ข้ามไปเนื้อหา

อารัมภกถา อรรถกถาสังยุตตนิกาย สคาถวรรค

จาก วิกิซอร์ซ

สารัตถปกาสินี อรรถกถาสังยุตตนิกาย

อรรถกถาสังยุตตนิกายสวรรค
อารัมภกถา
ข้าพเจ้าพระพุทธโฆษาจารย์ ขอ
น้อมนมัสการด้วยเศียรเกล้า ซึ่งพระ-
สุคตเจ้าผู้หลุดพ้นแล้วจากคติ ผู้มีพระทัย
เยือกเย็นสนิทด้วยพระมหากรุณาธิคุณ ผู้
มีความมืดคือโมหะอันแสงสว่างแห่งปัญญา
ขจัดแล้ว ผู้เป็นครูของชาวโลกทั้งหลาย
พร้อมทั้งมนุษย์และเทวดา.
พระพุทธเจ้าทรงทำให้แจ้งพระ-
สัพพัญญุตญาณ ทรงเข้าถึงพระธรรมใด
อันมีมลทินไปปราศแล้ว ข้าพเจ้าขอ
น้อมนมัสการพระธรรมอันเยี่ยมนั้นด้วย
เศียรเกล้า.
ข้าพเจ้าขอน้อมนมัสการด้วยเศียร-
เกล้า ซึ่งพระอริยสงฆ์เจ้าอยู่เป็นหมู่แห่ง
พระอริยบุคคลแม้ทั้งแปดพวก ผู้เป็นบุตร
อันเกิดแต่พระอุระของพระสุคตเจ้า ผู้ย่ำยี
เสียได้ซึ่งมารและเสนามาร.
บุญใด สำเร็จแล้วด้วยการกราบไหว้พระรัตนตรัยของข้าพเจ้าผู้มีจิต

เลื่อมใสแล้ว ด้วยประการฉะนี้ ด้วยอานุภาพแห่งบุญนั้น ข้าพเจ้าเป็นผู้มี

อันตรายอันขจัดดีแล้ว อรรถกถาใด อันพระขีณาสพ ๕๐๐ องค์ ผู้ชำนาญ

แตกฉานในปฏิสัมภิทาช่วยกันร้อยกรอง แล้วตั้งแต่ปฐมสังคายนา ต่อมามีการ

ร้อยกรองอีกสองครั้ง คือในทุติย-ตติยสังคายนา เพื่อประกาศเนื้อความของ

ปกรณ์สังยุตตนิกายอันประเสริฐ ซึ่งประดับด้วยวรรคแห่งสังยุตอันจำแนก

ญาณต่าง ๆ ที่พระพุทธะและสาวกของพระพุทธะพรรณนาไว้ดีแล้ว ก็อรรถกถา

นั้นแหละ อันพระมหินทเถระผู้ชำนาญจากประเทศอินเดียนำมายังเกาะสิงหล

(ประเทศศรีลังกา) ต่อมาได้ประดิษฐานไว้ด้วยภาษาสิงหล เพื่อประโยชน์

แก่หมู่ชนชาวเกาะ ข้าพเจ้านำอรรถกถาภาษาสิงหลออกแปลเป็นภาษามคธซึ่ง

เป็นภาษาที่น่ารื่นรมย์ ถูกต้องตามระเบียบพระบาลีไม่มีภาษาอื่นปะปน ไม่

ขัดแย้งทฤษฎีของพระเถระทั้งหลาย ผู้อยู่ในมหาวิหาร ผู้เป็นดังประทีปของ

เถระวงศ์ ผู้วินิจฉัยอธิกรณ์ละเอียดรอบคอบ จักตัดข้อความที่ซ้ำ ๆ ออกแล้ว

จักประกาศเนื้อความอรรถกถาสังยุตตนิกายนี้ เพื่อความชื่นชมยินดีของสาธุชน

และเพื่อดำรงอยู่สิ้นกาลนานแห่งพระธรรม.

การพรรณนาอันใด ที่กระทำไว้ในพระนครทั้งหลาย อันสืบเนื่อง

มาจากพระนครสาวัตถี ภายหลังได้ร้อยกรองอีกสองครั้งนั้น ได้ยินว่า เรื่อง

ทั้งหลาย และพุทธพจน์ที่กล่าวไว้ในพระนครนั้นเป็นไปโดยพิสดาร ข้าพเจ้า

จักกล่าวอรรถกถานั้นในที่นี้จักไม่กล่าวให้พิสดารเกินไป ส่วนอรรถกถาแห่ง

พระสูตรเหล่าใดเว้นจากเรื่องย่อมไม่แจ่มแจ้ง เพื่อความแจ่มแจ้งแห่งพระสูตร

นั้น ข้าพเจ้าก็จักแสดงเรื่องเหล่านั้น.

พุทธพจน์เหล่านั้น คือ สีลกถา ธุดงคธรรม พระกรรมฐานทั้งปวง

ความพิสดารของฌานและสมาบัติ ทั้งประกอบด้วยจริยะและวิธีการ อภิญญา

ทั้งหมด คำวินิจฉัยอันผนวกด้วยปัญญา ขันธ์ ธาตุ อายตนะ อินทรีย์

อริยสัจ ๔ ปฏิจจสมุปบาทเทศนาซึ่งไม่นอกแนวพระบาลีมีนัยอันละเอียด

รอบคอบ และวิปัสสนาภาวนา คำที่กล่าวมานี้ทั้งหมดข้าพเจ้ากล่าวไว้ใน

วิสุทธิมรรคแล้วอย่างบริสุทธิ์ดี เพราะฉะนั้น ในที่นี้ จักไม่วิจารณ์เรื่องทั้งหมด

นั้นอีก ก็เพราะคัมภีร์วิสุทธิมรรคที่ข้าพเจ้ารจนาไว้ด้วยประการดังกล่าวมานี้

แหละ ดำรงอยู่ท่ามกลางแห่งนิกายทั้ง ๔ จักประกาศข้อความตามที่กล่าวไว้ใน

นิกายทั้ง ๔ เหล่านั้น ฉะนั้น ขอสาธุชนทั้งหลายจงถือเอาคัมภีร์วิสุทธิมรรคนั้น

กับอรรถกถานี้ แล้วจักทราบข้อความตามที่อิงอาศัยคัมภีร์สังยุตตนิกายนั้นได้.

ในพระคัมภีร์เหล่านั้น คัมภีร์ชื่อว่า สังยุตตนิกาย มี ๕ วรรค คือ

สคาถวรรค นิทานวรรค ขันธวรรค (บาลีเป็นขันธวารวรรค) สฬายตนวรรค

มหาวรรค เมื่อว่าโดยสูตรมี ๗,๗๖๒ สูตร นี้ชื่อว่า สังยุตตสังคหะ. เมื่อว่า

โดยภาณวารมี ๑๐๐ ภาณวาร. ในวรรคแห่งสังยุตนั้นมีสาคาถวรรคเป็นเบื้องต้น.

ในสูตรทั้งหลาย มีโอฆตรณสูตร เป็นเบื้องต้น. คำพระสูตรว่า เอวมฺเม สุตํ

เป็นต้น ที่ท่านพระอานนทเถระกล่าวไว้ในเวลาทำปฐมมหาสังคีตินั้น มีนิทาน

เป็นเบื้องต้น. ก็ปฐมมหาสังคีตินี้นั้น ท่านพระอรรถกถาจารย์ให้พิสดารไว้ใน

เบื้องต้น ของอรรถกถาทีฆนิกายสุมังคลวิลาสินี เพราะฉะนั้น บัณฑิตพึงทราบ

ปฐมมหาสังคีตินั้นโดยนัยอันพิสดารในที่นั้นเถิด.

จบอารัมภกถา