ข้ามไปเนื้อหา

เบื้องหลังการปฏิวัติ 2475/คำนำ

จาก วิกิซอร์ซ
คำนำ

เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2484 ข้าพเจ้าได้รับจดหมายฉบับหนึ่งจากผู้เผด็จการไทย จอมพล พิบูลสงคราม จดหมายฉบับนั้นได้มีมาถึงข้าพเจ้าในขณะที่ได้มีการกระทบกันอย่างแรงระหว่างหนังสือพิมพ์ของเรา (“สุภาพบุรุษ”) กับทางการวิทยุกระจายเสียงไทย อย่างไรก็ดี ท่านผู้เผด็จการไทยได้เขียนจดหมายฉบับนั้นถึงข้าพเจ้าด้วยฉันทไมตรีอ่อนหวาน และข้าพเจ้าก็ได้ตอบจดหมายฉบับนั้นไปด้วยรับรู้ในอัธยาศัยไมตรีของท่านผู้นั้น ต่อมาในวันที่ 1 กรกฎาคม ข้าพเจ้าได้รับจดหมายจากผู้เผด็จการไทยฉบับที่สอง ตอบรับรู้อัธยาศัยไมตรีของข้าพเจ้า จดหมายสองฉบับนั้นเขียนโดยลายมือของผู้เผด็จการไทยเอง และบรรจุในหน้ากระดาษจดหมายสีเหลืองราวฉบับละ 4 หน้า

จดหมายสองฉบับนั้นมีมูลกำเนิดมาจากการลงพิมพ์เรื่อง “เบื้องหลังการปฏิวัติ” ในหนังสือพิมพ์ “สุภาพบุรุษ” ระหว่างพฤษภาคมและมิถุนายน ซึ่งสำนักพิมพ์จำลองสารได้รวบรวมพิมพ์ขึ้นเป็นเล่มดังที่ท่านถืออยู่ในบัดนี้

เมื่อระบบพิบูลสงครามได้ถูกโค่นล้มลง และตัวท่านผู้นำแห่งระบอบได้ออกไปดำรงชีวิตเยี่ยงสามัญชนอยู่ ณ ลำลูกกาตลอดมาจนถึงเวลาหลัง ๆ แล้ว ในระหว่างนั้นได้มีผู้มาขอต่อข้าพเจ้า 2–3 รายเพื่อจะจัดพิมพ์เรื่อง “เบื้องหลังการปฏิวัติ” ขึ้นเป็นเล่มและขอให้ต่อเรื่องให้จบชุด ในเวลานั้นข้าพเจ้ากำลังเพลินอยู่กับงานในหน้าที่ ทั้งไม่ได้คำนึงถึงเรื่องนั้นเลย ด้วยมิได้ถือว่าเป็นงานสลักสำคัญอะไร ข้าพเจ้าจึงได้ตอบขอผัดผ่อนการพิจารณาออกไป หรือนัยหนึ่ง ตอบปฏิเสธไปโดยสุภาพ

ระหว่างนั้นมิตรบางคนได้ทราบเรื่องก็มาพูดตักเตือนว่า “อย่าทำเป็นบ้า เรื่องมันเปย์ คนยังจำและทึ่งกันอยู่ บอกให้เขาไปเถอะ จะได้เงินใช้ก้อนหนึ่ง” ท่านผู้อ่านควรจะทราบว่า เมื่อข้าพเจ้าบอกว่ามีผู้มาขอพิมพ์เรื่องนั้นเรื่องนี้ของเรานั้น เขามิได้มาขอเราเปล่า ๆ ดอก เขาย่อมจะจ่ายเงินตอบแทนให้เราจำนวนหนึ่ง มากหรือน้อยสุดแต่ค่าของเรื่องนั้น หรือบางทีก็สุดแต่ความใจดีของเขา หรือบางทีก็สุดแต่ความใจดีของเรา หรือบางทีก็สุดแต่ว่าเรากำลังรวยอยู่หรือจนอยู่ นัยหนึ่ง ความต้องการเงินของเรากำลังอยู่ในเตาอบหรือกำลังอยู่ในตู้เย็น

จะว่าเป็นเคราะห์ร้ายหรือเคราะห์ดีก็ตาม พวกเรามากคนดูเหมือนจะต้องคำสาปมาข้อหนึ่ง ถ้ามีรายได้พอบำรุงฐานะให้ดำเนินชีวิตราบรื่นไปได้เยี่ยงปรกติชนคนธรรมดาทั่วไปแล้ว เขตต์แดนแห่งการแสวงหาของเราก็จบลงเพียงเท่านั้น พ้นแดนนั้นออกไป จมูกของเราก็มิได้กลิ่นเงินเลย นอกเสียจากในเวลาที่เราขัดสนจนยาก ซึ่งเป็นธรรมดาย่อมจะมาสู่คนเช่นเราเป็นครั้งคราว และนอกเสียจากในเวลาที่เรามีความต้องการใช้เงินในกรณีพิเศษเป็นครั้งคราวแล้ว เราก็ไม่สู้กระตือรือร้นเท่าใดในการที่จะได้เงินมาเพิ่มเติมส่วนที่เราถือว่าเป็นการพอเพียงแก่การดำรงชีวิตและดำรงฐานะของเราอยู่แล้ว และโดยปรกติเราก็ควรและมักจะมีรายได้จากการปฏิบัติหน้าที่ตามปรกติของเราพอควรแก่การดำรงฐานะ

โดยเหตุแห่งคำสาปดังกล่าวนั้น ทั้งที่ได้มีผู้มาขอพิมพ์เรื่อง “เบื้องหลังการปฏิวัติ” จากข้าพเจ้าเป็นเวลาร่วม 2 ปีมาแล้ว เรื่องนั้นก็ยังมิได้จัดพิมพ์ขึ้นจนกระทั่งเมื่อ 5–6 เดือนมานี้ เจ้าของสำนักพิมพ์รายที่ 3 หรือที่ 4 คือ คุณสนิท กิจเลิศ ได้มาพบข้าพเจ้าที่สำนักงาน ออกปากขอพิมพ์เรื่องนั้น ข้าพเจ้าขอเวลารวบรวมเรื่องและตรวจดูก่อน ในทันใดนั้นคุณสนิทก็ได้ส่งม้วนเรื่องทั้งหมดให้แก่ข้าพเจ้าพลางพูดว่า “ผมจัดรวบรวมเรื่องสำหรับคุณจะได้ตรวจเรียบร้อยแล้วครับ” ข้าพเจ้าก็รับม้วนเรื่องนั้นมาพร้อมกับคำนึงนึกอยู่ในใจว่า “เขาเป็นผู้มีอุตสาหะและมีการตระเตรียมดี สมควรที่เขาจะได้รับตามที่เขาปรารถนา” อีกประการหนึ่ง คุณสนิทเป็นคนเคยทำงานอยู่ในสำนักของเรามาแต่ก่อน ข้าพเจ้ามีความปราณีเธอ และใคร่จะส่งเสริมกิจการของเธอ จึงได้รับปากลงคำไว้ว่า ข้าพเจ้าจะจัดให้เธอได้พิมพ์สมปรารถนา ถึงกระนั้น ข้าพเจ้าก็มัวเพลินอยู่กับงานในหน้าที่เรื่อยมาจนกระทั่งถึงเดือนธันวาคมที่แล้ว ข้าพเจ้าดำริห์เกี่ยวกับการศึกษาในเดือนสองเดือนข้างหน้าและจำเป็นจะต้องรวบรวมเงินพิเศษก้อนหนึ่งเพื่อใช้ในการนั้น ข้าพเจ้าจึงลงมือพิจารณาเรื่อง “เบื้องหลังการปฏิวัติ” และได้แจ้งให้คุณสนิททราบตามความเป็นจริงว่า การที่เธอจะจัดพิมพ์ “เบื้องหลังการปฏิวัติ” และมอบเงินจำนวนหนึ่งแก่ข้าพเจ้านั้น บัดนี้ได้กลายมาเป็นการอนุเคราะห์ความปรารถนาของข้าพเจ้าไป

เหตุอีกข้อหนึ่งที่ทำให้ข้าพเจ้ามิสู้กระตือรือร้นในการจัดพิมพ์หนังสือเรื่องนี้ขึ้นเป็นเล่มนั้นก็คือ ความมุ่งหมายพิเศษของข้าพเจ้าในการเขียนเรื่องนี้อยู่ที่จะหาวิธีใหม่ต่อต้านมรสุมของระบอบเผด็จการในเวลานั้น ข้าพเจ้านำพฤตติการณ์ของการปฏิวัติมาเรียบเรียงลงไว้ ก็ประสงค์จะให้เป็นข้อตักเตือนแก่นักปฏิวัติกลุ่มหนึ่งที่ถืออำนาจการปกครองในสมัยนั้นได้สำเหนียกถึงอุดมคติของการปฏิวัติว่า เขาได้แสดงไว้อย่างไร และความประพฤติที่เขาปฏิบัติอยู่เป็นปฏิปักษ์ต่ออุดมคติของเขาอย่างไร ข้าพเจ้าหวังจะให้เขาเหล่านั้นบังเกิดความละอายใจและได้สำนึกตนว่า เมื่อเขาทรยศต่ออุดมคติของเขา ซึ่งในเวลาต่อมาได้กลายเป็นอุดมคติของประชาชนไปแล้ว ก็เท่ากับว่า เขาได้ทรยศต่อประชาชนนั่นเอง เมื่อเป็นดังนั้น เขาก็จะหวังได้รับนับถือและความสนับสนุนจากประชาชนต่อไปไม่ได้ เมื่อข้าพเจ้ามีความมุ่งหมายพิเศษดังกล่าวเช่นนี้ และเมื่อสมัยของการปกครองอันเป็นที่ชิงชังของประชาชนได้กลายเป็นอดีตไปแล้ว ข้าพเจ้าจึงเห็นว่ากิจของเรื่องนั้นได้เสร็จสิ้นลงในในส่วนหนึ่ง และดังนั้น จึงมิได้หวลคำนึงถึงมันอีก

แต่เรื่อง “เบื้องหลังการปฏิวัติ” นั้น มันก็มีประวัติของมันอยู่ และมีพฤตติการณ์บางเรื่องเกี่ยวข้องกับเรื่องนั้น ที่ยังมิได้รับการเปิดเผย ฉะนั้น หากข้าพเจ้าจะลำดับและชี้แจงเหตุการณ์ทั้งที่ได้เปิดเผยแล้วและยังมิได้เป็นเผยไว้ในที่นี้ ก็จะทำให้การพิมพ์หนังสือเรื่องนี้สมบูรณ์ขึ้น ข้าพเจ้าเรียบเรียงเรื่องนี้จากการสัมภาษณ์ท่านเชษฐบุรุษ เจ้าคุณพหลพลพยุหเสนา เมื่อหนังสือพิมพ์ของเราได้นำเรื่องนี้ลงพิมพ์เป็นครั้งแรกในวันที่ 4 พฤษภาคม ท่านเชษฐบุรุษก็เชิญข้าพเจ้าไปพบ ณ. วังปารุสกวัน และแจ้งให้ทราบว่า มีผู้ก่อการผู้หนึ่งมาพบท่าน และเรียนให้ท่านทราบเป็นใจความว่า เรื่อง “เบื้องหลังการปฏิวัติ” ที่ท่านให้สัมภาษณ์แก่ข้าพเจ้านั้นอาจก่อความกระทบกระเทือนใจแก่ผู้ก่อการชั้นผู้ใหญ่บางคนได้ ซึ่งก็เป็นที่เข้าใจกันว่า หมายถึงผู้เผด็จการหรือผู้นำของไทยในเวลานั้น และขอให้แจ้งแก่ข้าพเจ้าให้ระงับการลงพิมพ์เสีย ท่านเจ้าคุณจึงปรารภแก่ข้าพเจ้าว่า เมื่อมีผู้ก่อการเขามาทักท้วงเช่นนี้แล้ว ข้าพเจ้าจะพอใจหรือไม่ที่จะรับคำทักท้วงของผู้นั้น ข้าพเจ้าได้เรียนให้ท่านทราบว่า การเรียบเรียงเรื่องนี้ก็ดี การวินิจฉัยในการลงพิมพ์ก็ดี เป็นกิจของข้าพเจ้า หาใช่กิจของผู้ก่อการผู้นั้นหรือของผู้ก่อการผู้ใดไม่ อย่างไรก็ดี ถ้าเป็นคำขอของท่านเชษฐบุรุษผู้เป็นเจ้าของเรื่องเองแล้ว ข้าพเจ้าก็จะรับคำขอของท่านไว้ใคร่ครวญด้วยความเคารพ และถ้าท่านมีเหตุผลในข้อที่ไม่สมควรจะลงพิมพ์และขอต่อข้าพเจ้า ข้าพเจ้าก็จะงดการลงพิมพ์ให้ ท่านเชษฐบุรุษจึงว่า ท่านก็กล่าวไม่ได้ว่าท่านมีเหตุผลในข้อที่ไม่สมควรจะลงพิมพ์ ดังนั้น ข้าพเจ้าจึงสรุปว่า ท่านโปรดแจ้งแก่ผู้ก่อการผู้นั้นเถิดว่า ข้าพเจ้าทราบข้อทักท้วงของเขาจากท่านครบถ้วนแล้ว และข้าพเจ้าจะเป็นผู้วินิจฉัยต่อไป ก็เป็นที่ตกลงกันตามนั้นระหว่างท่านเชษฐบุรุษกับข้าพเจ้า

และข้อวินิจฉัยของข้าพเจ้าก็คือ ดำเนินการพิมพ์เรื่องนั้นต่อไป จากวันที่ 4 พฤษภาคมจนถึงวันที่ 11 มิถุนายน รวมเรื่องที่พิมพ์ลงแล้วทั้งหมด 16 ตอน ระหว่างเวลานั้น สำนักของเราก็ได้รับรายงานว่า ได้มีความเดือดดาลกันมากในวงการของวังสวนกุหลาบ และได้มีความดำริที่จะจัดหาวิธีการอย่างใดที่จะให้เรางดพิมพ์เรื่องนั้นจนได้ ฉะนั้น ในคืนวันที่ 11 มิถุนายน วิทยุกระจายเสียงไทย ในความอำนวยการของพระราชธรรมนิเทศ ก็ตวาดแหวออกมาทางบทสนทนาของนายมั่น นายคง วิทยุกระจายเสียงไทยได้ดำเนินการโฆษณาบดขยี้เรื่อง “เบื้องหลังการปฏิวัติ” อยู่ 4 คืน และหนังสือพิมพ์ของเราก็ได้ลงพิมพ์คำแถลงตอบวิทยุกระจายเสียงครบถ้วน 4 ครั้งเหมือนกัน การโจมตีของวิทยุกระจายเสียงไทยมีข้อความสาระสำคัญอย่างไรนั้น มีปรากฏอยู่ในคำแถลงตอบของเรา ดังได้ประมวลมาลงพิมพ์ไว้ในหนังสือเล่มนี้แล้ว

อย่างไรก็ดี เมื่อมีการใช้วิทยุกระจายเสียงของประเทศเจาะจงเล่นงานหนังสือพิมพ์ของเราเอาดื้อ ๆ เป็นการเอิกเกริกครึกโครมกลางเมืองเช่นนั้นแล้ว สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกลุ่มหนึ่งทนดูพฤตติการณ์วิปริตผิดวิสัยเช่นนั้นต่อไปไม่ได้ จึงได้เข้าชื่อกันมีหนังสือตั้งข้อถามทำนองประท้วงไปยังจอมพล พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี และนายกรัฐมนตรีก็ได้มีหนังสือตอบข้อประท้วงของสมาชิกสภากลุ่มนั้น ดังที่ได้รวบรวมมาลงพิมพ์ไว้ในหนังสือเล่มนี้แล้ว ข้อความคำตอบของนายกรัฐมนตรีเป็นคำตอบที่ตรงประเด็นและมีน้ำหนักเพียงใด หรือมีความวิปริตฟั่นเฟือนอย่างใดในคำตอบนั้น หนังสือพิมพ์ของเรามิได้ทำคำวิจารณ์ลงไว้ในเวลานั้น ถึงแม้ในขณะนี้ก็ดี ข้าพเจ้าก็ยังไม่มีความประสงค์จะทำคำวิจารณ์ในเรื่องนั้น ในที่นี้ข้าพเจ้ามีความประสงค์แต่เพียงจะลำดับเหตุการณ์ในรูปของประวัติการณ์ตามความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในเวลานั้นและเท่าที่เกี่ยวแก่เรื่อง “เบื้องหลังการปฏิวัติ” เท่านั้น

ภายหลังที่จอมพล พิบูลสงคราม ได้มีหนังสือตอบข้อถามของสมาชิกสภา และหนังสือพิมพ์ “สุภาพบุรุษ” ก็ได้ลงพิมพ์จดหมายของจอมพลด้วยความสมัครใจของเราเอง เพื่อที่จะให้ประชาชนได้พิจารณาภูมิสติปัญญาของประมุขแห่งรัฐบาลผู้มีอำนาจเกรียงไกรโดยเสรีแล้ว ในวันต่อมาข้าพเจ้าได้รับจดหมายจากจอมพล พิบูลสงคราม ฉบับหนึ่ง พร้อมกับรายงานของมิตรผู้ใกล้ชิดกับวงการของวังสวนกุหลาบว่า เมื่อวิทยุกระจายเสียไทยได้นำหนังสือของจอมพลตอบสมาชิกสภาออกอ่านทางวิทยุกระจายเสียง และเมื่อจอมพลได้ฟังคำตอบของตัวเองจากทายวิทยุกระจายเสียงแล้วก็รู้สึกขึ้นว่า ข้อความคำตอบนั้น ถึงแม้เป็นคำตอบสมาชิกสภาก็ดี แต่ก็มีเรื่องของข้าพเจ้าเป็นเป้าแห่งพฤตติการณ์ ฉะนั้น ข้อความคำตอบนั้นก็จะกระทบกระเทือนใจข้าพเจ้าเป็นธรรมดา ผู้รายงานได้กล่าวว่า ด้วยรู้สึกเช่นนั้น และด้วยระลึกถึงไมตรีที่เคยมีอยู่ต่อกัน จอมพลจึงได้เขียนจดหมายส่วนตัวมาถึงข้าพเจ้าด้วยฉันทไมตรีประโลมใจ ข้าพเจ้าก็ตอบขอบคุณไปในส่วนกิริยาดีและน้ำใจไมตรีที่ท่านผู้นั้นได้แสดงต่อข้าพเจ้า ข้าพเจ้าได้บอกไปในจดหมายนั้นด้วยว่า ถึงแม้มีความผูกพันฉันทไมตรีและนับถือกันอยู่ก็ดี แต่ตราบเท่าที่อยู่ในหน้าที่แล้ว เมื่อมีเหตุการณ์สลักสำคัญที่จะต้องวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ข้าพเจ้าก็จำเป็นจะต้องกระทำต่อไป เพื่อจะหลีกเลี่ยงการกระทบกันรุนแรงในเวลาข้างหน้า ก็มีทางเลือกอยู่แต่ทางหนึ่ง คือ ข้าพเจ้าจะสละตำแหน่งและวางมือจากวงการหนังสือพิมพ์เสีย เมื่อส่งจดหมายตอบไปแล้ว จอมพลได้ส่งจดหมายตอบมาเป็นฉบับที่สอง กล่าวข้อความอันรื่นฤดี จอมพลได้ตอบข้อเสนอสละตำแหน่งของข้าพเจ้าว่า ขออย่าสละตำแหน่งและวางมือเสียจากวงการหนังสือพิมพ์ จอมพลจึงว่า ขอได้อยู่ช่วยเป็นหัวแรงก่อตั้งสมาคมหนังสือพิมพ์และทำนุบำรุงสมาคมต่อไป ส่วนการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลนั้น ข้าพเจ้าจงนอนใจว่า นายกรัฐมนตรีผู้ถือข้าพเจ้าเป็นมิตรคนหนึ่ง จะไม่คิดร้ายเลย ข้าพเจ้าก็ตอบขอบคุณและดำเนินการงานต่อไป ข้าพเจ้าไม่เสนอข้อความในจดหมายสองฉบับของจอมพลในที่นี้โดยละเอียดก็เพราะว่า ข้าพเจ้าไม่ประสงค์จะเขียนประวัติการงานทั่วไปในที่นี้ และดังที่กล่าวแล้ว ข้าพเจ้าประสงค์เพียงแต่จะลำดับเหตุการณ์ส่วนที่เกี่ยวกับเรื่อง “เบื้องหลังการปฏิวัติ” เท่านั้น

ต่อจากนั้นมาไม่นาน รัฐบาลจอมพลก็ได้ปฏิบัติงานหลายอย่างซึ่งเป็นเหตุให้การปะทะกันอย่างรุนแรงระหว่างหนังสือพิมพ์ของเรากับรัฐบาลเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ กรณีแรกก็คือ เมื่อรัฐบาลได้จัดดำเนินการให้มีการยืดบทเฉพาะกาลรัฐธรรมนูญ หนังสือพิมพ์ของเราก็จำเป็นต้องทำการขัดขวางคัดค้านโดยลงพิมพ์บทความเห็นติดต่อกันหลายวัน เหตุการณ์ตอนนี้ก็มีหลังฉากของมัน ซึ่งข้าพเจ้าจะขอผ่านไป กรณีต่อมาได้แก่ การที่รัฐบาลได้เข้าบีบบับคับเสรีภาพส่วนตัวบุคคล ซึ่งในการใช้เสรีภาพเหล่านั้นไม่เป็นการกระทบกระเทือนต่อสวัสดิภาพของประชาชนเลย เช่น ในกรณีการแต่งกาย รัฐบาลได้บังคับโดยปริยายให้ประชาชนสวมหมวก ให้เลิกนุ่งผ้าจูงกระเบนตามประเพณีไทย และการบีบบังคับในประการอื่น ๆ ถึงแก่เจ้าหน้าที่ได้จับกุมและปรับผู้ไม่แต่งกายตามประสงค์ของรัฐบาล การปะทะกันอย่างแรงครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่งระหว่างหนังสือพิมพ์ของเรากับรัฐบาลได้แก่ กรณีที่ทางฝ่ายรัฐบาลริเริ่มการฟื้นฟูบรรดาศักดิ์ขุนนางอย่างมโหฬาร โดยมีความดำริกันว่า จะสถาปนาท่านผู้นำและสมัครพรรคพวกบริวารขึ้นเป็นสมเด็จเจ้าพญา เจ้าพญา ท่านพญา รวมทั้งสมเด็จเจ้าพญาหญิง เจ้าพญาหญิง ท่านพญาหญิง เป็นลำดับ เมื่อปรากฏรูปความคิดเห็นของนักปฏิวัติจอมพลและกลุ่มจอมพลออกมาดังนี้ ข้าพเจ้าก็เห็นแน่ว่า จอมพลและนักปฏิวัติกลุ่มนี้ได้ประหารอุดมคติของเขาวินาศย่อยยับสิ้นเชิงลงแล้ว เราได้ให้โอกาสนานพอแก่คนพวกนั้นที่จะปรับปรุงความคิดเห็นของเขาเสียใหม่ แต่เขาก็มีแต่จะรุดหน้าไปในทางที่มิใช่เป็นที่นัดพบของเราตามที่เขาได้สัญญาและเราก็ได้เข้ารับเอาสัญญานั้นนับแต่วันที่ 24 มิถุนายน 2475 ฉะนั้น เราก็จำเป็นต้องหันหลังให้กัน แม้ว่าจะได้มีไมตรีต่อกัน เพื่อที่จะได้ไปสู่ที่นัดพบของเราโดยที่เราไม่จำเป็นจะต้องมีเขาเหล่านั้นร่วมทางไป กรณีริเริ่มศักราชขุนนางแบบมโหฬารเป็นจุดเข้าตีอย่างแรงของเรา และนั่นก็ดูเหมือนจะเป็นเพียงเรื่องเดียวที่การต่อต้านของหนังสือพิมพ์ของเราร่วมกับเพื่อนหนังสือพิมพ์อีกบางฉบับได้รับความสำเร็จอย่างเป็นที่พอใจ เพราะความดำริฟื้นฟูระบบขุนนางแบบมโหฬารได้ระงับพับลงในวาระนั้น และก็ไม่มีการดำริขึ้นอีกเลยในเวลาต่อมา

ชัยชนะของเราในเรื่องนั้นได้นำเราไปพบความวิบัติในวันที่ 17 มกราคมแห่งปีเริ่มสงครามเอเซีย ในเวลานั้นจอมพลก็มิได้เขียนจดหมายส่วนตัวมาประโลมใจข้าพเจ้าอีก และข้าพเจ้าก็มิได้รับโอกาสให้เลือกว่าจะพอใจสละตำแหน่งหรือไม่ มาถึงเวลานั้นข้าพเจ้าก็ถูกบังคับโดยอำนาจทีเดียว แต่ข้าพเจ้าไม่คิดว่าข้าพเจ้าได้รับความผิดหวังอะไร การณ์ดำเนินไปตามกฎแห่งกรรม

ข้าพเจ้าไม่จดจำเหตุการณ์ร้ายสำหรับที่จะตอบแทนผู้ใดในทางส่วนตัวเลย เราได้มาพบ เราได้ปะทะกันแล้ว เราก็จะต้องผ่านไปสู่เหตุการณ์ใหม่ การปะทะใหม่ กับคนใหม่ หรือมิฉะนั้น ก็ไปสู่การหลีกเลี่ยงต่อการปะทะ ไปสู่การประนอม การอดกลั้น และความสงบเย็น แล้วก็หยุดยั้งอยู่ หรือผ่านไปอีก นี่คือชีวิต นี่เป็นสังสารโลก

แต่แน่ละ ข้าพเจ้าย่อมจดจำเหตุการณ์ร้ายและเหตุการณ์ดีที่ได้ประสพมาในชีวิต เพื่อแสวงหาทางไปสู่สัจจธรรม ความถูกต้อง และหลักการที่มีความดีงามยั่งยืน หลักการแห่งความอยู่ร่วมอันสงบผาสุกของมวลมนุษย์

กุหลาบ สายประดิษฐ์
ซอยพระนาง สนามเป้า
20 มกราคม 2490