เรื่องพระเขี้ยวแก้ว/เรื่อง

จาก วิกิซอร์ซ
เรื่องพระเขี้ยวแก้ว
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงพระราชนิพนธ์เมื่อเสด็จประพาสลังกาทวีป
พ.ศ. ๒๔๔๐

เรื่องพระทันตธาตุ
หรือที่ชาวลังกาเรียกว่า ทาฒะ
อีกนัยหนึ่งเรียกเลือน ๆ ว่า ดาลาดา

เรื่องนี้เขามีหนังสือเรียกชื่อว่า ดาลาดา วังสะ แต่ไม่ได้อ่านต้นฉบับ เข้าใจว่า คงเปนเรื่องปาฏิหาริต่าง ๆ เช่น รัตนพิมพวงศ์ เปนต้น ที่จะเก็บความมากล่าวบ้างบัดนี้จากหนังสือฉบับหนึ่งซึ่งเขาแต่งในภาษาอังกฤษ เปนของพวกโซไซเอตี การเล่าเรียนที่ถือสาสนาพระเยซู ได้แต่งแลลงพิมพ์เมื่อรัตนโกสินทรศก ๑๑๓ ในหนังสือนี้แต่งด้วยความมุ่งหมายที่จะยกเหตุผลแห่งความเชื่อถือในสิ่งซึ่งไม่น่าเชื่อของพุทธสาสนิกชนในเมืองลังกา แลกล่าวต่อไปถึงหนังสือที่อ้างว่าเปนพระพุทธวนจะ เช่น คัมภีร์ไตรภูมิ กล่าวถึงโลกเปนอยู่อย่างไรตามความคาดคเนของคนโบราณที่ยังมีความสังเกตตรวจตราไม่พอ แลกล่าวถึงคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งละเสียไม่ได้สั่งสอนให้นับถือผู้สร้างโลก ดังนี้เปนต้น ซึ่งอาจจะแก้ได้ง่าย ๆ ในข้อที่ ๑ ว่า สาสนาคริสเตียนมีเครื่องที่อ้างว่าเปนของเกี่ยวข้องด้วยพระเยซูหรือนักบุญมากยิ่งกว่าสาสนาพระพุทธ เรื่องที่น่าหัวเราะก็ไม่น้อยกว่า ในข้อ ๒ เรื่องความรู้ว่าโลกนี้เปนอย่างไรก็ย่อมเซอะซะอย่างยิ่งเหมือนกัน คือ แบ่งวันสร้างโลกใน ๖ วันไม่เสมอกันได้ เปนต้น แต่ในข้อ ๓ ผู้ที่กล่าวไม่รู้พุทธสาสนาเลย พูดข้างเดียว ไม่ได้มุ่งต่อความจริงหรือความประพฤติที่เปนธรรมอย่างหนึ่งอย่างใด เพราะฉนั้น ในเหตุเหล่านี้ ไม่ควรจะต้องกล่าวถึงยกมาเปนข้อวินิจฉัยอันใด

แต่ถึงหนังสือฉบับที่ข้าพเจ้าได้อ่านนี้เปนของผู้ซึ่งมีทิฏฐิอันกล่าวแล้วข้างต้นได้แต่งก็จริง แต่มีข้อความที่คัดจากหนังสือเก่า ๆ มีย่อ ดาลาดา วังสะ แลจดหมายเหตุการณ์พอที่จะรู้เปนเค้า ไม่พักต้องอ่านหนังสือหลายเล่ม ข้าพเจ้าจะเก็บแต่ข้อความที่เห็นว่าจะต้องการรู้มากล่าว ไม่ได้คิดที่จะแปลหนังสือนั้นทั้งเล่ม ดังจะกล่าวต่อไปนี้

พระทันตธาตุนี้ ได้กล่าวว่า เมื่อถวายพระเพลิงพระพุทธสริระพระอัฏฐิธาตุนอกจากที่เปนเท่านั้น เหลือพระทนต์ ๔ องค์ กับพระอัฏฐิที่โหนกพระปรางทั้งสองข้างแลพระเศียร เจ้าประเทศราช ๘ องค์แย่งชิงกัน ภายหลังตกลงกันโดยสวัสดิภาพแบ่งไปองค์ละส่วน ต่างองค์ต่างสร้างพระสถูปบัญจุไว้ พระบรมธาตุซึ่งเปนสำคัญนั้น คือ พระทนต์ทั้ง ๔ องค์หนึ่งเทพยดาพาไป องค์ที่สองนาคทั้งหลายพาไป องค์ที่ ๓ ตกไปเมืองคันธาระ อยู่ในตวันตกเฉียงเหนือแห่งชมพูทวีป องค์ที่ ๔ ตกไปอยู่เมืองกลิงคะ ทิศตวันออกเฉียงใต้แห่งชมพูทวีป ข้อความทั้งนี้คัดมาจากหนังสือซึ่งเซอมอเนียวิลเลียมแต่งว่าด้วยพุทธสาสนา

ว่าด้วยองค์พระทันตธาตุ

ข้อความที่จะกล่าวต่อไปนี้คัดจากหนังสือซึ่งเซอ เย. เอมเมอซอนเตนเนนต์ แต่งด้วยเรื่องเมืองลังกา ผู้นี้เปนคนรับราชการอังกฤษ อาจที่จะหาผู้รู้ทั้งหลายช่วยสืบสวนทั้งฝรั่งแลลังกา หนังสือที่เขาแต่งว่าด้วยเรื่องเมืองลังกาเปนที่สรรเสริญว่าดีกว่าฉบับอื่น ๆ ทั้งหมด

ดาลาดา วังสะ นั้น เขาแต่งเปนกลอนภาษาลังกา เล่าเรื่องพระทันตธาตุ ซึ่งเขาคเนกันว่า จะได้แต่งเมื่อพุทธศักราช ๘๕๓ ปี ก่อนจุลศักราช ๓๒๘ ปี แลได้แก้ไขอีกในระหว่างพุทธศักราช ๑๐๐๒ แล ๑๐๒๐ ก่อนจุลศักราช ๑๗๙ ปี แล ๑๖๑ ปี ตามชาวสิงหฬกำหนดว่า พุทธปรินิพพานก่อนคฤศตศักราช ๕๔๓ ปีต้องกันกับเรา เพราะฉนั้น หนังสือฉบับนี้คงจะได้แต่งภายหลังพุทธปรินิพพาน ๘๕๐ ปี คำแปลลงเปนภาษาบาลีเรียกว่า ทาฒะวังสะ ได้ทำเมื่อพุทธศักราช ๑๗๔๓ จุลศักราช ๕๖๒ ธัมมะกิตติเถระเปนผู้แปลในรัชกาลแห่งพระนางลีลาวดี ตามข้อความที่กล่าวนั้นว่า ภิกษุผู้หนึ่งชื่อ เขมะ เปนสาวกแห่งพระพุทธเจ้า ได้ทำพระทันตธาตุออกจากเชิงตะกอน แล้วถวายแด่พระเจ้าพรหมทัต พระเจ้ากรุงกลิงคะในพระนครทันตปุระ พระเจ้าแผ่นดินได้สร้างวิหารหุ้มด้วยทองประดิษฐานไว้เปนที่นมัสการมาหลายชั่วบุรุษ

ภายหลัง พระทันตธาตุนั้นตกไปยังกรุงปาตลีบุตร ได้สำแดงอิทธิปาฏิหาริเปนหลายประการ เมื่อทิ้งลงในหน้าเตาเพลิง ก็บันดาลมีดอกบัวขึ้นมารับ ได้ทดลองประหารลงที่หน้าแผ่นเหล็ก ก็ปรากฎติดอยู่ในแผ่นเหล็ก ไม่มีผู้ใดจะนำออกได้ จนสุภัทรภิกษุมาเชิญออก จึงออกได้ พระเจ้าคูหาสีวะ เจ้ากรุงกลิงคะ จึงได้เชิญพระทันตธาตุนั้นคืนยังพระนคร ประดิษฐานไว้ในวิหารเก่า เมื่อมีกองทัพมาประชิตพระนคร พระเจ้าคูหาสีวะจะเสด็จออกทำสงคราม จึงสั่งพระราชโอรสเขยผู้มีนามว่า ทนตกุมาร ผู้เปนสามีของนางเหมมาลา ราชธิดา ว่า ถ้าหากพระองค์ปราชัยสิ้นพระชนมชีพในกลางสนามยุทธ ให้เชิญพระทันตธาตุนี้ไปยังพระเจ้ากรุงสิงหฬ ครั้นเมื่อพระองค์ปราชัยสิ้นพระชนมชีพในกลางศึก พระราชโอรสเขยแลพระราชธิดาก็ปลอมพระองค์เชิญพระทันตธาตุไปด้วย เมื่อพบศัตรู นางเหมมาลาก็ซ่อนไว้ในพระเมาลี ครั้นเมื่อมาถึงกรุงตะมะลิตถิ ก็โดยสานเภตราไปยังกรุงลังกา

พระทันตธาตุถึงกรุงลังกาเปนเวลารัชกาลของพระเจ้ากฤติสิริเมฆะวัณณะ ซึ่งประมาณว่า ได้ขึ้นดำรงราชย์ในพุทธศักราช ๘๔๑ ก่อนจุลศักราช ๓๔๐ ปี สิ้นพระชนม์ในพุทธศักราช ๘๖๙ ก่อนจุลศักราช ๓๑๒ ปี ทรงกระทำสักการบูชาเปนอันดี แลป้องกันรักษาโดยกวดขัน

ในกาลนั้น เกาะลังกาได้ความเดือดร้อนยิ่งนัก ด้วยทมิฬปัจจามิตรมาเบียดเบียน พระเจ้าอัครโพธิซึ่งได้เสด็จขึ้นดำรงราชย์ในปีมีพุทธศักราช ๑๓๑๒ จุลศักราช ๑๓๑ ไม่สามารถจะปราบปรามพวกทมิฬได้ จึงได้ย้ายพระราชธานีจากกรุงอนุราธปุระไปตั้งอยู่ณตำบลโปลันนาระวะ พระราชธานีตั้งอยู่ในที่นั้นจนถึงปีมีพุทธศักราช ๑๘๔๖ จุลศักราช ๖๖๕ มีระหว่างที่ต้องยักย้ายอยู่สองครั้งในปีที่กล่าวแล้วนั้น พระเจ้าภูวะเนกพาหุที่ ๑ ย้ายพระราชธานีไปตั้งณตำบลยาพาหุเปนโกรแลที่ ๗ ในขณะนั้น พวกบันดยันทั้งหลายได้ลอบเข้าตีพระนครได้ เชิญพระทันตุธาตุไปยังชมพูทวีป พระเจ้าปรักกมพาหุที่ ๔ ได้ดำรงราชย์สนองพระองค์ จึ่งได้เสด็จไปยังกรุงมธุระ ว่ากล่าวขอคืนพระทันตธาตุกลับมายังเกาะลังกา

ในที่นี้ เตนเนนต์ ผู้แต่งหนังสือ ได้กล่าวว่า เมื่อเวลากำลังบ้านเมืองเปนจลาจลนั้น พระทันตธาตุองค์ที่แท้ได้พาไปเที่ยวซ่อนไว้ณตำบลต่าง ๆ ในเกาะลังกาเปนหลายตำบล คือ ตำบลแกนดี ลัพพารคาม แลโกติมาลัยในภายหลังที่สุด เมื่อพุทธศักราช ๒๑๐๓ จุลศักราช ๙๒๒ พวกโปรตุเกสพบเข้า ได้พาไปยังเมืองคัวซึ่งเปนเมืองของโปรตุเกสอยู่ในชมพูทวีปฝ่ายทิศตวันตก แล้วมอบให้แก่ดองคอนสแตนไตน์ เดอ บากันซา ซึ่งเปนไวศรอยผู้สำเร็จราชการฝ่ายโปรตุเกสในเขตแดนอินเดีย สังฆราชโปรตุเกสได้เผาเสียต่อหน้าไวศรอยแลขุนนางเปนอันมาก

อันตรายแห่งพระทันตธาตุซึ่งเปนที่เลื่องลือนี้ เปนเรื่องแปลกประหลาดมาก พวกโปรตุเกสได้แต่งหนังสือต่าง ๆ กล่าวถึง เปนข้อความมั่นคงได้ความว่า เปนอันพระทันตธาตุองค์แรกนั้นได้สูญสิ้นไปในปีมีพุทธศักราช ๒๐๔๓ จุลศักราช ๘๖๒

เซอเย. อี. เตนเนนต์ ได้คัดข้อความจากหนังสือพงศาวดารโปรตุเกสซึ่งเรียกว่า ไดโค เดอ เคาโต อันเปนผู้มีชีวิตอยู่ในเวลานั้นแต่ง เรื่องทำลายพระทันตธาตุอย่างไร มีเนื้อความว่า

พระเจ้ากรุงพม่าได้ทรงทราบว่า พระทันตธาตุเปนที่นับถือทั่วไปของพุทธสาสนิกมีผู้ได้ไปดังนั้น จึงได้รับสั่งให้หามาติโน อาลฟองโซ เปนคนพ่อค้าโปรตุเกสซึ่งเปนนายกำปั่นไปค้าขายอยู่ในเมืองหงสาวดี ให้กลับไปเมืองอินเดียขอให้ไวศรอยยอมให้พระทันตธาตุ จะต้องการอันใดแลกเปลี่ยนก็ให้ว่า จะยอมให้ทั้งสิ้น มาติโน อาลฟองโซ ทูลแนะนำให้แต่งทูตานุทูตไปยังไวศรอยว่ากล่าวด้วยการเรื่องนี้ แลให้มอบอำนาจที่จะให้กล่าวข้อความสัญญาอันใดต่างพระองค์ แลพระองค์จะรับอนุมัติตามทุกประการ

ครั้นเมื่อมาติโน อาลฟองโซ ได้ไปถึงยังเมืองคัวในเดือนจิตร พุทธศักราช ๒๑๐๔ จุลศักราช ๙๒๓ แจ้งความให้ไวศรอยทราบในเรื่องมีทูตไปถึง เมื่อเสร็จการต้อนรับทูตแล้วก็เจรจากันด้วยราชการที่ทูตไป ข้างทูตขอให้มอบพระทันตธาตุ แลจะยอมสัญญาให้อันหนึ่งอันใดตามประสงค์ แลจะเปนไมตรีกับกรุงโปรตุคอล สืบไปชั่วฟ้าแลดินด้วย ทั้งรับที่จะส่งเสบียงอาหารไปยังป้อมของโปรตุเกสที่ตั้งอยู่ณเมืองมะละกา ปลายแหลมมลายู ทุกเมื่อตามเวลาที่ขอให้ส่ง ทั้งมีข้ออื่น ๆ ที่รับสัญญาอีกเปนอันมาก ไวศรอยนัดว่าจะตอบโดยเร็ว ในระหว่างนั้นก็นำข้อความแจ้งแก่บันดาลขุนนางฝ่ายทหารพลเรือน คนทั้งนั้นก็มีความพอใจที่จะรับ เพื่อจะได้มาปลดเปลื้องความขัดข้อง ด้วยโปรตุเกสเวลานั้นอยู่ข้างจะขัดสนทรัพย์สมบัติที่จะใช้จ่ายมาก ข้อความเปนเหมือนหนึ่งจะตกลงกันอยู่แล้ว

ความทราบถึงหูสังฆราช เรียกว่า อาชบิชอบดองคาสปา ก็รีบไปหาไวศรอยในทันใดนั้น ว่ากล่าวห้ามปรามมิให้ยอมให้ไถ่พระทันตธาตุ ถึงแม้ว่าจะได้ทรัพย์สมบัติอันใดซึ่งมีอยู่ทั่วโลกนี้ ด้วยเหตุว่า จะเปนที่เสื่อมเสียเกียรติยศของพระเปนเจ้า แลเปนช่องให้พวกนับถือรูปเคารพทั้งหลายไหว้กราบกระดูกอันนี้ ด้วยเหตุว่า ความกราบไหว้เช่นนั้นย่อมควรแก่พระเปนเจ้าพระองค์เดียว อาชบิชอบได้เขียนข้อความอธิบายแลเทศนาบนธรรมาสน์ต่อหน้าไวศรอยแลขุนนางทั้งปวง ต่อสู้ห้ามปรามการที่จะให้ไถ่พระทันตธาตุ เพราะฉนั้น ดองคอนสแตนไตน์ ซึ่งเปนผู้ถือสาสนามั่นคง กลัวพระเจ้า แลอยู่ในบังคับอาราม จึงหยุดยั้งเรื่องการนี้ไว้ไม่ได้ทำให้สำเร็จ เพราะเหตุว่าไม่เปนที่เห็นชอบพร้อมกัน จึงได้ให้ประชุมสังฆราชบาทหลวงหัวหน้าในสาสนาทั้งขุนนางผู้ใหญ่ผู้น้อยพร้อมกันนำข้อความอันนี้ปรึกษา ด้วยเหตุว่า เงินที่จะได้ค่าไถ่พระทันตธาตุนั้นมาก เวลานี้ ราชการก็ขัดสน เงินไม่มีพอจะใช้จ่าย ถ้าได้ ก็จะพอใช้ราชการทุกอย่าง เมื่อปรึกษาโต้ตอบกันเปนอันมาก ก็เปนอันตกลงว่าไม่ควรจะให้พระทันตธาตุ เพราะจะจะเปนการอุดหนุนแก่การไหว้กราบรูปเคารพ เปนการหมิ่นประมาทแก่พระเปนเจ้า เพราะฉนั้น ไม่ควรจะยอมเลย ถึงแม้ว่าประเทศนั้นหรือโลกนี้จะฉิบหายไปหมดก็ตาม อันนี้เปนความคิดของสังฆราชบาทหลวงทั้งปวง

การตกลงกันนี้ได้จดหมายลงชื่อเปนสำคัญทั่วกัน หนังสือฉบับนี้ยังอยู่ในออฟฟิศกรมจดหมายเหตุจนทุกวันนี้ ไวศรอยจึงได้เรียกให้ชาวคลังนำพระทันตธาตุออกมาส่งให้แก่อาชบิชอบสังฆราช สังฆราชให้เอาครกมาตั้งตำด้วยมือตนเองจนละเอียดเปนผง แล้วเทลงในเบ้าสูบเผาจนเปนเถ้า ทั้งเถ้าพระทันตธาตุแลเถ้าถ่าน เทลงในแม่น้ำต่อหน้าคนทั้งปวงซึ่งได้ประชุมกันดูที่น้ำนั้นจากเฉลียงเรือนแลหน้าต่าง

มีผู้ซึ่งไม่เห็นด้วยความคิดไวศรอยก็มาก เพราะเห็นว่า ไม่เปนเครื่องที่จะป้องกันพุทธสาสนิกชนไม่ให้ทำรูปเคารพอื่นขึ้นได้อีก เมื่อจะเอากระดูกอันหนึ่งอันใดมาทำรูปให้คล้ายกับพระทันตธาตุที่สูญไปนั้น ความเคารพกราบไว้ก็จะมีได้เสมอกัน ส่วนทองซึ่งได้บอกเลิกเสียไม่รับนั้น สามารถที่จะแก้ไขความขัดสนความร้อนความจำเปนของบ้านเมือง ไม่ควรจะละทิ้งเสีย

เพื่อจะให้เปนที่ระลึกถึงเหตุการณ์แลสำแดงน้ำใจในข้อที่ทำตามความเห็นของบาทหลวงทั้งหลายโดยความศรัทธาประสาทในคริสต์สาสนา แลให้เปนพระเกียรติยศแก่พระเจ้า จึงได้คิดการที่จะทำต่อไปดังนี้ ให้ทำโล่อันหนึ่ง มีรูปไวศรอยแลสังราชแวดล้อมไปด้วยเจ้าวัดแลบาทหลวงซึ่งได้ไปประชุมในเวลานั้น ในท่ามกลางมีเบ้ากำลังสุมไฟ แลมีพุทธสาสนิกชนซึ่งไปยอมเสียเงิน เบื้องบนโล่นั้นมีตัวอักษรซี เปนอักษรต้นนามของดองคอนสแตนไตน์ ซ้ำห้าครั้ง CCCCC เบื้องล่างมีห้าคำ คอนสแตนตินัส ชีลี คูปิดิเน ครูเมนาส เครมาวิต แปลความว่า คอนสแตนไตน์ซื่อตรงต่อสวรรค์ ไม่รับสมบัติทั้งหลายในพื้นแผ่นดิน

ข้อความทั้งหลายนี้ได้คัดจากหนังสือที่เตนเนนต์แต่งเรื่องเมืองลังกา เล่ม ๒ หน้า ๒๑๓ ถึง ๒๑๕

พระทันตธาตุชั้นที่สอง

ในทางที่กล่าวว่า พระทันตธาตุที่สองได้ทำขึ้นนั้น เซอเย. อี. เตนเนนต์ ได้กล่าวดังนี้

เมื่อพุทธศักราช ๒๑๐๙ จุลศักราช ๙๒๘ พระเจ้าหงสาวดี คือ เมืองพะโค หรือบิคู มีผู้ทูลว่า จะได้เจ้าหญิงเมืองลังกาเปนพระอัครมเหสี จึงได้แต่งทูตออกไปขอวิวาหะ แต่เจ้าแผ่นดินลังกาซึ่งดำรงราชย์เวลานั้นชื่อ ดองยวง ตามชื่อที่เข้ารีต ชื่อเดิม ธรรมปาละ เผอิญไม่มีพระราชโอรสแลธิดา คำทำนายนั้นเกือบจะเปนอันไม่ถูกต้องอยู่แล้ว พอมีขุนนางกรมวังผู้หนึ่งซึ่งนับเนื่องอยู่ในเชื้อพระวงศ์กราบทูลแนะนำที่จะให้ส่งบุตรสาวของตนออกไปแทน เพิ่มความชั่วขึ้นในความไม่สุจริต โดยล่อลวงให้ทูตรามัญทั้งหลายเชื่อว่า ยังมีพระทันตธาตุเปนของแท้เก็บซ่อนไว้ได้ พระทันตธาตุซึ่งพวกฝรั่งเมืองคัวทำลายเสียนั้นเปนของทำปลอมไว้ ความคิดล่อลวงอันนั้นเปนอันได้สำเร็จ หญิงซึ่งต่างว่าเปนเจ้านั้นก็ได้ต้อนรับที่เมืองหงสาวดีโดยอภิเษกมงคลตั้งอยู่ในตำแหน่งอัครมเหสี แลส่งราชทูตทั้งหลายออกไปยังสิงหฬทวีปรับพระทันตธาตุซึ่งภายหลังได้ตกไปอยู่เมืองอารดัน

เตนเนนต์ ผู้แต่งหนังสือ ได้คัดข้อความจากหนังสือซึ่งเดอ เคาโต พรรณนาข้อความพิสดารต่อไปดังนี้

ว่า เมื่อพรัหมะ พระเจ้าแผ่นดินเปคูประสูติ โหรทั้งหลายได้ทำนายว่า จะได้พระราชธิดากรุงลังกาเปนชายา จะมีลักษณะรูปโฉมเช่นนั้น ๆ จะมีส่วนพระหัตถ์พระบาทเช่นนั้น ๆ พรัหมะมีความปรารถนาที่จะให้สมดังคำทำนาย จึงได้ส่งทูตานุทูตออกไปยังดองยวง พระเจ้ากรุงคอตตา ในพระราชสาส์นนั้นยกย่องเหมือนหนึ่งว่า พระเจ้าดองยวงเปนผู้สืบกษัตริย์เที่ยงแท้ ไม่เปนแต่พระเจ้าแผ่นดินโดยเอกเทศองค์หนึ่งของเกาะลังกา ขอพระราชธิดาเพื่อจะอภิเษก แลส่งเครื่องราชบรรณาการล้วนสิ่งของอันมีค่าซึ่งไม่เคยมีในเกาะลังกาเต็มลำเภตรา กับทั้งแพรผ้าแลเพชรพลอยอันมีราคา ทูตานุทูตถึงในเวลาซึ่งพระเจ้าแผ่นดินได้ทิ้งคอตตามาอยู่ในกำแพงป้อมเมืองโคลัมโบ พุทธศักราช ๒๑๐๗ จุลศักราช ๙๒๖ พระเจ้าดองยวงได้ต้อนรับทูตโดยความยกย่องเปนอันมาก ทราบความประสงค์ที่ทูตมาแล้วปิดบังความจริงเสียในข้อที่โหรทั้งหลายได้ทายผิด เพราะเธอไม่มีโอรสหรือธิดาเลย จึงได้นำบุตรสาวแห่งอำมาตย์ผู้ใหญ่ในกรมวังซึ่งเปนเชื้อพระวงศ์ แลนางคนนั้นได้ถือสาสนาพระเยซูแล้วโดยความคิดอ่านของคอเวอนเนอ ผู้ชื่อว่า ฟรานซิสโก บาเรตโต อันอำมาตย์กรมวังผู้นั้นได้รับเปนชื่อตัวด้วย แลนอกนั้น ยังได้ยอมให้อ้างว่าเปนเชื้อพระวงศ์ เพราะอำมาตย์ผู้นี้มีอำนาจมาก ดังนั้นจึงได้แนะนำเจ้าแผ่นดินให้ทำตามความคิดตัว หญิงผู้นั้นได้ยกย่องให้มีเกียรติยศทุกประการอย่างพระราชธิดา เมื่อทูตานุทูตมาถึง ได้โปรดให้นางนั้นเสวยร่วมภาชนะด้วยพระองค์ แลรับสั่งเรียกดังพระราชธิดา ด้วยประการทั้งปวงนี้ จึงส่งไปให้เปนพระอัครมเหสีพระเจ้ากรุงหงสาวดี

ข้อขัดขวางซึ่งพระเจ้าดองยวงกลัวเกรงอยู่มากนั้น คือ กัปตันเยเนอราลเมืองโคลัมโบ แลแฟรนซิสแกง คือพวกพระทั้งหลาย ถึงแม้ว่านางนั้นเปนผู้ถือสาสนาพระพุทธ เขาย่อมเห็นอยู่ว่าเปนลูกแกะอยู่ในฝูงเขา ซึ่งสามารถจะบังคับให้ถือสาสนาพระเยซูเมื่อใดก็ได้ เพราะเหตุนี้ คนทั้งหลายเหล่านั้นน่าที่จะขัดขวางมิให้นางนี้ออกไปจากลังกาทวีปได้ เจ้าแผ่นดินได้ปรึกษากับกรมวังผู้ใหญ่ผู้นี้ซึ่งเปนคนมีทุนรอนแลมีความคิด เมื่ออำมาตย์ผู้นั้นชี้แจงอันใด เจ้าแผ่นดินย่อมเชื่อถือทุกอย่าง จนบังคับกดขี่ให้ละทิ้งเมืองคอตตามาได้ความยากจน ด้วยความมุ่งหมายที่จะมั่งมีโดยค้าขายกับเมืองหงสาวดีจึงได้ตกลงยอมจะส่งนางผู้นี้ออกไปให้พระเจ้าแผ่นดินรามัญ เว้นไว้แต่ต้องให้เปนความลับ อย่าให้โปรตุเกสที่โคลัมโบทราบ

แต่ฝ่ายอำมาตย์กรมวังได้ทำยิ่งกว่านั้น คือ คิดพร้อมกับเจ้าแผ่นดินนำเขากวางมาแกะเปนรูปพระทันตธาตุเหมือนอย่างเช่นที่ดองคอนสแตนไตน์ได้นำไปเสียแล้วนั้น หุ้มด้วยทองคำ บัญจุในพระเจดีย์อันมีค่าประดับด้วยพลอยต่าง ๆ อำมาตย์กรมวังผู้นั้นซึ่งถือว่าเข้ารีตสาสนาพระเยซูแล้วยังมีน้ำใจนับถือพระพุทธสาสนา เมื่อสนทนากันกับทูตานุทูตแลพระสงฆ์ซึ่งมาด้วยในเวลาก่อนที่จะไปนมัสการถวายเครื่องสักการบูชาพระพุทธบาทที่ยอดเขาอดัม ได้แจ้งให้ทราบเปนความลับว่า พระเจ้าดองยวง เจ้ากรุงสิงหฬ ยังมีพระทันตธาตุของพระพุทธเจ้าที่แท้จริงอยู่ สิ่งซึ่งดองคอนสแตนไตน์จับไปได้นั้นเปนของปลอม ตัวเขาเปนกรมวังผู้ใหญ่ได้เก็บซ่อนพระทันตธาตุไว้ที่เรือน พระเจ้ากรุงลังกาได้ถือสาสนาพระเยซูเสียแล้ว ทูตานุทูตแลพระสงฆ์ได้ทราบดังนั้นสำคัญว่าจริง ก็มีความยินดี ขออนุญาตที่จะได้เห็น อำมาตย์นั้นก็ไม่ใคร่จะยอม แต่ครั้นเมื่อภายหลังขอให้ปลอมตัวไปที่บ้านในเวลากลางคืน นำพระทันตธาตุจำลองซึ่งบัญจุในเจดีย์ตั้งอยู่บนที่บูชาแวดล้อมไปด้วยเครื่องหอมแลประทีป ครั้นเมื่อคนทั้งหลายเหล่านั้นได้เห็นก็กราบลงเหนือภาคพื้น ทำสักการบูชาแลสวดคำนมัสการล่วงเวลาเปนอันมากในราตรีนั้น ภายหลังจึงได้ว่ากล่าวอ้อนวอนกับอำมาตย์กรมวังขอให้ส่งพระบรมธาตุไปถวายพระเจ้ากรุงหงสาวดีกับเจ้าหญิงนั้นด้วย รับสัญญาว่าจะให้มีการมหรสพใหญ่เนื่องในการอาวาหาภิเษกมงคลนั้นด้วย พระเจ้าพรัหมะจะส่งทองสิบหมื่นในชั้นแรก แลจะส่งเภตราอันบรรทุกเต็มด้วยข้าวเปลือกปีละลำทุกปีไป สิ่งของอื่น ๆ เมื่อจะต้องการอันใดก็จะส่งให้ตามปรารถนา การซึ่งสัญญากันนี้เปนความลับ รู้กันแต่เฉพาะพระเจ้าแผ่นดินแลอำมาตย์กรมวัง

ครั้นเมื่อเวลาจะส่งนางสาวลังกาไป ก็ได้ปิดบังด้วยความฉลาด กัปตันแห่งเมืองโคลัมโบ แลเดสเดเมโลโลหรือบาดหลวงทั้งหลายก็ไม่มีใครทราบแลไม่มีใครสงสัย พระเจ้ากรุงลังกาแต่งให้แอนคริสบายันมุททลิยา ขุนนางลังกา เปนราชทูตไปด้วยกับนาง ไม่มีเหตุการณ์อันใด เปนปรกติตามทางจนถึงท่าใต้เมืองโกสมี จึงกราบทูลแจ้งข่าวพระราชเทวีเสด็จมาถึงไปให้พระเจ้าแผ่นดินแลขุนนางทั้งปวงทราบ ต่างคนมีความยินเปนอันมาก

พระมหาอุปราช ราชโอรสแห่งพระเจ้าแผ่นดิน เสด็จลงมารับถึงท่าเรือ พระเจ้าแผ่นดินเสด็จออกมารับที่ประตูพระราชวัง จัดตำหนักให้อยู่ ประกอบไปด้วยห้องอันตกแต่งเปนอันงาม ทั้งห้องประทม ที่ประทับ ที่แต่งพระองค์ อันสมควรแก่ตำแหน่งพระอัครมเหสีที่พระเจ้าแผ่นดินอันบริบูรณ์ไปด้วยราชสมบัติแลมีพระเดชานุภาพใหญ่ แล้วก็พระราชทานทรัพย์ศฤงคารส่วยสาอากรข้าไทมอบให้เปนใหญ่ในพระราชวัง เสด็จไปประทับอยู่ด้วยเสมอมิได้ขาด โปรดให้ตั้งพระราชพิธีให้ชนทั้งปวงถวายสัตย์สาบานยกย่องนางนั้นเปนเจ้าของตนทั่วหน้า

ฝ่ายพระสงฆ์ทั้งหลายแลทูตานุทูตทั้งปวงก็กราบทูลเรื่องราวแห่งพระทันตธาตุซึ่งเปนที่นับถือยังคงรักษาไว้ได้ มิได้เปนอันตรายแลได้จัดการตกลงกับผู้รักษาตลอดแล้วนั้น พระเจ้าพรัหมะก็ทรงพระปรีดาด้วยสมดังพระประสงค์ ทรงเข้าพระทัยว่าเปนพระทันตธาตุแห่งพระของพระองค์ แลนับถือยิ่งกว่าสิ่งหนึ่งสิ่งใดทั้งสิ้น มิได้ช้าก็ส่งพระสงฆ์แลทูตานุทูตสำรับนั้นกับทั้งเครื่องบรรณาการอันวิเศษไปยังพระเจ้ากรุงลังกา แลสัญญาว่าจะส่งสืบไปอีกให้มีราคายิ่งกว่านั้น ทูตานุทูตก็ไปถึงเมืองโคลัมโบ ว่ากล่าวตกลงกันโดยความลับกับดองยวง ก็มอบพระทันตธาตุจำลองกับทั้งเจดีย์ที่ตั้งให้แก่ทูตานุทูตด้วยแสดงความอาลัยแลเปนความลับ ทูตานุทูตก็ทูลลามาโดยเรือเดิมนั้นตราบเท่าถึงประเทศรามัญ

การรับพระธาตุซึ่งสำคัญว่าจริง

ในเมื่อก่อนที่จะเข้าไปถึงท่าโกสมีซึ่งเปนท่าเมืองหงสาวดีสักสองสามวัน ข่าวก็ระบือลือเลื่องไปเร็ว พระสงฆ์ทั้งหลายแลราษฎรก็มาประชุมกันด้วยความเลื่อมใสเพื่อจะนมัสการพระทันตธาตุ แล้วให้ผูกแพตกแต่งด้วยเครื่องประดับให้งดงาม จึงอัญเชิญพระทันตธาตุตั้งบนภาชนะทองเงินแลสิ่งอื่น ๆ อันมีค่า ข่าวก็ทราบไปถึงพระเจ้าพรัหมะในกรุงหงสาวดี ในทันใดนั้นก็รับสั่งให้บรรดาข้าราชการลงมาช่วยกันรับพระทันตธาตุ ทรงทอดพระเนตรจัดทำที่สำหรับจะประดิษฐานพระทันตธาตุด้วยพระองค์เอง แลประดับด้วยมหัคฆภัณฑ์อันพระองค์สามารถที่จะรวบรวมมาได้แลมีอยู่ ด้วยอาการเช่นนี้ พระทันตธาตุได้ขึ้นไปโดยระยะทางชลมารคในท้องนทีอันดาษดาไปด้วยเรือทั้งหลายซึ่งแวดล้อมแห่แพมณฑปทรงพระทันตธาตุ เวลาค่ำก็จุดประทีปสว่างดุจเวลากลางวัน

ฝ่ายพระเจ้าแผ่นดิน เมื่อทรงตระเตรียมการทั้งปวงเสร็จแล้ว ก็เสด็จลงเรือพระที่นั่งอันวาดเขียนประดับด้วยลายทองแลประกอบด้วยแพรพรรณเครื่องปักต่าง ๆ ล่องลงมาสองวันเพื่อจะพบกระบวนแห่ ครั้นเมื่อทอดพระเนตรเห็นแต่ไกล ก็เสด็จเข้าสู่ที่สรง ชำระพระองค์ประพรมไปด้วยเครื่องหอม แล้วแต่งพระองค์ด้วยราชาภรณ์อันมีค่า ยื่นพระหัตถ์ไปจับแพอันทรงพระทันตธาตุ แล้วกราบถวายบังคมด้วยโสมนัสศรัทธาเลื่อมใสจะประมาณมิได้ แล้วเสด็จเข้าไปยังหน้าที่ตั้งเครื่องสักการะอันประดิษฐานพระทันตธาตุ แล้วทรงรับพระทันตธาตุจากผู้ซึ่งกำกับขึ้นมา ยกขึ้นวางเหนือพระเศียรเกล้าเปนหลายครั้งด้วยสักกัจเคารพแลทัฬหปสาทะ แล้วก็อัญเชิญลงประดิษฐานณที่เดิม เสด็จดำเนินแห่ไปในกระบวนเมือมาตามระยะทางชลมารคอันหอมฟุ้งไปด้วยกลิ่นเครื่องหอมทั้งหลายซึ่งมีทุกลำเรือกระบวน ครั้นเมื่อถึงฝั่ง พระสงฆ์ทั้งหลาย แลข้าราชการทั้งปวง กับทั้งพระเจ้าแผ่นดิน แลผู้ซึ่งเปนหัวหน้าในหมู่ชนทุกหมู่เหล่าพากันลงไปในน้ำ อัญเชิญบุษบกพระทันตธาตุขึ้นเหนือบ่าแบกไปยังพระราชวัง แวดล้อมไปด้วยประชุมชนทั้งปวงอันจะนับประมาณมิได้ บรรดาเศรษฐีคฤหบดีทั้งหลายก็เปลื้องเครื่องแต่งตัวอันมีค่าลงปูลาดไว้ตามทางเพื่อจะให้ผู้ซึ่งเชิญพระทันตธาตุเดินเหยียบไปบนผ้าทั้งหลายนั้น

พระทันตธาตุนั้น ภายหลังได้ตั้งไว้ในกลางสนามภายในพระราชวังภายใต้มณฑปซึ่งปลูกขึ้นใหม่ พระเจ้าแผ่นดินแลผู้มีบรรดาศักดิ์ทั้งหลายก็ถวายเครื่องสักการบูชา แล้วประกาศนามแลโคตร มีอาลักษณ์ซึ่งได้ตั้งไว้เปนตำแหน่งสำหรับจดชื่อนั้นคอยจดอยู่ แต่สักการบูชาเช่นนั้นสิ้นสองเดือนจนวิหารซึ่งได้สร้างขึ้นแล้วสำเร็จด้วยราคามากพ้นประมาณ ราวกะว่าจะให้เกิดการจลาจลขึ้นในพระนครนั้น

พระทันตธาตุชั้นที่สาม

เซอเย. อี. เตนเนนต์ ได้กล่าวถึงเรื่อนี้โดยย่อ จะยกมาลงไว้ก่อน “พระเจ้ากรุงแกนดีซึ่งทรงนามว่า วิกรมพาหุ เมื่อได้ทรงทราบว่า พระญาติซึ่งอยู่เมืองคอตตาได้ทำการล่อลวงพระเจ้าหงสาวดีโดยส่งพระราชธิดาปลอมไปดังนั้น เพื่อจะแก้ไข จึงจะยอมให้พระราชธิดาของพระองค์เอง แลว่าจะส่งพระทันตธาตุที่แท้จริงอันซ่อนไว้ กล่าวว่าพระทันตธาตุซึ่งส่งไปแต่เมืองโคลัมโบก็ดี ซึ่งว่าโปรตุเกสทำลายเสียที่เมืองคัวก็ดี เปนแต่ของจำลองพระทันตธาตุของพระพุทธเจ้า มีแท้แต่ที่ของเธอองค์เดียว จะส่งไปทุนสินในการแต่งงานด้วย พระเจ้าหงสาวดีกอปรไปด้วยทิฏฐิมานะ ไม่ยอมที่จะให้ปรากฎว่าพระองค์ถูกล่อลวง”

เรื่องพิสดารเดอ เดาโต ได้กล่าวต่อไปดังนี้ “เพื่อจะให้จบเรื่องพระทันตธาตุนี้ ข้าพเจ้าจะเล่าถึงเหตุการณ์อันได้เกิดขึ้น เมื่อปีต่อมา ในระหว่างพระเจ้ากรุงแกนดี แลพระเจ้าพรัหมะ เจ้ากรุงหงสาวดี ในเหตุการณ์เรื่องที่ดองบวง เจ้าแผ่นดินสิงหฬ ได้ทำนั้น ในการที่ดองยวงได้ผลประโยชน์จากพระเจ้าหงสาวดี แลเรื่องพระทันตธาตุได้ทราบถึงพระกรรณพระเจ้าแกนดีโดยเร็ว เมื่อทราบว่าทรัพย์สมบัติเปนอันมากซึ่งพระเจ้าพรัหมะให้ส่งมา ก็มีความทะยานพระทัยด้วยความริษยา (เพราะเหตุว่า ดองยวงกับพระองค์ได้เกี่ยวข้องเปนสัมพันธวงศ์แก่กัน โดยได้ทำอาวาหมงคลด้วยพระน้องนาง หรือบางปากกล่าวว่าพระธิดา ของพระองค์) ไม่ช้าก็ส่งพระราชสาส์นให้ทูตถือไปยังกรุงหงสาวดี พระเจ้าหงสาวดีก็ต้อนรับโดยเกียรติยศ ราชทูตก็แจ้งการตามพระราชประสงค์ของเจ้าตนว่า นางซึ่งดองยวงได้ส่งไปว่าเปนพระราชธิดานั้น หาใช่เปนพระราชธิดาไม่ เปนแต่ธิดาของอำมาตย์กรมวังผู้ใหญ่ พระทันตธาตุซึ่งได้ทรงรับไว้ด้วยมโหฬารด้วยสักการเคารพนั้น ทำด้วยเขากวาง แลกล่าวต่อไปว่า พระเจ้ากรุงแกนดีมีพระราชประสงค์ยิ่งนักที่จะใคร่ได้เปนสัมพันธมิตรด้วยพระเจ้ากรุงหงสาวดี จึงได้แต่งให้ตัวมาเพื่อจะได้บอกถวายพระราชธิดาซึ่งเปนพระราชธิดาเกิดจากพระองค์แท้ ไม่เปนแต่สักว่า นอกนั้นอีกได้กราบทูลให้ทราบว่า พระเจ้ากรุงแกนดีเปนผู้ซึ่งได้รักษาพระทันตธาตุแท้จริงของสมเด็จพระพุทธเจ้าไว้ พระทันตธาตุซึ่งว่าดองคอนสแตนไตน์จับได้ที่แยฟนา หรือที่พระเจ้ากรุงหงสาวดีได้ไว้อันถือว่าเปนของแท้จริงนั้น ไม่เปนของแท้จริง แลได้ทรงตระเตรียมที่จะสำแดงจดหมายเหตุโบราณซึ่งจะให้เห็นเปนพยานสำคัญได้ด้วย

พระเจ้าพรัหมะได้ทรงฟังข้อความดังนั้น ก็ทรงพระดำริลังเลในพระทัย แต่ทรงเห็นว่า เจ้าหญิงองค์นั้นคนทั้งปวงได้ทำสัตยานุสัตย์ถวายว่าเปนพระราชินีอัครมเหสีแล้วพระทันตธาตุเล่าก็ได้กระทำสักการบูชารับรองเปนการใหญ่โต แลได้ตั้งไว้ในวิหารซึ่งสร้างขึ้นเฉพาะ จึงได้ตกลงพระทัยที่จะระงับเหตุการณ์อันนั้นเสีย เพื่อจะมิให้ต้องทรงรับว่า พระองค์ถูกการล่อลวง เมื่อทรงพระราชดำริดังนั้นแล้ว จึงได้รับสั่งตอบว่า พระองค์มีพระทัยยินดีในการที่จะได้มีเกียรติยศเปนสัมพันธวงศ์ด้วยราชตระกูลกรุงแกนดี กับทั้งจะได้รับพระทันตธาตุนั้นด้วย แลขอบพระทัยพระเจ้ากรุงแกนดี เพื่อจะให้เปนเครื่องหมายแห่งความนับถือ จึงได้แต่งเรือกำปั่นบรรทุกของเต็มลำส่งไปด้วยทูต พระองค์ให้แต่งเรือสองลำบรรทุกข้าวแลผ้าต่าง ๆ อันมีราคา ลำหนึ่งส่งไปยังดองยวง ลำหนึ่งส่งไปยังพระเจ้ากรุงแกนดี ลำที่ส่งไปถึงดองยวงนั้นส่งพวกคนในบังคับโปรตุเกสทั้งหลายซึ่งได้จับไว้เปนเชลยไปด้วย ในพวกชาวโปรตุเกสเหล่านั้นมีผู้หนึ่งชื่อ แอนตอเนียว โตสคาโน ซึ่งได้เปนผู้เล่าเรื่องราวเหล่านี้ให้ข้าพเจ้าฟังเปนหลายครั้ง เรือทั้งสองลำนั้นได้มาถึงเกาะลังกา เว้นไว้แต่ลำซึ่งสำหรับท่าเมืองแกนดี ถูกเจาะจมเสียก่อนที่จะได้ขนสินค้าขึ้น สิ่งของทั้งปวงก็สูญหมด ทูตก็จมน้ำตาย บางคนกล่าวว่า การอันนี้ได้ทำตามคำสั่งของดองยวง ถ้าเปนเช่นนั้นจริง ก็คงเปนความคิดของอำมาตย์กรมวังผู้ใหญ่ เพราะเหตุว่าเจ้าแผ่นดินนั้นไม่สู้เปนผู้เจ้าความคิดจริงจังอันใดในเรื่องนี้นัก การก็เปนอันจบกันอยู่เพียงนั้น"

คัดจากหนังสือเตนเนนต์ว่าด้วยเมืองลังกา หน้า ๒๑๕ ถึงหน้า ๒๒๑

พระทันตธาตุอื่นอีก

เตนเนนต์ได้กล่าวไว้ว่า "ชาวสิงหฬไม่มีความกระดากใจในการที่จะเพิ่มให้มากขึ้นซึ่งพระทันตธาตุของพระพุทธเจ้า" กุบลายข่านซุ่นตี่ พระเจ้าแผ่นดินกรุงจีนต้นวงศ์ปัจจุบันนี้อันทรงพระเดชานุภาพยิ่งใหญ่ ให้มาทสงบรรณาธิการพระเจ้าหงสาวดี ทูตจีนนั้นเปนคนหยาบคาย พระเจ้าหงสาวดีไม่ฟังคำตักตักเตือนเสนาบดี จับทูตนั้นประหารชีวิตเสีย กุบลายข่านเจ้าแผ่นดินกรุงจีนก็ยกมาตีเมืองพม่า เข้าตีปล้นพระนครอยู่ในประมาณพุทธศักราช ๑๘๒๔ จุลศักราช ๖๔๓ ให้ไปว่ากล่าวเอาจากพระเจ้ากรุงลังกา ได้พระทันตธาตุสององค์ กับทั้งพระเกศธาตุแห่งพระพุทธเจ้า ซึ่งบัญจุในกล่องศิลาเปนอันงาม จดหมายอันนี้เปนของมาโคโปโล เปนชาวเมืองเวนิส ชอบเที่ยว ได้รับราชการอยู่ในกุบลายข่านหลายปี”

คัดจากหนังสือเตนเนนต์แต่งด้วยเรื่องเมืองลังกา เล่ม ๒ หน้า ๒๐๒

ความเห็นของข้าพเจ้าเอง

ในเรื่องเมืองลังกาที่ได้เกี่ยวข้องกับกรุงหงสาวดีตามที่ได้กล่าวแล้วข้างต้นนี้ พิเคราะห์เห็นว่า จะเปนเวลาแผ่นดินของพระมหาปิฏกธร ซึ่งรับพระนามภายหลังว่า พระเจ้าศรีศากยวงศธรรมเจดีย์ มีเกี่ยวข้องกับเมืองลังกาเปนอันมาก เมื่อเทียบดูศักราชก็พลาดกันไปเล็กน้อย ในหนังสือราชาธิราชลงจุลศักราชไว้ว่า เมื่อมหาปิฎกธรถวัลย์ราชย์จุลศักราช ๙๔๙ ปี เปนภายหลังพระเจ้าลังกาส่งนางที่อ้างว่าเปนราชธิดามานั้นยี่สิบเอ็ดปี ถ้าจะเชื่อว่าศักราชในหนังสือราชาธิราชแน่ เวลานั้นก็คงจะเปนเวลาที่ว่างไม่มีเจ้าแผ่นดิน เพราะเวลานั้น เจ้าแผ่นดินหงสาวดีเปนสตรี ตกขึ้นไปอยู่กรุงอังวะถึงยี่สิบสองปี เห็นว่า ไม่ควรที่จะเชื่อถือศักราชในหนังสือราชาธิราช ด้วยลงเลอะเทอะ ควรจะสอบได้ว่าไม่แน่หลายแห่ง ถ้าตกลงใจว่าเหตุการณ์อันกล่าวแล้วข้างต้นได้เกิดขึ้นในแผ่นดินพระเจ้าศรีศากยวงศธรรมเจดีย์แล้ว ก็มีเรื่องราวที่พึงจะสอบกันได้ดังจะกล่าวต่อไปนี้

ดูเหมือนจะดำรงราชย์ล่วงไปไม่ช้านัก คงจะเปนเพราะเหตุที่เล่าเรียนพระไตรปิฎกมาก เห็นหนังสือต่าง ๆ ซึ่งชาวลังกาแต่งพรรณนาเรื่องราวเมืองลังกาวิเศษต่าง ๆ มีมหาวงศ์ แลทีปวงศ์ เปนต้น จึงได้แต่งให้พระสงฆ์แลช่าง มีพระพุทธโฆษาจารย์เปนประธาน ไปถ่ายอย่างปราสาทแลพระพุทธบาทวิหารต่าง ๆ แต่หาปรากฎว่าได้ไปปีใดชัดเจนไม่ แลเหมือนกันกับเมืองเราที่ไม่ได้รู้ชัดเจนมาแต่ก่อนว่า ราชวงศ์เมืองลังกาภายหลังที่กล่าวแล้วในหนังสือมหาวงศ์นั้นเปนอย่างไร รู้แต่ว่า เจ้าแผ่นดินยังมีอยู่ ฝรั่งมีอำนาจเกี่ยวข้องในบ้านเมือง แต่จะมีอาการเกี่ยวข้องกันอย่างใดก็ไม่ทราบความชัด ด้วยเหตุหลายประการ เพราะระยะทางไกลไปมายาก เพราะไม่รู้ภาษา เพราะไม่พอใจไต่ถาม ด้วยความปรารถนาที่จะเกี่ยวข้องกับลังกาย่อมมีความประสงค์อย่างเดียวแต่ที่จะสืบข่าวคราวพระพุทธสาสนา ค้นหาหนังสือซึ่งยังไม่มีบริบูรณ์มาเปนเครื่องเทียบทานหนังสือที่มีอยู่ จดหมายเหตุแห่งผู้ไปลังกาย่อมเดินตามแนวหนังสือมหาวงศ์อันกล่าวล้วนแล้วแต่ด้วยเรื่องสาสนา ในจดหมายเหตุทั้งหลายเราได้เห็นย่อมกล่าวถึงเรื่อสากัจฉา คือ โต้ตอบกันในเรื่องทางธรรมบ้าง ทางวินัยบ้าง เปนการอวดความรู้ภาษามคธหรือบาลีซึ่งเปนภาษาตายด้วยกันทั้งสองฝ่าย อวดความรู้ที่ได้อ่านหนังสือมากโดยแก้ปัญหาขัดข้องต่าง ๆ ให้ต้องตามธรรมวินัย ถ้าจะเปนการสนทนาเล่าบอกกันก็เปนแต่สาสนประวัติความเปนไปของพระสาสนาที่เปนอยู่ในเมืองแห่งตนแลตน ไม่ได้เกี่ยวข้องด้วยความมุ่งหมายในทางราชการหรือทางค้าขายเลยทีเดียว ข้าพเจ้าได้พบผู้มีชื่อเสียงซึ่งได้ออกไปเมืองลังกา เช่น พระยาสุธรรมไมตรี (ห้อง), สมเด็จพระพุฒาจารย์ (ศรี) แลผู้น้อยอื่น ๆ อีก ได้ฟังเล่าบอกเรื่องราว ก็ไม่มีอย่างอื่นนอกจากเรื่องสาสนา ถ้าเราจะถามถึงการบ้านเมืองอย่างใด ก็เล่าได้แต่เพียงการอยู่ การกิน แลการเดินทาง ในทางราชการหรือการค้าขายแล้วไม่สามารถจะบอกอันใดได้เลย ข้าพเจ้าจึงสันนิษฐานว่า เวลาที่มอญคบกันลังกาในตอนนี้คงไม่ผิดอันใดกับเรานัก

ทูตรามัญออกไปลังกาคราวแรกตามที่ได้กล่าวมานี้ ถ้าคิดระยะดู ก็ต้องเปนเวลาที่ย้ายจากเมืองอนุราธมาแล้ว ข้อที่ไปถ่ายอย่างต่าง ๆ เช่นที่กล่าวไว้นั้นเปนที่น่าสงสัยเปนอันมาก เพราะในที่อื่น ๆ นอกจากอนุราธปุระแล้ว หายากที่จะมีสิ่งใดในเมืองลังกาอันควรจะถ่ายอย่าง

ต่อมา มีในจดหมายเหตุพงศาวดารรามัญนั้นว่า พระเจ้าหงสาวดีได้รับพระราชสาส์นจากพระนครต่าง ๆ ถามเชื้อวงศ์เพื่อจะส่งธิดาไปถวาย พระเจ้าหงสาวดีมีพระราชสาส์นตอบอุปมายกพระพุทธวงศ์ขึ้นเปนข้อเปรียบ ไม่แจ้งวงศ์ของพระองค์ แต่ตามหนังสือนั้นกล่าวว่า บรรดาเมืองทั้งปวงพอใจในสำนวนหนังสือของพระเจ้าหงสาวดี พระเจ้าเชียงใหม่เปนคนแรกที่ได้ส่งธิดาไปถวาย ตามข้อความนั้นเหมือนหนึ่งพระเจ้าเชียงใหม่ก็ดี ธิดาก็ดี เชื่อว่าพระเจ้าหงสาวดีองค์นี้จะได้เปนพระพุทธเจ้า อยากจะใคร่เปนพ่อตาแลเปนเมียพระพุทธเจ้า เมืองอื่น ๆ ที่ใกล้เคียงก็ได้ส่งราชสาส์นไปถามปัญหาตอบแก้ปัญหา ส่งเครื่องบรรณาการกันทุกเมือง

การซึ่งเกี่ยวกับเมืองลังกาที่กล่าวอีกก็เรื่องถามปริศนา นับว่าเปนพระเจ้ากรุงลังกาแต่งเรือสำเภาส่งมาให้ถามปริศนา นับว่าเปนครั้งที่สองที่เรือลังกาได้มาถึงเมืองหงสาวดี ครั้งแรกนั้น คือ มาแต่ครั้งพระยาอู่เจ้าช้างเผือก เพราะเหตุที่เกียรติยศอันได้รับทูตลังกานี้มีช้านานครั้งหนึ่งดังนี้ จึงเปนที่ยินดีของพระเจ้าหงสาวดียิ่งนัก จัดการต้อนรับยิ่งกว่าทูตประเทศอื่น แต่ไม่ได้กล่าวถึงนางราชธิดาแลพระทันตธาตุที่ได้รับ ที่สุดจนทูตชั้นหลังที่มาจากเมืองแกนดีก็ไม่ได้กล่าวถึง ชะรอยจะเปนด้วยเรื่องกระดากใจ เพราะมีเหตุปรากฎกลับกลายไปเปนที่เสื่อมเสียพระเกียรติยศ เพราะจดหมายเหตุในเมืองพม่ารามัญเหล่านี้จะเอาเปนแน่เสื่อมเสียพระเกียรติยศ เพราะจดหมายเหตุในเมืองพม่ารามัญเหล่านี้จะเอาเปนแน่แท้อย่างไรไม่ได้ ถ้าสิ่งใดที่เปนการเสียแล้วก็ไม่จดหรือแก้เสียอย่างอื่น เช่น เมื่ออังกฤษมาตีเมืองพม่าคราวแรก เขาจดหมายว่า อังกฤษมาตีปล้นพระนคร พวกทหารออกสู้รับไม่ได้ชัยชนะ เจ้าแผ่นดินแผลงธนูลูกทองคำออกไป ข้าศึกจึงได้ปลาศนาการไปทั้งสิ้น

ในตอนซึ่งว่าเกี่ยวข้องด้วยเมืองจีนก็ได้มีในหนังสือพงศาวดารรามัญที่แปลเปนภาษาเราหลายตอน แต่ข้าพเจ้าสงสัยว่าจะมิใช่ตอนมหาปิฎกธรนี้ คงจะเปนตอนพระเจ้าราชาธิราช มีความเสียดายที่มิได้มีฉบับอังกฤษมาซึ่งมีศักราชแน่นอนกว่า แลเปนเรื่องพงศาวดารแท้ เก็บรวมทั้งพงศาวดารมอญแลพม่าอาสัม เรื่องราชาธิราชแปลเปนไทยนี้ตรงกับชื่อที่เรียก คือ ต้องการจะกล่าวถึงพระเจ้าราชาธิราชองค์เดียว คือ เนื้อความก็พระเจ้าราชาธิราชเปนนายโรงแห่งเรื่องหนังสือนี้ ที่กล่าวถึงผู้อื่นเปนแต่เรื่องประกอบเท่านั้น เมื่อพิเคราะห์ตามอาการกิริยาข้างพระเจ้าศรีศากยวงศธรรมเจดีย์แล้ว เปนผู้สมควรที่จะต้องถูกลังกาหลอกเช่นนั้นแท้ทีเดียว

ข้อความทั้งนี้เก็บมาจากหนังสือราชาธิราชตั้งแต่หน้า ๔๙๔ ถึงหน้า ๕๔๘

การเปิดพระธาตุให้คนดู

พระทันตธาตุนี้รักษาอยู่ในที่ซึ่งเรียกว่า ดาลาดามาลิกาวะ ณเมืองแกนดี ซึ่งเปนเมืองหลวงเก่าอยู่ในท่ามกลางเกาะ วิหารที่เก็บนั้นไม่ใหญ่โตอันใด ตั้งอยู่ในกำแพงพระราชวัง หันหน้าต่อทิศตวันตก มีลานปลูกหญ้าอยู่กลาง ด้านเหนือเปนเทวสถานพระเจ้า ๔ องค์ แลพระราชวั ข้างทิศใต้เปนสระน้ำใหญ่ อีกฟากสระข้างหนึ่งตรงกันกับวิหารพระทันตธาตุ เปนที่ตั้งวัดบุบผาราม นัยหนึ่งชาวลังกาเรียก มาลิวัตตวิหาร ซึ่งว่า พระอุบาลีเถระได้ผูกพัทธสิมาในที่นั้น แต่ข้าพเจ้าไม่ได้ไป ด้านหน้าของวิหารนั้นมีผนังแลซุ้มประตูศิลาลายสลัก ลวดลายทำนองเดียวกันกับโบโรบุโดที่เมืองชวา แต่ข้าพเจ้ามีความสงสัยเปนอันมากว่า จะไม่ใช่ของทำขึ้นเฉพาะสำหรับที่นี้ น่าที่จะรื้อมาจากวิหารเก่าแห่งใดแห่งหนึ่งในเมืองอนุราธปุระซึ่งเปนมหานครโบราณตอนข้างฝ่ายเหนือของเกาะ ด้วยเหตุว่า เครื่องศิลาเช่นนี้ข้าพเจ้าได้เห็นแต่สามแห่ง คือ เสาศิลาตั้งนาฬิกาแดดอยู่เหลังเรือนที่เรียกว่า กวีนส์เฮาส์ คือ เรือนเจ้าเมืองที่เมืองโคลัมโบ มีจารึกไว้ว่า เซออาร์เทอ เอลิแบงกฺ แฮฟว์ลอก ได้มาแต่อนุราธปุระ อีกแห่งหนึ่งที่ตำหนักเจ้าแผ่นดินลังกา มีศิลาเปนวงพระจันทร์ครึ่งซีก กลางสลักเปนกงรถสำหรับวางหน้าประตู อีกแห่งหนึ่งก็ที่วิหารพระทันตธาตุ ข้าพเจ้าจึงสันนิษฐานว่า จะเปนรอมาจากวิหารแห่งหนึ่งแห่งใดในเมืองอนุราธปุระ เมืองแกนดีนีนี้ชาวลังกาเรียกว่า สิงขัณฑะ เปนเมืองหลวงภายหลังเรื่องมหาวงศ์ เหมือนกันกับพระทันตธาตุซึ่งมาภายหลัง ไม่ใช่เปนเจดียสถานเก่าซึ่งปรากฎในเรื่องมหาวงศ์ เมื่อสังเกตดูตามหนังสือต่าง ๆ ที่เขาได้แต่ง แลรูปที่เขาได้ถ่ายลอกจำลองมา กับทั้งคำบอกเล่าของผู้มีบันดาศักดิ์ในประเทศนี้ซึ่งควรเชื่อถือ ข้าพเจ้าเข้าใจว่า ชาติลังกาเดี๋ยวนี้ไม่เหมือนอย่างแต่ก่อน หรือเกือบจะมิใช่คนเชื้อวงศ์อันเดียวกันกับแต่ก่อน เปรียบประดุจเขมรครั้งพระนครวัดแลเขมรในปัจจุบันนี้ ความคิดแลฝีมือทำการช่างต่าง ๆ เปนคนละอย่างคนละประเภท ถ้าจะหยิบเอาสิ่งซึ่งทำแต่โบราณแลสิ่งซึ่งทำใหม่มาวางเข้าสองสิ่ง จะไม่ต้องกันเลยทั้งความคิดทั้งฝีมือ สามารถที่จะให้เข้าใจผิดว่าเปนคนละเมืองกันได้ เหตุทั้งนี้เปนได้ด้วยคนที่มาอยู่เมืองลังกาแต่ก่อนคงจะเปนเชื้อชาติชาวเมืองฝ่ายเหนือในชมพูทวีปซึ่งมีความเจริญก่อนกว่าข้างใต้ ลงมายังเกาะนี้ด้วยเรือ แล้วตั้งอยู่ เช่นที่ปรากฎในเรื่องมหาวงศ์ นำฝีมือช่างแลความคิดข้างฝ่ายเหนือลงมาด้วย พวกนี้เองได้แผ่พ่านไปจนกระทั่งถึงเกาะชวา ฝีมือจึงได้ละม้ายคล้ายคลึงกัน เมื่อภายหลังตั้งเปนบ้านเมืองขึ้นแล้ว ชนในชมพูทวีปฝ่ายใต้อาศัยความบริบูรณ์ของเกาะนี้ไปมาค้าขายแลลงมาตั้งอยู่มากขึ้นทุกที เมื่อเกิดการจลาจลขึ้นในเมือง บางคราวก็มีอำนาจแทรกแซงขึ้นเปนเจ้านายได้ ความคุ้นเคยแลความนับถือกันแลกันกับคนในพื้นเมืองที่มาแต่ฝ่ายเหนือก็เจริญขึ้น จนถึงอาวาหวิวาหมงคลกันแลกัน เกิดบุตรแลหลานกลายเปนชาติชาวลังกาขึ้นใหม่อีกอย่างหนึ่งซึ่งจะเยกว่าชาวลังกาแท้ก็ได้ ภายหลังเมื่อเกิดจลาจลอันใด ฆ่าฟันกันตายไปมาก ๆ พวกในชมพูทวีปข้างใต้ก็เพิ่มเติมมากขึ้นตามลำดับ ข้าพเจ้าได้ทราบจากผู้ที่ควรเชื่อบอกว่า คนในเกาะลังเดี๋ยวนี้น้อยกว่าแต่ก่อนเปนอันมาก ที่เมืองอนุราธปุระยังค้นพบรอยซึ่งเปนที่คนอยู่กว้างออกไปเสมอมิได้ขาด ข้าพเจ้าจะยังไม่กล่าวยืดยาวในเรื่องนี้ ด้วยเหตุว่ายังไม่สมควรจะกล่าวเลย เพราะยังไม่ได้ไปเห็นเมืองอนุราธปุระซึ่งเปนเมืองมีการก่อสร้างอันวิเศษของโบราณ น่าที่จะดียิ่งกว่าเกาะชวาเปนอันมาก ที่กล่าวบัดนี้เพื่อจะรวมความว่า เมืองลังกาตอนกลางลงมาหาใต้ซึ่งข้าพเจ้าได้มาอยู่บัดนี้ ไม่เปนถิ่นที่ซึ่งกล่าวไว้ในคัมภีร์มหาวงศ์ซึ่งเราทั้งหลายมีความพิศวงเลื่อมใสเปนอันมากนั้น พระทันตธาตุนี้ไม่เปนสิ่งสำคัญซึ่งเรามีน้ำใจชื่นชมยินดีมาแต่ก่อนเปนการสมควรแท้จริง เมื่อได้เห็นถิ่นที่แลได้เห็นสิ่งของทั้งปวง คงไม่เปนเครื่องที่น่าพิศวงหรือน่าเลื่อมใสอันใด อากูลมูลมองไปด้วยสิ่งแลด้วยเรื่องที่จะพึงน่ารังเกียจหรือน่ากระดากใจหลายประการอันไม่ควรจะกล่าวในที่นี้

เมื่อจะกล่าวถึงวิธีซึ่งเปิดพระทันตธาตุให้คนดูหรือนมัสการ ก็จะต้องข้ามเรื่องที่จะพรรณนาถึงเหตุการณ์เหล่านั้นเสีย กล่าวต่อไปว่า พระทันตธาตุนั้นร้อยอยู่ในห่วงลวดซึ่งปักอยู่ในกลางดอกอุบลทำด้วยทองคำ มีพระเจดีย์ครอบเปนชั้น ๆ จนถึงชั้นในที่สุดเปนกล่องประดับเพชรพลอยงามดี องค์นอกที่สุดมีสังวาลหลายอย่าง สังเกตได้แต่ว่าเปนอย่างพม่านั้นสายหนึ่งสวมอยู่ สัณสัณฐานพระทันตธาตุก็ไม่ผิดอันใดกับที่จำลองนัก แต่จะเปนด้วยเก่า หรือด้วยจะเปนสีดอกพิกุลแห้ง จึงได้มีสีคล้ำมัวเหมือนงาที่ทำเครื่องมืออันใช้เก่า ๆ แต่ไม่เปนสีเดียวเสมอกัน ที่ซึ่งเก็บนั้นเปนห้องไม่มีหน้าต่าง มีแต่ประตูด้านเดียว มีประแจสามดอก ผู้ซึ่งรักษาซึ่งเรียกว่า ระเตมะหัตตะเมยะ ซึ่งแต่งตัวนุ่งผ้ายาวยี่สิบเจ็ดวา เก็บดอกหนึ่ง พระเก็บสองดอก ในนั้นมีสิ่งอื่น ๆ ที่มีราคาหลายอย่าง แต่ยากที่จะเห็นได้ถนัด เพราะมืด ต้องจุดไฟ แลไม่จุดหลายดวงนัก ดูเหมือนเจ้าพนักงานผู้รักษาจะพอใจให้เปนเช่นนั้นด้วย การที่จะบูชาด้วยประทีบย่อมไม่เปนที่ต้องใจของผู้รักษา ข้าพเจ้าได้เห็นหนังสือเขียนด้วยลานทองสองผูก ผูกหนึ่งซึ่งเข้าใจว่า ส่งไปแต่พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ กรุงสยาม หนึ่งร้อยห้าสิบปีเศษมาแล้วนั้น ข้าพเจ้าได้พลิกดู ร้อยลานกลับต้นเปนปลาย เขียนด้วยอักษรขอม ขึ้นต้นเปนวิธีอุปสมบท แล้วกฐิน ผูกแลถอนสีมา ข้างปลายมีบานแพนกเขียน แปลร้อยได้คำที่จารึกนั้นมา ศักราชลงว่า ๑๐๐๐๕ ถ้าจะเข้าใจโดยคำว่า พันห้า ก็เปนก่อนเวลาแผ่นดินพระเจ้าบรมโกศ แลทั้งสังเกตดูถ้อยคำในนั้นประกอบด้วยรูปตัวอักษรเห็นเปนหนังสือขอมที่เขมรเขียน หาใช่ไปจากกรุงสยามไม่ อีกผูกหนึ่งนั้นไม่ได้ดู ด้วยผู้รักษาหวงแหนเหลือเกินราวกับว่าผู้หนึ่งผู้ใดจะวิ่งราวไปจากที่นั้น ยังมีพระแก้วอีกองค์หนึ่งซึ่งหน้าตักประมาณสักสี่นิ้ว สังเกตดู ไม่ใช่ฝีมือลังกา สีคล้ายมรกต ส่องโปร่ง มีที่ชำรุดบ้าง จะสังเกตว่าเปนเนื้อศิลาหรืออันใดก็ยาก ด้วยสว่างไม่พอ แลเขาไม่สู้จะให้ดูนานนัก คนก็เข้าเต็มแน่น ถ้าผู้ใดขืนอยู่ช้าก็อาจจะเปนลมได้ ด้วยต้องการลมสำหรับหายใจ ข้าพเจ้าได้คัดคำบานแพนกในคัมภีร์นั้นมาลงไว้ในที่นี้ด้วย เห็นว่า การที่คัดนั้นมิใช่ง่าย ต้องทำทุกรกิริยาเปนอันมาก

การที่จะเปิดพระทันตธาตุให้คนดูเปนการเปิดเผยนั้น นาน ๆ มีครั้งหนึ่ง ในเวลาเมื่อพระเจ้าแผ่นดินลังกายังมีอยู่ เปิดครั้งหลังที่สุดแผ่นดินพระเจ้ากีรติศรี[40] ในราวพุทธศักราช ๒๓๑๘ จุลศักราช ๑๑๓๗ เปนปีที่พระอุบาลีเถระกับราชทูตกรุงสยามตามคำเชื้อเชิญของพระเจ้ากีรติศรีให้ไปสืบสาสนวงศ์ในเมืองลังกา เพราะเวลานั้น พระสงฆ์ในเมืองลังกาสาบสูญสิ้นไป พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศจึงได้ทรงจัดพระสงฆ์สิบรูป กับทูตานุทูต ให้เชิญพระพุทธรูป พระธรรม แลพระราชสาส์นออกไป ซึ่งจดหมายระยะทางของราชทูต แลวิธีซึ่งเชิญพระทันตธาตุออกให้ราษฎรดูอย่างไร ยังมีอยู่ในห้องอาลักษณ์ แลได้ลงพิมพ์ในหนังสือวชิรญาณ แต่จะเปนฉบับใดข้าพเจ้าจำไม่ได้ ต่อมาอีก มีครั้งหนึ่งเมื่อพุทธศักราช ๒๓๗๑ จุลศักราช ๑๑๙๐ แลเมื่อไม่กี่ปีนี้อีกครั้งหนึ่ง การที่เปิดให้คนดูเช่นนี้ เพื่อประสงค์จะได้เงินปฏิสังขรณ์ที่วิหารพระทันตธาตุ ชนชาวสิงหฬทั้งปวงย่อมพากันแตกตื่นไปนมัสการแลเข้าเรี่ยไรทั่วทั้งสกลลังกาทวีป

ในระหว่างซึ่งมิได้มีการเปิดให้คนนมัสการมากเช่นนั้น ย่อมเปิดให้ผู้มีบันดาศักดิ์ต่างประเทศสำคัญ ๆ ดูบ้างเปนครั้งเปนคราว แต่โดยปรกติที่เปิดให้ชาวลังกาบูชานั้น เปนแต่ไปนมัสการภายนอก หาได้เห็นองค์พระทันตธาตุไม่

เมื่อจะกล่าวตามคนต่างประเทศเขากล่าว ที่เขาได้พิจารณาวาดเขียนจำลองถ้วนถี่ เขาว่า ทำด้วยงาช้างซึ่งเสียสี เปนของพระเจ้าวิกรมพาหุคิดทำขึ้น ไม่เปนสัณฐานพันธุ์มนุษย์ เพราะสิ่งที่จริงแท้นั้น โปรตุเกสได้ทำลายเสียที่เมืองคัวดังได้กล่าวมาแล้ว แต่ตามความเห็นของข้าพเจ้า เห็นว่า ถึงพระทันตธาตุซึ่งว่าโปรตุเกสทำลายเสียนั้นจะเชื่อว่าแท้ก็ไม่ได้ ด้วยพาไปซ่อนเร้นหมกฝังเสียเปนหลายครั้งมาแล้ว

แห่เปะระเหะระ

พระเจ้าแผ่นดินในลังกาชั้นหลัง ๆ ลงมาย่อมเปนเชื้อสายแห่งหรือเปนฮินดูโดยมาก เพราะฉนั้น ในเมืองแกนดีจึงได้มีเทวสถานอย่างฮินดูเปนอันมาก เปนธรรมเนียมที่ต้องแห่พระเปนเจ้าของฮินดูทุกปี ไม่เกี่ยวข้องกันใดกับพระพุทธสาสนา ครั้นเมื่อพุทธศักราช ๒๓๑๘ พระเจ้ากรุงลังกาได้เชิญพระสงฆ์กรุงสยามออกไปให้อุปสมบทชำระพระพุทธสาสนาให้พระสงฆ์ประพฤติอยู่ในศีลบริสุทธิ์อย่างสูง เสร็จแล้วพระอุบาลีเถระเจ้าได้ยินเสียงอื้ออึงตระเตรียมการที่จะแห่พระเปนเจ้าฝ่ายฮินดู ดังนั้น จึงได้ถวายพระพรแก่พระเจ้าแผ่นดินในเวลาเย็นวันนั้นว่า ควรที่จะเชิญพระสถูปขึ้นประดิษฐานเหนือช้างพระที่นั่งแห่ไปหน้าพระเปนเจ้าทั้งหลาย เพื่อให้การบูชาทั้งหลายนี้เปนพุทธบูชา แต่พระสงฆ์ทั้งปวงหาได้เข้ากระบวนแห่หรือช่วยจัดการอันใดไม่ นอกจากให้ยืมช้าง วัด แลพระเจดีย์ซึ่งทำประหนึ่งว่าทรงพระทันตธาตุ แต่หาได้มีพระทันตธาตุในนั้นไม่ กับทั้งมณฑปเงินกาไหล่ทองซึ่งเปนที่ประดิษฐานพระเจดีย์

กระบวนแห่นี้ได้แห่เปนเวลากลางคืน สว่างไปด้วยแสงไต้ ประโคมสังข์แตรฆ้องกลองปี่แลมีโลดเล่นเต้นรำไปในกระบวน ช้างที่ทรงพระเจดีย์นั้นปกคลุมไปด้วยผ้าสักหลากแดงติดขลิบทอง ที่ผ้าคลุมหน้าใต้โขมดลงมาปักไหมทองเปนพระพุทธรูปนั่ง มีเครื่องสูง บังสูรย์ จามร ทำด้วยแพรสีต่าง ๆ แต่รูปร่างไม่เหมือนเครื่องแห่ของเรา เหมือนตาลิปัตรวินัยธร วินัยธรรมหัวเมือง หรือสมุห์ใบฎีกาบ้างต่าง ๆ เมื่อข้าพเจ้าไป เขาก็จัดการแห่นี้ขึ้นให้ดูเปนการพิเศษ แลแห่ผ่านมาหน้าที่อยู่ แต่ข้าพเจ้าหาได้ออกไปดูไม่ ซึ่งกล่าวถึงได้ดังนี้เพราะเขาจัดมาเรียงรายตามทางพร้อมทั้งเครื่องประโคมต่าง ๆ ตลอดสองข้างทางในเวลาที่จะขึ้นไปบนวิหารพระเขี้ยวแก้วนั้นด้วย

เรื่องพระสงฆ์ลังกา

เวลาที่ข้าพเจ้าไปอยู่น้อยนัก ไม่พอที่จะไต่สวนอันใด อาศัยแต่สังเกตด้วยตาแลฟังคำเล่าบอกบ้างเล็กน้อย คงได้ความว่า แยกหมู่แยกคณะกันเปนอันมาก ไม่มีผู้ใดเปนใหญ่บังคับบัญชาทั่วไป ฝ่ายอาณาจักรก็มิได้เกี่ยวข้องอันใดในการสาสนา เขามิได้รื้อถอนคุมเหงเหมือนครั้งโปรตุเกส แต่อาศัยที่มีมีผู้ใดจะตราสินข้อที่ถูกที่ผิด หมู่ใดมีทิฏฐิอย่างใดก็ประพฤติตนไปตามทิฏฐิตน ที่เปนหมวดใหญ่หรือต่างวงศ์กันอยู่นั้นสามจำพวก คือ อุบาลีวงศ์ หรือนัยหนึ่งเรียกว่า สยามวงศ์ นี้ มากทั่วไปทั้งเกาะ พวกที่สอง คือ อมรปุรวงศ์ หรือ มรัมวงศ์ พวกพม่าพวกหนึ่ง มักจะอยู่ตามชายทะเลฝ่ายใต้ พวกที่สาม คือ รามัญวงศ์ ตั้งขึ้นใหม่ ก็ตั้งอยู่ตามชายทะเลเหมือนกัน ในสามพวกนี้แบ่งกันออกไปอีกพวกละหลาย ๆ คณะ ไม่อยู่ในบังคับกัน มีทิฏฐิต่าง ๆ กัน เปนต้นว่า พวกอุบาลีวงศ์โดยมากไม่ห่มคลุมเลย จะไปแห่งหนึ่งแห่งใดก็ห่มพาดควายเท่านั้น ไมใช่รัดคดอก อีกพวกหนึ่งห่มคลุมแลเลิกผ้าขึ้นข้างล่างเหมือนอย่างพระมหานิกาย ในสองพวกนี้ก็เถียงกัน ข้อที่เถียงนั้นก็เลวทรามเต็มที พวกที่ไม่ห่มคลุมอ้างว่า ไม่เห็นรูปพระพุทธเจ้าที่ทำไว้แห่งไรห่มสองไหล่ พวกที่ห่มคลุมแต่เลิกผ้าข้างล่างทราบลัทธิธรรมยุติกาในกรุงเทพฯ บ้าง ค้นวินัยพบ ลงเนื้อเห็นด้วยว่า ไม่สู้เปนปริมณฑล เปลี่ยนแปลงแหวกผ้าทางลูกบวบ ยกลูกบวบขึ้นบ่า แต่คงม้วนขวาอยู่ตามเดิม แต่พวกอื่นห่มอย่างรามัญ คือ ม้วนซ้าย แต่ไม่ยกผ้าชายในขึ้นบ่าหรืออย่างไร พาดขึ้นไปบนบ่าแล้วแลเห็นผิดกันกับธรรมยุติกา ที่ห่มคล้ายธรรมยุติกามีอยู่น้อยองค์ที่ได้เข้ามากรุงเทพฯ ข้างฝ่ายรามัญถือไม่ใช้รองเท้า ไม่กั้นร่ม ใช้แต่ใบตาลป้องศีรษะ ไม่ห่มแพร พวกไม่ห่มคลุมนั้นมักใช้จีวรแพรต่วนเหลืองอนุวาตเล็ก ๆ กั้นร่มแพร สวมรองเท้าอยู่ข้างจะสูง คนในเกาะลังกาย่อมสรรเสริญพระรามัญนิกายมากกว่านิกายอื่น ๆ พระสงฆ์ข้างฝ่ายเมืองแกนดีไม่สู้เอื้อเฟื้อนิกายอื่น ๆ ข้างฝ่ายท่าอยู่ข้างจะเอื้อเฟื้อแลรู้ตื้นลึกหนาบาง อุบาลีวงศ์บางนิกายโกนคิ้ว ดูอาการกิริยาคล้ายพระกรุงเทพฯ เห็นว่า ต้องการอยากจะประพฤติเหมือนพระในกรุงมาก ข้อเถียงกันต่าง ๆ มีมากนัก ข้าพเจ้าจะไม่กล่าวในที่นี้ การปกครองฝ่ายอังกฤษถือเหมือนราษฎรสามัญ ข้าพเจ้ามีความสงสัยมากว่า ถ้าทำผิดด้วยอาญาจักรไม่ถึงปาราชิกแล้ว เขาจะลงโทษทั้งเพศสมณะหรือประการใด แต่ครั้นเมื่อถามขึ้น ก็กลั้นหัวเราะไม่ได้ ด้วยไม่ควรจะเขลาเช่นนั้นเลย คือ เมื่อทำผิดอันใด ที่โทษควรจำคุก เขาก็ให้เสื้อกางเกงที่สำหรับคนคุกแต่ง จะสึกหรือมิสึกก็ตามใจ เมื่อต้องสวมเสื้อกางเกงแล้ว ก็เปนพระต่อไปไม่ได้อยู่เอง

  • เรือพระที่นั่งจักรี
  • ในมัชฌันตรวิถี ทะเลอาหรับ
  • วันที่ ๒๗ เมษายน รัตนโกสินทรศก ๑๑๖

ศักราช ๑๐๐๐๕ สังเขปพระราชโองการ รามาธิบดีศรีสินทร ภูมินทรวเนศวร กัมพลกัมพุชาธิราช บรมราชบรมบพิตร ควรนสังเขป พระจักรวัติศรีสธินทรยโสรธร บรมราชชายามหาอัครมเหษี พระพิธรณินธรเชษเชษฐ สัทธาสาสนลิขิตตักษร สุวัณณบัตตกัมมวาจา นิพพานปัจจโยโหตุ อนาคเตกาเล จิรัฏฐตุสัทธัมโม