เสตบัณฑิตชาดก

จาก วิกิซอร์ซ

พระศาสดาเมื่อทรงอาศัยพระนครกบิลพัสดุื ประทับอยู่ในนิโครธาราม ทรงปรารถถึงทานบารมี ศีลบารมี กล่าวคือการสละชีวิตของพระองค์เพื่อประโยชน์ให้แก่พระอานนท์ จึงตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า อหํ สกฺโกมิ โมเจตุํ ดังนี้ ความมีอยู่ว่า ในกาลนั้น มีพราหมณ์คนหนึ่งชื่อว่าธรรมบาล อยู่ในนครพาราณสี เลี้ยงหนูเผือกโพธิสัตว์ไว้ตัวหนึ่ง มีสีเหมือนสังข์ หนูเผือกโพธิสัตว์นั้นรักษาศีลห้า บางวันรักษาศีลตั้งแต่เวลาเช้าจนถึงเวลาเที่ยง บางวันรักษาศีลตั้งแต่เวลาเที่ยงไปจนถึงเวลาเย็น พราหมณ์ธรรมบาลนั้น เดิมเป็นทาสของมหาเศรษฐี พราหมณ์ได้อาศัยหนูเผือกโพธิสัตว์นั้นจึงได้ทรัพย์เป็นอันมาก มีทั้งทาสทาสีเงินทองบริบูรณ์มั่งคั่งในกาลนั้น มหาเศรษฐีเวลาไปสู่ที่บำรุงของกษัตริย์ ได้แวะมาเล่นกันหนูเผือกโพธิสัตว์ที่รักษาศีลห้านั้น เล่นอยู่ตั้งแต่เวลาเช้าจนเวลากลางวันบ้าง ตั้งแต่เวลากลางวันจนถึงเวลาเย็นบ้างเป็นนิจนิรันดร์มา เมื่อมหาเศรษฐีเล่นอยู่ได้จับที่ตัวหนูเผือกนั้นแล้วเอามือลูกศีรษะของหนูเผือกนั้นหยอกเล่นอยู่ หนูเผือกโพธิสัตว์นั้น คิดว่า วันนี้ท่านเศรษฐีมาเล่นกับเรา จะทำลายศีลเรา การที่ท่านเศรษฐีมาเล่นกับเรา ไม่สมควร เป็นบาป ท่านเศรษฐีมาจับเราไว้มั่นคง ความเวทนาจะมีแก่เรา บาปจะมีแก่มหาเศรษฐีนั้น ท่านมหาเศรษฐีจะทุบ จะขว้างไป ให้ตกเหนือภาคพื้น ความเวทนาจะเกิดแก่เรา บาปจะมีแก่เศรษฐีนั้น เพราะเหตุนั้น ขอท่านมหาเศรษฐีอย่ามาเล่นกับเราเลย เราก็จะไม่เล่นกับท่านมหาเศรษฐี อยู่มาวันหนึ่ง ท่านมหาเศรษฐีมาจากที่เฝ้าบรมกษัตริย์ พระมหาโพธิสัตว์จึงเข้าไปใกล้กล่าวว่า ข้าแต่ท่านมหาเศรษฐี ข้าพเจ้ารักษาศีลห้า วันนี้ ท่านก็ดี พราหมณ์ก็ดี อย่าได้เล่นกับข้าพเจ้าเลย ถ้าท่านเล่นกับข้าพเจ้าแล้ว บาปเป็นอันมากก็จะหลั่งไหลมาถึงท่าน ถ้าท่านไม่เล่นกับข้าพเจ้าแล้ว บุญกุศลเป็นอันมากก็จะหลั่งไหลมาถึงท่าน ท่านก็จะได้ประสบหนทางที่จะไปยังสวรรค์ พราหมณ์ ได้ฟังวาจานั้นแล้ว บันดาลความโกรธหนูเผือกโพธิสัตว์นั้น จึงบังคับทาสกรรมกรว่า เจ้าจงจับหนูไปทุบศีรษะ โยนทิ้งเสียที่พื้นดิน แต่ท่านมหาเศรษฐีกลับได้คิดว่า การที่เราจะเอาหนูไปขายถึงจะได้ทรัพย์มามาก สักร้อยตำลึง พันตำลึง ก็ไม่สมควร เราก็ดี พราหมณ์ก็ดี ได้เป็นผู้มีโภคสมบัติมากก็เพราะอาศียหนูนี้ เพราะเหตุนั้น อุปัทวะอันตราย จักบังเกิดมีแก่เรา เราจะต้องไปยังทุคติ ถ้าเราจะไม่กระทำอันตรายแก่หนู เราจักได้ไปสวรรค์ จึงรีบลุกขึ้นไปชิงเอาหนูได้แล้ว ออกจากเรือนของพราหมณ์ ไปได้ไม่ไกลก็ล้มลง ได้รับทุกขเวทนามาก หนูเผือกนั้นหลุดไปจากมือท่านมหาเศรษฐีแล้วก็หนีเข้าป่าหิมพานต์ไป ส่วนพราหมณ์ได้ยินเสียงร้องครวญครางของท่านมหาเศรษฐีแล้ว ออกจากเรือนไปดู ได้เห็นมหาเศรษฐี ก็ตกใจ จึงได้เอาน้ำไปรดให้ท่านมหาเศรษฐี จนท่านมหาเศรษฐีได้สติลุกขึ้นนั่งได้ ก็พาเข้าไปพักในเรือน ตั้งแต่วันที่หนูออกจากเรือนไปแล้ว พราหมณ์ก็ใช้ทรัพย์สินไป ต้องขายทาส ขายทาสี ขายบุตรธิดา ขายภรรยา ขายเรือน ขายผ้านุ่งห่ม ต้องนุ่งผ้าห่มขาด ถือกระเบื้องเที่ยวขอทาน ได้ความขัดสน เลี้ยงชีวิตด้วยความลำบาก ครั้นล่วงไปได้ปีหนึ่ง พระมหาโพธิสัตว์คิดถึงำพราหมณ์ผู้เป็นนายผู้อยู่ในพระนคร จึงออกจากป่ามาไม่เห็นเรือนของพราหมณ์ ได้เห็นพราหมณ์ผู้มีกลิ่นตัวเหม็น มีกระเบื้องสำหรับขอทาน นอนอยู่ใต้รถคร่ำคร่า ในเรือนของคนอื่น ก็มีน้ำตาหลั่งไหลเข้าไปจูบเท้าพราหมณ์ แล้วปลุกว่า ข้าแต่เจ้านาย ท่านจงลุกขึ้นเถิด พราหมณ์ได้ยินดังนั้นแล้วจึงถามว่าใคร หนูจึงพูดว่า เจ้านาย ข้าพเจ้าชื่อว่าเสตะ พราหมณ์ลุกขึ้น เห็นหนูเผือก ก็จำได้ แล้วระลึกขึ้นมาได้ถึงสมบัติของตนก็ร้องไห้ หนูเผือกจึงปลอบว่า ข้าแต่ท่านมหาพราหมณ์ ท่านอย่าคิดไปเลย ท่านพึงขายข้าพเจ้า แต่อย่าขายแก่เศรษฐี ท่านพึงพาข้าพเจ้าไปขายในราชสำนักเถิด พอแสงอรุณขึ้นมา พราหมณ์ก็อุ้มหนูเผือกนั้น เข้าไปยังพระราชนิเวศน์ พระราชาทอดพระเนตรเห็นพราหมณ์แล้ว ตรัสถามพราหมณ์ว่า ท่านอยู่ถึงแว่นแคว้นไหน จึงได้เอาหนูมาจนถึงที่นี่ ท่านอยากจะได้ทรัพย์สักหมื่นกหาปณะ หรือสักแสนกหาปณะ หรือสักเท่าไรหนอ พราหมณ์จึงกราบทูลว่า ข้าพระบาทอยากได้โค ๑๐๐ ตัว ช้าง ๑๐๐ เชือก นางทาสีร้อยนาง ทาสร้อยคน นางกัญญาร้อยนาง เรือนร้อยหลัง และสมบัติทั้งปวงอย่างละร้อยๆ พระพุทธเจ้าข้า พระราชา ทอดพระเนตรเห็นหนูเผือกนั้นแล้ว ทรงบันเทิงพระทัย แล้วทรงรับเอาหนูไว้โดยเคารพ ทรงจุมพิตที่ท้องหนูบ้าง ที่ศีรษะหนูบ้าง จึงพระราชทานสรรพสมบัติอย่างละร้อยกับทั้งเครื่องประดับทั้งปวงแก่พราหมณ์ แล้วกระทำสักการะใหญ่แก่หนูนั้น ลำดับนั้น พราหมณ์ได้รับสมบัติทั้งปวงไปแล้ว ก็เป็นผู้มียศใหญ่ดังแต่ก่อน หนูนั้นแสดงธรรมสั่งสอนบรมกษัตริย์กับหมู่มหาชนให้ตั้งอยู่ในธรรม ส่วนบรมกษัตริย์กับทั้งชาวพระนครทั้งปวงตั้งอยู่ในโอวาท บำเพ็ญมหาทานรักษาศีล เพราะเหตุนั้น พระราชาและมหาชน จึงพากันขนานนามหนูเผือกโพธิสัตว์นั้นว่า ธรรมเสตบัณฑิต หนูเผือกโพธิสัตว์นั้น แสดงธรรมอยู่ในพระราชสำนักมาสิ้นกาลนาน ส่วนกษัตริย์กับทั้งมหาชน ตั้งอยู่ในโอวาทของพระมหาโพธิสัตว์ ครั้นกระทำกาลกิริยา ไปยังเกิดในเทวโลก ส่วนพระมหาโพธิสัตว์ ออกจากพระนครไปอยู่ในหิมวันตประเทศ รักษาศีลห้าประการอยู่ในที่รัมณียสถาน ครั้นสิ้นอายุแล้วก็ไปยังเกิดในเทวโลก พระศาสดาครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแสดงแล้ว ทรงประชุมชาดกว่า พระราชาในกาลนั้น กลับชาติมาเกิดเป็นพระสารีบุตรในกาลนี้ ท้าวสักกเทวราชในกาลนั้น กลับชาติมาเป็นพระอนุรุทธะในกาลนี้ ธรรมปาลพราหมณ์ในกาลนั้น กลับชาติมาเป็นพระมหากัสสปะในกาลนี้ มหาเศรษฐที่ได้ขนหนูไว้ในกาลนั้น กลับชาติมาเป็นพระอัมพัตถเถระในกาลนี้ เทพยดาทั้งหลายในกาลนั้น กลับชาติมาเป็นพุทธสาวก หนูผู้ทรงศีลชื่อธรรมเสตะในกาลนั้น กลับชาติมาเป็นพระสัพพัญญูอุดมกว่าสัตว์สองเท้า ดังนี้