เสนาบดีมหาดไทยและนครบาล

จาก วิกิซอร์ซ
ตราของกรมศิลปากร
ตราของกรมศิลปากร
เสนาบดีมหาดไทยและนครบาล
สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายา
โปรดให้พิมพ์ในงานทำบุญ ๑๐๐ วันศพ
เจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (ปลื้ม สุจริตกุล)
ณวันศุกรที่ ๒๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๗
พิมพ์ที่โรงพิมพ์พระจันทร์ ท่าพระจันทร์
จังหวัดพระนคร

คำนำ

ในการทำบุญร้อยวันศพท่านเจ้าพระยาสุธรรมมนตรีครั้งนี้ ข้าพเจ้าได้รับมอบฉันทะจากบุตรธิดาของท่านให้หาหนังสือพิมพ์ให้ ข้าพเจ้ากำลังมีธุระมากหลาย ไม่รู้จะหยิบเรื่องอะไรเหมาะ เผอิญพระยาราชเสนา เพื่อนของข้าพเจ้าคนหนึ่ง ได้ส่งรายชื่อเสนาบดีมหาดไทยและนครบาลตั้งแต่รัชชกาลที่ ๑ จนถึงเวลาก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองมาให้ข้าพเจ้า หนังสือเรื่องนี้ นัยว่า พระยาราชพินิจจัย (อุทัยวรรณ อมาตยกุล) รวบรวมไว้บ้าง พระยาสุนทรเทพกิจจารักษ์ (ทอง จันทรางศุ) รวบรวมไว้บ้าง ข้าพเจ้าเห็นว่า เป็นตำนานอันหนึ่งที่มีประโยชน์ในการค้นคว้า ถึงแม้ว่า จะไม่เกี่ยวข้องกับหน้าที่ราชการของท่านเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี ก็เป็นหนังสือที่มีประโยชน์เรื่องหนึ่ง จึงให้พิมพ์เรื่องนี้ และให้ชื่อเรื่องว่า “เสนาบดีมหาดไทยและนครบาล”

  • หอสมุดแห่งชาติ
  • ๑๔ กรกฎาคม ๒๔๗๗

ตำนานบางอย่างเกี่ยวแก่กระทรวงมหาดไทย
ตำแหน่งเสนาบดีมหาดไทย
รัชชกาลที่ ๑

เจ้าพระยารัตนาพิพิธ (สน) ข้าหลวงเดิม ได้เป็นที่พระอักขรสุนทร เสมียนตรากรมมหาดไทยครั้งกรุงธนบุรี ได้ตามเสด็จการสงครามมีความชอบหลายครั้ง ได้รับราชการต่างพระเนตรพระกรรณมามิได้มีความผิด โปรดให้เป็นที่สมุหนายกเมื่อปราบดาภิเศก อสัญญกรรมในรัชชกาลที่ ๑ เป็นต้นสกุล สนธิรัตน์

รัชชกาลที่ ๒

โปรดเกล้าฯ ให้พระยาพระคลัง (กุญ) เลื่อนยศขึ้นเป็นเจ้าพระยารัตนาธิเบศร์ ที่สมุหนายก

เจ้าพระยารัตนาธิเบญ (กุญ) นี้ เป็นต้นสกุล รัตนกุล อสัญญกรรมในรัชชกาลที่ ๒

เจ้าพระยารัตนาธิเบศร์ (กุญ) ถึงอสัญญกรรมแล้ว ทรงตั้งเจ้าพระยายมราช (น้อย) บุตรเจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช (บุญรอด) ต้นสกุล บุณยรัตนพันธุ์ เป็นเจ้าพระยาอภัยภูธร ที่สมุหนายก อสัญญกรรมในรัชชกาลที่ ๓

รัชชกาลที่ ๓

เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์) เดิมเป็นที่พระยาราชสุภาวดี เป็นบุตรเจ้าพระยาอภัยราชา (ปิ่น) และเป็นต้นสกุล สิงหเสนี เป็นสมุหนายกต่อจากเจ้าพระยาอภัยภูธร (น้อย) อาสัญญกรรม พ.ศ. ๒๓๙๒ ในรัชชกาลที่ ๓

เจ้าพระยานิกรบดินทร์ (โต) เป็นต้นสกุล กัลยาณมิตร ได้ว่าที่สมุหนายกต่อจากเจ้าพระยาบดินทร์เดชา (สิงห์) จนตลอดรัชชกาลที่ ๓

รัชชกาลที่ ๔

ถึงรัชชกาลที่ ๔ เจ้าพระยานิกรบดินทร์ได้เป็นตัวสมุหนายก อสัญญกรรมเมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๖ ในรัชชกาลที่ ๔

เจ้าพระยาภูธราภัย (นุช) เป็นบุตรเจ้าพระยาอภัยภูธร (น้อย) เป็นที่สมุหนายกต่อจากเจ้าพระยานิกรบดินทร์ (โต) อสัญญกรรมเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๑ ในรัชชกาลที่ ๕

รัชชกาลที่ ๕

เมื่อเจ้าพระยาภูธราภัย (นุช) อสัญญกรรมแล้ว สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ ทรงดำรงตำแหน่งสมุหนายกต่อมา สิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๙

เจ้าพระยารัตนบดินทร์ (บุญรอด กัลยาณมิตร) เป็นสมุหนายกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๙ ครั้นชราทุพพลภาพ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พ้นจากราชการ แต่คงตำแหน่งสมุหนายก (น่าจะเป็นทำนองเสนาบดีที่ปรึกษาอย่างสมัยนี้ รัชชกาลที่ ๖) มีโอกาสเข้าที่ประชุมเสนาบดีได้เป็นครั้งเป็นคราว และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระดำรงราชานุภาพ (เมื่อเป็นพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่น) จากกระทรวงธรรมการมาเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย

รัชชกาลที่ ๖

เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๕ กรมพระดำรงประชวร กราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย (เป็นเสนาบดีที่ปรึกษา) พระยามหาอำมาตยาธิบดี (เส็ง วิริยศิริ) เป็นผู้รั้งตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ประกาศลงวันที่ ๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๕๘

ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยามหาอำมาตยาธิบดีไปเป็นอุปราชภาคตะวันตก ย้ายเจ้าพระยาสุรสีห์วิสิษฐศักดิ์ (เชย กัลยาณมิตร) อุปราชมณฑลภาคพายัพ มาเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ประกาศลงวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๘ ภายหลังป่วย กราบถวายบังคมลา พระราชทานพระบรมราชานุญาตโดยลายพระหัตถเลขา ลงวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๖๔

ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวมกระทรวงนครบาลไว้ในกระทรวงมหาดไทย และให้มหาอำมาตย์นายก เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) เป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ประกาศ ลงวันที่ ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๖๕

รัชชกาลที่ ๗

เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) คงเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยมาถึงต้นรัชชกาลนี้ พ.ศ. ๒๔๖๘ เจ้าพระยายมราชกราบถวายบังคมลา โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้ายุคลทิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ เป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย

สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมหลวงลพบุรี กราบถวายบังคมลาไปรักษาพระองค์ในต่างประเทศ โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จฯ เจ้าฟ้าบริพัตร์สุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรควรพินิต จากกระทรวงกลาโหม มาเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ถึง พ.ศ. ๒๔๗๕ เปลี่ยนการปกครอง ทรงออกจากตำแหน่ง

ตำแหน่งเสนาบดีกรมเมือง
(กระทรวงนครบาล)
รัชชกาลที่ ๑

เจ้าพระยายมราช (ชื่อไม่ปรากฏ)[1] ครั้งกรุงธนบุรี เป็นหลวงอินทราธิบดีสีหราชรองเมือง เป็นผู้รู้ขนบธรรมเนียมกรมพระนครบาลมาก และมีความชอบเมื่อตามเสด็จในการสงคราม ได้เป็นพระยายมราชเมื่อปราบดาภิเศก ครั้นศึกพม่าครั้งที่ ๑ (กรุงรัตนโกสินทร์) เป็นแม่ทัพไปตั้งรับพม่าที่เมืองราชบุรี ไม่เอาใจใส่ในราชการสงคราม มีความผิด ถูกถอด (ภายหลังเป็นที่พระยามหาธิราช ช่วยราชการในกรมพระนครบาล)

พระยายมราช (บุนนาค) เป็นบุตรพระยาจ่าแสนยากรกรุงเก่า เป็นสามีเจ้าคุณนวล ขนิษฐภคินีสมเด็จพระอมรินทรา บรมราชินี ได้เป็นพระยาอุไทยธรรม เมื่อปราบดาภิเศกแล้ว เป็นพระยายมราช แล้วจึงเป็นที่เจ้าพระยามหาเสนา ที่สมุหพระกลาโหม (เป็นต้นสกุล บุนนาค)

พระยายมราช (บุญมา) เป็นพี่ต่างมารดากับเจ้าพระยามหาเสนา (บุนนาค) ได้เป็นพระยาตะเกิง เมื่อปราบดาภิเศกแล้ว จึงเปลี่ยนเป็นพระยายมราช (เป็นเจ้าพระยาอรรคมหาเสนาในรัชชกาลที่ ๒)

รัชกาลที่ ๒

เมื่อทรงตั้งพระยายมราช (บุญมา) เป็นเจ้าพระยาอรรคมหาเสนาแล้ว จึงโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนพระยาอนุชิตราชา (น้อย บุณยรัตพันธุ์) บุตรเจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช (บุญรอด) เป็นเจ้าพระยายมราช (ภายหลังเป็นเจ้าพระยาอภัยภูธร ที่สมุหนายก)

เมื่อทรงตั้งเจ้าพระยายมราช (น้อย) เป็นเจ้าพระยาอภัยภูธรที่สมุหนายกแล้ว ทรงตั้งพระยาศรีสุริยพาห (น้อย) เป็นเจ้าพระยายมราช

เจ้าพระยายมราช (น้อย ศรีสุริยพาห) นี้ เป็นบุตรขุนนางครั้งกรุงเก่า เคยเป็นราชทูตไปเมืองญวน เป็นเจ้าพระยายมราชตลอดรัชชกาลที่ ๒ ในรัชชกาลที่ ๓ ได้เป็นเจ้าพระยาอรรคมหาเสนา ที่สมุหพระกลาโหม (ไม่ปรากฏว่า มีบุตรหลานทำราชการ)

รัชชกาลที่ ๓

โปรดเกล้าฯ ตั้งพระยาทิพโกษา (ฉิม) หลานเจ้าพระยาพระคลัง (หน) เป็นเจ้าพระยายมราช เมื่อเจ้าพระยายมราช (ฉิม) ชรา ไม่สามารถจะรับราชการได้ โปรดเกล้าฯ เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (ไม่มีบุตรหลานรับราชการ)

โปรดเกล้า ตั้งพระยามหาอำมาตย์ (พูน หรือทองพูน) เป็นบิดาพระยาเพ็ชรฎา (น้อย) เป็นเจ้าพระยายมราชแทนเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี ถึงอสัญญกรรมในรัชชกาลที่ ๓

โปรดเกล้าฯ ตั้งพระยาอภัยรณฤทธิ์ (บุนนาค) เป็นเจ้าพระยายมราช ถึงอสัญญกรรมเดือนอ้าย แรม ๑ ค่ำ ปีมะเมีย พ.ศ. ๒๓๘๙ รัชชกาลที่ ๓ (ยมราช บุนนาค นี้ อสัญญกรรมด้วยถูกตะเฆ่รองพระประธานวัดราชนัดดาทับเมื่อแก่พระประธานไปวัดนั้นขาหัก เป็นต้นสกุล ยมนาค)

รัชชกาลที่ ๔

โปรดเกล้าฯ ตั้งพระยาสุรเสนา (ศุข หรือทองสุก) เป็นบุตรพระยากลาโหมราชเสนา รัชชกาลที่ ๒ เป็นเจ้าพระยายมราช ณวันพฤหัสบดี ขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีกุญ พ.ศ. ๒๓๙๘ เป็นได้ ๔ ปีถึงอสัญญกรรม

โปรดเกล้าฯ ตั้งพระยามหามนตรี (นุช บุณยรัตพันธุ์) เป็นบุตรเจ้าพระยาอภัยภูธร (น้อย) เป็นเจ้าพระยายมราช ภายหลังเลื่อนขึ้นเป็นเจ้าพระยาภูธราภัย สมุหนายก แทนเจ้าพระยานิกรบดินทร์ที่ถึงแก่อสัญญกรรม

โปรดเกล้าฯ ตั้งพระยาราชวรานุกูล (ครุฑ) บุตรพระยาอภัยรณฤทธิ์ (ช้าง) เป็นเจ้าพระยายมราช ณวันศุกร แรม ๑๒ ค่ำ เดือน ๑๒ ปีชวด พ.ศ. ๒๔๐๗ ถึงอสัญญกรรม พ.ศ. ๒๔๑๐

โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยานครราชสิมา (แก้ว สิงหเสนี) บุตรเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์) เป็นเจ้าพระยายมราช อยู่มาจนรัชชกาลที่ ๕ ถึงอสัญญกรรมปีมะแม พ.ศ. ๒๔๑๔

รัชชกาลที่ ๕

โปรดเกล้าฯ ตั้งพระยาอภัยรณฤทธิ์ (เฉย) ข้าหลวงเดิมในรัชชกาลที่ ๔ เป็นเจ้าพระยายมราชเมื่อวันพุธ ขึ้น ๖ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีมะแม พ.ศ. ๒๔๑๔ (อสัญกรรมเมื่อใด ยังสืบไม่ได้) เป็นต้นสกุล ยมาภัย

โปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอฯ กรมหมื่นภูธเรศธำรงศักดิ์ เป็นผู้บังคับการกรมพระนครบาล แต่จัดการปราบปรามโจรผู้ร้ายไม่สงบเรียบร้อย จึงโปรดเกล้าฯ ให้ออกเสียจากตำแหน่งเมื่อเดือน ๑๐ แรม ๔ ค่ำ ปีจอ อัฐศก จุลศักราช ๑๒๔๘ พ.ศ. ๒๔๒๙

ในประกาศฉะบับเดียวกันกับที่กล่าวนี้ ทรงพระราชดำริว่า เสนาบดีกระทรวงนครบาลเป็นตำแหน่งสำคัญ ไม่ควรปล่อยให้ว่าง แต่กำลังจะจัดการศาลยุตติธรรมอยู่ ครั้นจะตั้งตำแหน่งขึ้นตามเดิม จะจัดการภายหลังยาก ด้วยถ้อยความเกี่ยวพันกัน เวลานั้น ความนครบาลได้ยกเข้ามาชำระรวมกับกรมพระตำรวจซึ่งเป็นกองจับโจรผู้ร้าย และซึ่งสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมพระจักรพรรดิพงศ์ เป็นแม่กอง มีกอมมิตตี ๑๐ นายเป็นที่ปรึกษาอยู่ แล้วจึงโปรดเกล้าฯ ให้แยกตั้งกอมมิตตี ๔ นาย คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศวรฤทธิ์ เป็นเจ้าพระน้องยาเธอ กรมหมื่น ๑ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิ์วัฒนวิศิษฎ์ (ยังเป็นพระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าสวัสดิ์โสภณ) ๑ พระยาเทพประชุม ผู้ว่าที่เกษตราธิบดี ๑ พระยาธรรมสารนิติวิชิตภักดี ๑ ทั้ง ๔ นี้ เป็นผู้มีอำนาจปรึกษากันบังคับการเด็ดขาดในตำแหน่งที่เสนาบดีกรมพระนครบาล

วันที่ ๑ เมษายน ร.ศ. ๑๑๑ (พ.ศ. ๒๔๓๕) โปรดเกล้าฯ ให้จัดราชการเป็น ๑๒ กระทรวง เฉภาะกรมพระนครบาลให้เลิกกอมมิตตีเสีย โปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศวรฤทธิ์ (ยังเป็นพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่น) เป็นเสนาบดีว่าการกรมพระนครบาล

วันที่ ๒๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๐ โปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศวรฤทธิ์ เป็นเสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ (กระทรวงคมนาคม) แลให้พระยาสุขุมนัยวินิต (ปั้น สุขุม) เสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ มาเป็นเสนาบดีกระทรวงนครบาล แลจัดกรมศุขาภิบาลด้วย (เป็นเจ้าพระยายมราชเมื่อวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๑) จนถึง พ.ศ. ๒๔๖๕ รวมกระทรวงนครบาลเข้าเป็นกระทรวงมหาดไทย และโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยายมราชเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยต่อมา

(ตามที่เรียกว่า กระทรวงนครบาล เป็น กรมพระนครบาล บ้างนั้น เพราะประกาศหรือจดหมายเหตุต่าง ๆ ในครั้งก่อนเป็นเช่นนั้น)


  1. ชื่อ อิน หรือ ทองอิน.

บรรณานุกรม[แก้ไข]

  • ราชพินิจจัย (อุทัยวรรณ อมาตยกุล), พระยา; และ, สุนทรเทพกิจจารักษ์ (ทอง จันทรางศุ), พระยา. (2477). เสนาบดีมหาดไทยและนครบาล. พระนคร: โรงพิมพ์พระจันทร์. [สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายา โปรดให้พิมพ์ในงานทำบุญ 100 วันศพเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (ปลื้ม สุจริตกุล) ณวันศุกรที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2477].

งานนี้ ปัจจุบันเป็นสาธารณสมบัติแล้ว เพราะลิขสิทธิ์ได้หมดอายุตามมาตรา 19 และมาตรา 20 ของพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ซึ่งระบุว่า

ถ้ารู้ตัวผู้สร้างสรรค์ ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นบุคคลธรรมดา
  1. ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ถึงแก่ความตาย
  2. ถ้ามีผู้สร้างสรรค์ร่วม ลิขสิทธิ์หมดอายุ
    1. เมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายถึงแก่ความตาย หรือ
    2. เมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้โฆษณางานนั้นเป็นครั้งแรก ในกรณีที่ไม่เคยโฆษณางานนั้นเลยก่อนที่ผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายจะถึงแก่ความตาย
ถ้ารู้ตัวผู้สร้างสรรค์ ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นนิติบุคคล หรือถ้าไม่รู้ตัวผู้สร้างสรรค์
  1. ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้สร้างสรรค์งานนั้นขึ้น
  2. แต่ถ้าได้โฆษณางานนั้นในระหว่าง 50 ปีข้างต้น ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้โฆษณางานนั้นเป็นครั้งแรก