการชำนัญพิเศษ องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ และองค์กรของสหประชาชาติอื่นๆ ให้เสนอรายงานเรื่องการปฏิบัติตามอนุสัญญาในเรื่องที่อยู่ในขอบข่ายกิจกรรมขององค์กรนั้นๆ • ข) คณะกรรมการจะนำส่งรายงานใดๆ จากรัฐภาคีที่มีคำร้อง หรือที่ระบุความต้องการคำปรึกษา หรือความช่วยเหลือทางเทคนิค พร้อมด้วยข้อสังเกตและข้อแนะนำของคณะกรรมการต่อคำร้องขอ หรือข้อระบุความต้องการเหล่านั้น หากมีไปยังทบวงการชำนัญพิเศษ องค์กรทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ และองค์กรที่มีอำนาจอื่นๆ ตามที่พิจารณาเห็นเหมาะสม • ค) คณะกรรมการอาจเสนอแนะต่อสมัชชาใหญ่ ขอให้เลขาธิการฯดำเนินการศึกษาในนามคณะกรรมการในประเด็นเฉพาะที่เกี่ยวกับสิทธิของเด็ก • ง) คณะกรรมการอาจจัดทำข้อแนะนำและข้อเสนอแนะทั่วไป โดยอาศัยข้อมูลข่าวสารที่ได้รับตามข้อ 44 และ 45 ของอนุสัญญานี้ ข้อแนะนำและข้อเสนอแนะทั่วไปดังกล่าว จะถูกส่งไปให้รัฐภาคีที่เกี่ยวข้อง และรายงานไปยังสมัชชาใหญ่พร้อมข้อวิจารณ์จากรัฐภาคี หากมี


ส่วนที่ 3

ข้อที่ 46

อนุสัญญานี้จะเปิดให้มีการลงนามโดยรัฐทั้งปวง

ข้อที่ 47

อนุสัญญานี้ต้องได้รับการสัตยาบัน เลขาธิการสหประชาชาติจะเป็นผู้เก็บรักษาสัตยาบันสาร

ข้อที่ 48

อนุสัญญานี้จะยังคงเปิดสำหรับการภาคยานุวัติโดยรัฐ เลขาธิการสหประชาชาติจะเป็นผู้เก็บรักษาภาคยานุวัติสาร

ข้อที่ 49
  1. อนุสัญญานี้จะมีผลใช้บังคับในวันที่สามสิบ นับจากวันที่สัตยาบันสารหรือภาคยานุวัติสารฉบับที่ยี่สิบได้มอบไว้กับเลขาธิการสหประชาชาติ
  2. สำหรับรัฐแต่ละรัฐที่ให้สัตยาบันหรือภาคยานุวัติอนุสัญญานี้ ภายหลังจากการมอบสัตยาบันสารหรือภาคยานุวัติสารฉบับที่ยี่สิบไว้แล้ว อนุสัญญานี้จะมีผลใช้บังคับกับรัฐนั้นๆ ในวันที่สามสิบนับจากวันที่รัฐนั้นได้มอบสัตยาบันสารหรือภาคยานุวัติสาร
ข้อที่ 50
  1. รัฐภาคีใดๆ อาจเสนอข้อแก้ไข และยื่นต่อเลขาธิการสหประชาชาติจากนั้นเลขาธิการสหประชาชาติจะต้องส่งข้อแก้ไขที่เสนอมานั้นต่อรัฐภาคีต่างๆ พร้อมกับคำร้องขอให้รัฐภาคีระบุว่า ตนต้องการให้มีการประชุมของรัฐภาคีเพื่อวัตถุประสงค์ในการพิจารณาและลงคะแนนเสียงต่อข้อเสนอนั้นหรือไม่ ในกรณีที่ภายในสี่เดือนนับจากวันที่ได้ส่งข้อเสนอนั้น มีรัฐภาคีจำนวนอย่างน้อยที่สุดหนึ่งในสามเห็นด้วยกับการจัดประชุมดังกล่าว เลขาธิการสหประชาชาติจะจัดประชุมภายใต้การสนับสนุนของสหประชาชาติ ขอแก้ไขใดๆที่รัฐภาคีส่วนใหญ่ซึ่งเข้าประชุม และลงคะแนนเสียงในการประชุมได้รับเอาไว้ จะถูกเสนอต่อสมัชชาใหญ่เพื่อให้ความเห็นชอบ
  2. ข้อแก้ไขที่ได้รับการรับเอาตามวรรค 1 ของข้อนี้ จะมีผลใช้บังคับเมื่อได้รับความเห็นชอบจากสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ และได้รับการยอมรับโดยเสียงส่วนใหญ่จำนวนสองในสามของรัฐภาคี

3. เมื่อข้อแก้ไขนี่มีผลใช้บังคับ ข้อแก้ไขนั้นจะมีผลผูกพันกับรัฐภาคีที่ให้การยอมรับ รัฐภาคีอื่นจะยังคงผูกพันตามบทบัญญัติของอนุสัญญานี้ และตามข้อแก้ไขก่อนหน้านั้นใดๆ ที่รัฐภาคีดังกล่าวได้ให้การยอมรับแล้ว

ข้อที่ 51
  1. เลขาธิการสหประชาชาติจะรับและเวียนให้รัฐทั้งปวง ซึ่งตัวบทข้อสงวนที่รัฐได้กำหนดไว้เมื่อเวลาให้สัตยาบันหรือภาคยานุวัติ
  2. ห้ามมิให้ตั้งข้อสงวนที่ไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์และความมุ่งหมายของอนุสัญญานี้

3. อาจถอนข้อสงวนในเวลาใดก็ได้ โดยการแจ้งการถอนนั้นแก่เลขาธิการสหประชาชาติ ซึ่งจะแจ้งให้รัฐทั้งปวงทราบต่อไป การแจ้งดังกล่าวมีผลตั้งแต่วันที่เลขาธิการสหประชาชาติได้รับการแจ้งนั้น

ข้อที่ 52

รัฐภาคีอาจบอกเลิกอนุสัญญานี้ โดยการแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรไปยังเลขาธิการสหประชาชาติ การบอกเลิกจะมีผลหนึ่งปีหลังจากวันที่เลขาธิการสหประชาชาติได้รับการแจ้งดังกล่าว

ข้อที่ 53

เลขาธิการสหประชาชาติได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้เก็บรักษาอนุสัญญานี้

ข้อที่ 54

• ต้นฉบับของอนุสัญญานี้ ซึ่งทำไว้เป็นภาษาอาหรับ จีน อังกฤษ ฝรั่งเศส รัสเซีย และสเปน มีความถูกต้องเท่าเทียมกัน จะเก็บรักษาไว้กับเลขาธิการสหประชาชาติ • เพื่อเป็นพยานแก่การนี้ ผู้มีอำนาจเต็มที่ลงนามข้างท้ายนี้ซึ่งได้รับมอบอำนาจโดยชอบจากรัฐบาลของตนได้ลงนามในอนุสัญญานี้