แจ้งความกรมอักษรพิมพการ ลงวันแรม 15 ค่ำ เดือน 4 จ.ศ. 1249
ราชกิจจานุเบกษา จำนวนปีกุน นพศกนี้ ได้ออกมาแต่เดือน ๕ ตลอดจนถึงเดือน ๔ แรม ๑๕ ค่ำนี้ เปนครบจำนวนในปีกุน นพศกนี้แล้ว ได้ตั้งใจที่จะจัดการให้ดีขึ้นโดยสมควร บัดนี้ ก็เปนเสรจสิ้นจำนวนปีกุน นพศกแล้ว ใบปกจ่าน่าแลบอกสารบาญท้ายเพื่อที่จะให้ค้นหนังสือง่ายขึ้นนั้นก็ยังเกบรวบรวมแลตีพิมพ์อยู่ เสรจแล้วเมื่อใด จะได้ส่งไปตามจำนวนหนังสือซึ่งท่านทั้งหลายได้รับอยู่นั้น ถ้าทานทั้งหลายที่มีความประสงค์จะให้เยบรวบรวมหนังสือราชกิจจานุเบกษาในปีกุน นพศก เปนเล่มสมุดเหมือนแต่ก่อนมา โรงอักษรพิมพ์การก็จะรับเยบแลเดินทองให้ตามประสงค ราคาเยบนั้นเหมือนกับที่เคยเสีย คือ เล่มละ ๒ บาท ทั้งค่าสิ่งของด้วยเสรจ อนึ่ง ขอขอบใจทานผู้ที่ได้รับหนังสือราชกิจจานุเบกษาเปนอันมาก ด้วยเมื่อจำนวนปีรกา สัปตศก แลปีจอ อัฐศกนั้น มีผู้ที่ได้รับราชกิจจานุเบกษา ทั้งที่เสียเงินซื้อเอง แลรับสำหรับออฟฟิศราชการ ปีละ ๗๐ ฉบับเสศ เปนที่น่าสงสารผู้เรียบเรียงแต่งแลผู้ตีเปนอันมาก ด้วยต้องเกบความเรียบเรียงแล้วต้องตีพิมพ์ไว้ไม่ต่ำกว่า ๕๐๐ ฉบับ จำหน่ายได้เพียง ๗๐ ฉบับในจำนวนปีกุน นพศกนี้ ได้มีท่านทั้งปวงรับซื้อเพิ่มเติมขึ้น รวมหนังสือที่ออกทุกวันพระ มีจำนวน ๓๐๐ ฉบับ เพราะฉนั้น เปนที่ยินดีของผู่ที่ได้ทำการเปนอันมาก จึ่งขอขอบใจท่านทั้งปวงที่ได้ช่วยอุดหนุน แต่หนังสือได้ออกมากขึ้นกว่าแต่ก่อน ๒ เท่า ๓ เท่าก็ดี ก็ยังน้อยอยู่นั้นเอง ถ้าท่านทั้งหลายที่รับอยู่แล้วจะช่วยอนุเคราะห์อุดหนุนหนังสือราชการฉบับนี้ให้เจริญขึ้นได้อีกแล้ว จะเปนที่ชื่นชมยินดีเปนอันมาก การที่ท่านจะรับอนุเคราะห์นั้น ก็ไม่เปนการที่จะต้องเสียเงินทองอันใด เปนแต่บอกเล่าไปแก่คนที่ยังไม่ได้รับให้ทราบแล้ว ประโยชนที่จะเจริญแก่ราชกิจจานุเบกษาคงเจริญขึ้น การที่พูดทั้งนี้ ใช่จะมุ่งหมายแต่จะให้ท่านทั้งหลายเสียเงินเพื่อเอาประโยชน์ฝ่ายเดียวนั้นก็หาไม่ เพราะผู้จัดการก็ไม่ได้รับเงินค่าราชกิจจานุเบกษานั้นเปนประโยชน์อย่างใดเลย เงินก็ต้องส่งพระคลัง ส่วนพระคลังเล่า แม้จะได้เงินค่าราชกิจจานุเบกษาปีหนึ่ง ๑๐๐ ชั่ง ค่าหนังสือออกไปได้ ๑๐๐๐ ฉบับ ก็จะไม่เปนการทุ่นพระราชทรัพยขึ้นโดยอย่างใดอย่างหนึ่งเลย ซึ่งเรียกเงินอยู่บัดนี้ เพื่อจะได้ช่วยทุนบ้างอย่างหนึ่งกันขอเปล่า ๆ ไปไว้ห่ออันใดบ้าง ปิดอะไรเล่นบ้าง อย่างหนึ่งเท่านั้น คำที่ว่า อยากให้เจริญขึ้นนั้น คือ หนังสือนี้ได้เรียบเรียงข่าวราชการซึ่งเปนของควรผู้ทำราชการจะรู้ ถ้าได้แพร่หลายไปแล้ว ความรู้ของคนทั้งปวงก็จะเจริญขึ้น สมควรกับที่เปนผู้ทำราชการ จะได้ไม่เปนที่นำมาซึ่งความผิดแลอื่น ๆ ส่วนประโยชน์ของโรงอักษรพิมพ์การที่จะมีนั้น คือ หนังสือตีไว้แล้ว ไม่ต้องคั่งค้างอยู่เปล่า แลไม่เปนที่เสียแรงทำเสียแรงแต่งด้วย ทำแล้วเปนประโยชน์แก่คนตั้งร้อยขึ้นไป เปนที่ยินดี ทำให้ชวนแต่งชวนเรียงขึ้นอีก ถ้าจะเปนประโยชน์แต่แก่คนสักห้าหกสิบคนเท่านั้น ก็เปนที่น่าเสียดายแรงนักอยู่ จึงใด้ร้องขอให้ท่านทั้งปวงอ่านดูเพื่อประโยชน์ด้วย, ได้ตรวจดูบาญชีผู้ที่รับราชกิจจานุเบกษานี้ มีชื่อแต่ท่านผู้ใหญ่ ๆ ที่มีตำแหน่งราชการแลผู้ที่จงรักภักดีในราชการแลหนังสือโดยมาก แต่ข้าราชการผู้น้อยแลกุลบุตรที่พึ่งเล่าเรียนใหม่ ๆ นี้มีน้อยนัก การอ่านหนังสือนั้นย่อมนำประโยชน์ให้ผู้อ่านเปนอันมาก ไม่เลือกว่าวิชาสิ่งใด คงเกิดแต่หนังสือโดยทั่วไป ท่านทั้งหลายที่มีความรู้แล้วก็ดี ที่ยังไม่ได้รู้วิชาอันใดเลยก็ดี ควรจำโคลงพระราชนิพนธในพระบาทสมเดจพระเจ้าอยู่หัวซึ่งเปนที่นับถือนบนอมของเราทั้งหลายอย่างสูงสุดนั้น ได้ทรงเปนโคลงพระราชทานไว้ในสมุดรวบรวมสุภาสิตของพระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าโสณบัณฑิตย เล่ม ๑ โคลงที่พระราชทานเปนพระบรมราชนิพนธไว้นั้นมีความว่า
ความรู้คู่เปรียบด้วย | กำลัง กายเฮย | |
สุจริตคือเกราะบัง | สาตรพ้อง | |
ปัญญาประดุจดัง | อาวุธ | |
กุมสติต่างโล่ห์ป้อง | อาจแกล้วกลางณรงค์ |
โคลงพระราชนิพนธบทนี้เปนของควรที่เราทั้งหลายจะจำทรงไว้เปนสุภาสิต สำคัญที่จะหนีจากความนี้ไปไม่ได้ คือ ถ้าใครบริบูรณด้วยเหตุ ๔ ประการนี้ มีอยู่ในพระราชนิพนธแล้ว ชื่อว่า หาอันตรายมิได้โดยแน่แท้ ขอผู้มีปัญญาอันศุขุมจงตริตรอง ก็คงไม่มีความสอดแคล้วได้เลย โคลงพระราชนิพนธบทนี้ก็ทรงยกความรู้เปนปถม สุจริตเปนเครื่องป้องกันภัย ปัญญาเปนเครื่องเกื้อกูลราชการแลตน สติเปนเครื่องชักนำให้เดินทางดี เพราะฉนั้น ความรู้เปนเบื้องต้น เปนสำคัญ ถ้าไม่มีความรู้ ถึงจะซื่อ ก็ไม่สามาททำให้การเปนไปตลอดได้ มีปัญญา ไม่มีความรู้ ก็ไม่ทำอะไรได้อีก เพราะฉนั้น ความรู้จะมาแต่ไหน คงมาแต่การอ่านการฟังที่เนื่องมาแต่หนังสือ ผู้อ่านหนังสือนั้นหาโทษมิใคร่ได้ ถึงจะอ่านหนังสืออันใด ๆ ที่ไม่มีประโยชน์ ก็คงได้ประโยชน์อย่างหนึ่ง คือ ให้อ่านหนังสือคล่องขึ้น เหมือนหนึ่งหนังสือพิมพ์จดหมายเหตุต่าง ๆ เปนต้น ถ้าจะว่าโดยจริง เปนของมีประโยชน์มากกว่ามีโทษ แต่อย่างไรก็ไม่สามาทจะว่าให้แน่ได้ว่า เหตุใดหนังสือพิมพ์ในเมืองเราจึ่งไม่เจริญได้เลย มีขึ้นแล้วก็สูญหายไปเสีย ไม่ยืดยาวโดยแทบทุกเรื่อง ถึงราชกิจจานุเบกษานี้เองก็ดี ก็ยังเปนผลุบโผล่อยู่นั้นอีก เปนแต่ความวินิจฉัยของเราเองเหนว่า คนรู้หนังสือชอบหนังสือจะยังน้อยอยู่ การจึ่งไม่เจริญได้ ถ้าหนังสือใดกล่าวคำเสียดแทงพ้อพาท ก็ขายได้มาก เมื่อพูดมากก็เปนการแสลงแก่คนบางจำพวก ครั้นเจ้าของหนังสือพูดแต่การที่เปนวิชาต่าง ๆ มิได้เสียดแทงผู้ใด ผู้ซื้อก็น้อยลง จนสิ้นสนุกนิ์ สิ้นกำลังของผู้แต่ง ต้องเลิกหนังสือนั้นไปเอง เพราะคนที่ชอบในการสนุกนิ์เท่านั้นจะมีมากอยู่ ผู้ที่จะอ่านฟังเล่าเรียนยังไม่สู้มากฤๅอย่างไร จึ่งเปนการเสื่อมคลายไป แต่ความเหนของเราเองเหนว่า ผู้อ่านหนังสือต่าง ๆ ถึงเปนหนังสือพิมพ์ที่กล่าวถ้อยคำแรง ๆ ก็ดี ก็ไม่เหนมีความผิดในการอ่านหนังสือเลย คงมีประโยชน์อยู่นั้นเอง ที่ว่านี้ว่าแต่ผู้อ่าน มิได้ว่าถึงผู้แต่งด้วย เพราะฉนั้น เหนว่า การอ่านหนังสือเปนประโยชน์ นำมาซึ่งความรู้โดยแท้ ควรท่านทั้งหลายจะอนุเคราะห์แก่บุตรหลานด้วยการบังคับให้อ่านหนังสือเรียนหนังสือให้ชำนาญ จะได้สืบตระกูลวงษไปเปนชื่อเสียงแก่ท่านต่อไป ถ้าบุตรหลานไม่มีวิชาแล้ว ก็เสื่อมศักดิวาศนา เหมือนโคลงบทหนึ่งขอ⟨ง⟩พระเจ้าบรมวงษเธอ กรมสมเดจพระเดชาดิศร ทรงแต่งไว่ในหนังสือที่ชื่อว่า สุภาสิตคำโคลง บท ๑ มีความว่า
เยาวรูปเนาหนุ่มเนื้อ | ในวงษ ตระกูลเอย | |
แม้นปราศวิทยาทรง | เสื่อมเศร้า | |
ทองกวาวดอกดาดดง | แดงป่า | |
หอกลิ่นสิ้นรศเร้า | ดั่งนี้ใครชม |
เปนต้น ก็ยกความรู้เปนปถมอีก เมื่อผู้ใดเหนตามดังนี้ ก็จงบำรุงตนแลบุตรหลานให้เปนไปตามที่ดำริห์คิดเหน เพราะไม่ว่าวิชาอันใดคงออกจากหนังสือโดยมาก ยกไว้แต่วิชาบางอย่าง มีการชกต่อยเปนต้น ที่พรรณนามายืดยาวดังนี้ ถ้าไม่เปนที่ต้องใจท่านผู้ใด ขอจงโปรดเว้นความขัดเคือง ด้วยเปนหนังสือฉบับที่สุดในปีกุน นพศกแล้ว จึ่งได้เรียบเรียงเพ้อไป เพราะประสงคจะให้เปนประโยชน์แก่คนที่ยังไม่รู้บ้างเท่านั้น ขอท่านทั้งหลายที่ได้รับหนังสือฉบับนี้จงมีความศุขสำราญ ปราศจากสรรพภยันตรายต่าง ๆ ทุกประการตลอดปีใหม่ ขอจงรับความเคารบนับถือของผู้แต่งหนังสือนี้ในวันปีใหม่ทุกท่านทุกคนเทอญ
บรรณานุกรม
[แก้ไข]- "แจ้งความกรมอักษรพิมพการ ลงวันแรม 15 ค่ำ เดือน 4 จ.ศ. 1249". (2430, 18 มีนาคม). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 4, ตอน 48. หน้า 379–381.
งานนี้ ปัจจุบันเป็นสาธารณสมบัติแล้ว เพราะลิขสิทธิ์ได้หมดอายุตามมาตรา 19 และมาตรา 20 ของพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ซึ่งระบุว่า
- ถ้ารู้ตัวผู้สร้างสรรค์ ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นบุคคลธรรมดา
- ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ถึงแก่ความตาย
- ถ้ามีผู้สร้างสรรค์ร่วม ลิขสิทธิ์หมดอายุ
- เมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายถึงแก่ความตาย หรือ
- เมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้โฆษณางานนั้นเป็นครั้งแรก ในกรณีที่ไม่เคยโฆษณางานนั้นเลยก่อนที่ผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายจะถึงแก่ความตาย
- ถ้ารู้ตัวผู้สร้างสรรค์ ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นนิติบุคคล หรือถ้าไม่รู้ตัวผู้สร้างสรรค์
- ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้สร้างสรรค์งานนั้นขึ้น
- แต่ถ้าได้โฆษณางานนั้นในระหว่าง 50 ปีข้างต้น ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้โฆษณางานนั้นเป็นครั้งแรก