แถลงการณ์สำนักคณะรัฐมนตรี เรื่อง การตั้งการไฟฟ้ายันฮีเพื่อสร้างเขื่อนภูมิพล

จาก วิกิซอร์ซ
แม่แบบผิดพลาด: มีการลบช่องที่ไม่ได้ใช้ออก โปรดเติมกลับเข้าไป (โปรดดูเอกสารกำกับแม่แบบ)
แถลงการณ์สำนักคณะรัฐมนตรี
เรื่อง การตั้งการไฟฟ้ายันฮีเพื่อสร้างเขื่อนภูมิพล

ตามที่รัฐบาลได้เสนอร่างพระราชบัญญัติการไฟฟ้ายันฮีต่อสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอให้พิจารณาอนุมัติใช้เป็นกฎหมาย ก็ด้วยความประสงค์ที่จะให้มีองค์การไฟฟ้า ดำเนินการสร้างเขื่อนกั้นลำน้ำปิงที่เขายันฮี จังหวัดตาก เพื่อการไฟฟ้าพลังน้ำ ซึ่งเขื่อนการไฟฟ้าพลังน้ำแห่งนี้ จะเป็นประโยชน์อันยิ่งใหญ่ของชาติและประชาชนชาวไทยในทางเศรษฐกิจ การเกษตร กับอุตสาหกรรม และโดยที่เขื่อนนี้จะเป็นเขื่อนใหญ่ที่สุดในประเทศไทย คือ มีขนาดสูง ๑๕๔ เมตร ยาว ๔๓๕ เมตร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานขนานนามว่า "เขื่อนภูมิพล" การสร้างเขื่อนนี้จะต้องใช้เงินลงทุนเป็นเงินประมาณ ๒ พันล้านบาท โดยกู้เงินจากธนาคารโลกเพื่อซื้อวัสดุ อุปกรณ์ ตลอดจนจ้างชาวต่างประเทศมาช่วยดำเนินงาน เป็นเงินประมาณ ๑,๓๐๐ ล้านบาท และใช้เงินลงทุนในประเทศไทยอีกประมาณ ๗๐๐ ล้านบาท เป็นการสมควรที่จะได้มีการแถลงชี้แจงผลอันเกิดจากการสร้างเขื่อนนี้ให้ประชาชนทราบ
การสร้างเขื่อนภูมิพลนี้ ประเทศไทยและประชาชนชาวไทยจะได้รับประโยชน์ดังต่อไปนี้
๑. เมื่อสร้างเสร็จสำเร็จตามโครงการ จะสามารถกักปริมาณน้ำไว้ได้ ๑๒,๒๐๐ ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งจะสามารถติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าได้ ๘ เครื่อง รวมเป็นกำลังไฟฟ้า ๕๖๐,๐๐๐ กิโลวัตต์ จ่ายพลังงานไฟฟ้าได้ปีละ ๑๙๔๔ ล้านยูนิต (กิโลวัตต์-ชั่วโมง) กำลังไฟฟ้าที่ผลิตได้จะส่งไปยังจังหวัดต่างๆทางภาคเหนือและทางที่ราบภาคกลางของประเทศ รวม ๓๖ จังหวัด คือ เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน อุตรดิตถ์ ตาก กำแพงเพชร สุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร นครสวรรค์ อ่างทอง ชัยนาท สิงห์บุรี ลพบุรี สุพรรณบุรี อุทัยธานี กาญจนบุรี สระบุรี พระนครศรีอยุธยา นครนายก ปราจีนบุรี ปทุมธานี นนทบุรี พระนคร ธนบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี นครปฐม สมุทรปราการ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร ราชบุรี และเพชรบุรี หรือถ้าในจังหวัดอื่นที่มีความต้องการไฟฟ้ามาก การขายกระแสไฟฟ้าคุ้มค่าการลงทุนวางสาย ก็อาจวางสายส่งกระแสไฟฟ้าไปขายได้อีก
ในขั้นแรกจะติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ๓ เครื่อง เป็นกำลังไฟฟ้า ๒๑๐,๐๐๐ กิโลวัตต์ จ่ายกระแสไฟฟ้าได้ ๑๓ จังหวัด คือ ตาก กำแพงเพชร สุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร นครสวรรค์ ชัยนาท ลพบุรี สระบุรี พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี พระนคร และธนบุรี และจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆจนถึง ๕๖๐,๐๐๐ กิโลวัตต์ ตามความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้า
๒. กระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้ในระยะเริ่มแรกนี้ จะขายส่งให้การไฟฟ้าต่างๆ ในราคายูนิตละ ๒๖ สตางค์ เงินรายได้นี้เมื่อหักค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานและกันไว้เพื่อจัดซื้อและติดตั้งเครื่องไฟฟ้ากับระบบสายส่งเพิ่มเติมแล้ว ก็สามารถนำไฟชำระดอกเบี้ย และผ่อนส่งต้นเงินกู้ได้หมดภายใน ๒๐ ปี นับแต่เริ่มขายพลังงานแล้ว เมื่อใช้เงินกู้คืนหมดแล้ว ราคาขายส่งจะเหลือเพียงยูนิตละ ๑๐ สตางค์เป็นอย่างสูง เมื่อราคากระแสไฟฟ้าต่ำเช่นนี้ ก็ย่อมจะลดค่าครองชีพของประชาชน และก่อให้เกิดอุตสาหกรรมเพิ่มมากขึ้นได้
๓. น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยามาจากแควใหญ่ ๔ แควคือ ปิง วัง ยม น่าน แต่แควลำน้ำปิงมีปริมาณน้ำที่ไหลมาลงแม่น้ำเจ้าพระยาเท่ากับแควอื่นอีก ๓ แควรวมกัน หรือเท่ากับครึ่งหนึ่งของจำนวนน้ำทั้ง ๔ แควที่ไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ฉะนั้น เมื่อเราสามารถกั้นลำน้ำปิงไว้โดยมีอ่างเก็บน้ำเหนือเขื่อนได้ถึง ๑๒,๒๐๐ ล้านลูกบาศก์เมตร ย่อมจะต้องช่วยป้องกันน้ำท่วมบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาใต้เขื่อนลงมาถึงภาคกลางได้
๔. ในฤดูฝน เขื่อนนี้สามารถจะช่วยการชลประทานเพื่อการเพาะปลูกข้าวให้ได้ผลเต็มที่แก่พื้นที่ในจังหวัดตากและจังหวัดกำแพงเพชรได้ประมาณ ๑ ล้าน ๕ แสนไร่ และในฤดูแล้งก็สามารถจะระบายน้ำที่กักไว้มาช่วยการเพาะปลูกพืชผลสำหรับจังหวัดตากและจังหวัดกำแพงเพชรนี้ประมาณ ๕ แสนไร่ และจะช่วยให้โครงการชลประทานเขื่อนเจ้าพระยามีน้ำระบายมาในหน้าแล้ง สำหรับพื้นที่อีกประมาณ ๑ ล้าน ๕ แสนไร่เพื่อปลูกพืชเช่นกัน
ทั้งนี้ เพราะเขื่อนเจ้าพระยาตามโครงการเป็นเขื่อนชนิดยกระดับน้ำเข้าคลอง สูงเพียง ๑๑ เมตร และเก็บน้ำได้เพียง ๑๓๐ ล้านลูกบาศก์เมตรในฤดูน้ำ น้ำซึ่งไหลบ่ามามากก็ถูกส่งไปตามสายส่งน้ำซึ่งช่วยหล่อเลี้ยงพื้นที่นาได้เป็นจำนวนมากขึ้นกว่าครั้งเมื่อไม่มีเขื่อน ส่วนในฤดูแล้งมีน้ำไหลมาน้อยมาก การช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูกก็ทำได้น้อยกว่าในฤดูฝน แต่เมื่อมีเขื่อนภูมิพลซึ่งมีอ่างเก็บน้ำได้มากแล้ว ก็จะระบายน้ำมาให้ได้เพิ่มขึ้นเป็น ๖ เท่าของเดิมในฤดูแล้ง ส่งไปในระบบส่งน้ำซึ่งมีอยู่แล้วเพื่อใช้ประโยชน์ในการเพาะปลูกพืชไร่ได้ดีขึ้น
๕. เมื่อเขื่อนภูมิพลนี้สร้างเสร็จแล้ว น้ำในลำแม่น้ำเจ้าพระยาและลำน้ำปิงจะมีพอให้เรือกินน้ำลึกขนาด ๒ เมตรเดินได้ตลอดปี การขนส่งทางน้ำจะกระทำได้ตั้งแต่กรุงเทพฯถึงอำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ โดยการขนถ่ายข้ามเขื่อนนี้เท่านั้น
๖. ในระยะแรกของการติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าของโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนภูมิพลนี้ ความต้องการปริมาณไฟฟ้าในจังหวัดพระนครและจังหวัดข้างเคียงจะมีปริมารอย่างน้อย ๑๓๐,๐๐๐ กิโลวัตต์ ถ้าเราไม่สร้างโครงการนี้ขึ้นแล้ว ก็จำเป็นจะต้องตั้งโรงไฟฟ้าย่อยๆ ที่ผลิตกำลังไฟฟ้าด้วยเครื่องยนตร์ดีเซลหรือเครื่องกังหันไอน้ำ ซึ่งจะต้องเสียค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ๒๐ สตางค์ต่อ ๑ ยูนิต เมื่อสร้างเขื่อนภูมิพลเสร็จแล้ว จะผลิตไฟฟ้าได้ประมาณ ๖๐๐ ล้านยูนิต ถ้าเราผลิตปริมาณไฟฟ้าจำนวนนี้ด้วยเครื่องยนตร์ดีเซลหรือเครื่องกังหันไอน้ำ จะทำให้สิ้นเปลืองค่าน้ำมันเชื้อเพลิงประมาณ ๑๒๐ ล้านบาทต่อปี ถ้าใช้ปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตจากโครงการนี้ ก็จะประหยัดค่าน้ำมันเป็นเงินตราต่างประเทศที่จะซื้อน้ำมันได้ประมาณ ๖ ล้านเหรียญอเมริกันต่อปี
๗. ถ้าเราไม่สร้างเขื่อนภูมิพลนี้ การที่จะให้มีไฟฟ้าพอใช้ตามความต้องการของประชาชน ก็จะต้องซื้อเครื่องผลิตไฟฟ้าโดยเครื่องยนตร์ดีเซลหรือเครื่องกังหันไอน้ำ ถ้าจะผลิตไฟฟ้าให้ได้เท่ากับปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตจากเขื่อนภูมิพลในระยะแรก จะต้องลงทุนเป็นเงิน ๑,๒๐๐ ล้านบาท และถ้าจะผลิตไฟฟ้าให้ได้เท่ากับปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตได้เต็มโครงการนี้ ก็จะต้องลงทุนถึง ๓,๓๐๐ ล้านบาทเศษ เมื่อรวมค่าลงทุนและค่าน้ำมันเชื้อเพลิงแล้ว ค่าลงทุนในการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดก็แพงกว่าการลงทุนสร้างเขื่อนภูมิพลนี้เป็นอันมาก นอกจากนี้ กระแสไฟฟ้าก็คงราคาแพงอยู่เช่นเดิม
๘. พลังไฟฟ้าเป็นพลังงานสำคัญของการอุตสาหกรรมทั้งขนาดใหญ่และขนาดย่อม ตราบใดที่กระแสไฟฟ้าที่นำมาใช้เป็นพลังงานยังราคาแพงอยู่ ตราบนั้นการอุตสาหกรรมภายในประเทศก็ไม่สามารถจะแข่งขันกับการอุตสาหกรรมภายนอกประเทศได้ หรือถ้ารัฐจะช่วยโดยการตั้งกำแพงภาษี ก็เป็นการเพิ่มค่าครองชีพของประชาชน เพราะฉะนั้น พลังงานจากไฟฟ้าน้ำตกจึงมีความสำคัญสำหรับการอุตสาหกรรมเป็นอย่างมาก ประเทศไทยเราเป็นประเทศกสิกรรม ถ้าไม่ปรุงแต่งให้เกิดอุตสาหกรรมขึ้นบ้างแล้ว การเศรษฐกิจของชาติต่อไปนี้นับวันจะทรุดโทรมลงทุกที เพราะเนื่องจากการที่รัฐได้ส่งเสริมการสาธารณสุขกระทำให้พลเมืองมีปริมาณเพิ่มขึ้นปีละประมาณ ๕ แสนคน จำนวนพลเมืองที่เพิ่มขึ้นนี้จะบริโภคผลิตผลภายในประเทศ และใช้เครื่องอุปโภคที่สั่งมาจากต่างประเทศ การขยายตัวในทางกสิกรรมย่อมไม่ทันต่อการเพิ่มจำนวนของพลเมือง ในที่สุดผลผลิตทางกสิกรรมที่เราสามารถส่งไปขายต่างประเทศจะลดน้อยลงเป็นตามลำดับ เพราะการบริโภคภายในเสียหมด ส่วนปริมาณสินค้าที่สั่งมาจากต่างประเทศจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามความต้องการของประชาชนที่เพิ่มขึ้น ดุลย์การค้าของประเทศย่อมจะเสียเปรียบมากขึ้นทุกวัน ในที่สุดเศรษฐกิจของชาติก็คงจะประสบวิกฤตการณ์จนไม่สามารถจะแก้ไขได้
กล่าวโดยสรุปจะเห็นได้ว่า การสร้างเขื่อนภูมิพลเพื่อผลิตพลังไฟฟ้านี้ จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับชาติและประชาชนในส่วนรวม มิใช่เกิดประโยชน์เพียงผู้ที่อยู่บริเวณที่ตั้งเขื่อน หรือบริเวณที่จะสามารถส่งกระแสไฟฟ้าไปได้เท่านั้น นอกจากนี้ การผลิตพลังไฟฟ้าก็สามารถที่จะเก็บเงินคืนใช้หนี้ได้โดยตรง เพราะมิใช่การชลประทานซึ่งรัฐได้สร้างให้แก่ประชาชนโดยมิได้ผลประโยชน์ตอบแทน จากการคำนวณรายได้ในการขายกระแสไฟฟ้า คิดอย่างต่ำที่สุดก็พอสำหรับคืนเงิน ๖๖ ล้านเหรียญอเมริกัน รวมทั้งดอกเบี้ย และยังมีเหลือสำหรับขยายงานอีกด้วย
เรื่องการที่จะใช้จ่ายเงินงบประมาณภายในประเทศประมาณ ๗๐๐ ล้านบาทนั้น ก็แบ่งใช้จ่ายเป็นระยะเวลาถึง ๖ ปีหนึ่งคงเป็นเงินประมาณ ๑๑๖ ล้านบาทเศษเท่านั้น ในขณะนี้การสร้างโครงการเขื่อนเจ้าพระยาก็ใกล้จะเสร็จอยู่แล้ว การใช้จ่ายเงินก็เหลือเพียงค่าขุดคลองเพื่อให้สมบูรณ์เท่านั้น และจะต้องดำเนินการอีกเพียง ๓ ปีก็สมบูรณ์ ปีหนึ่งๆ คงใช้เงินไม่เกิน ๑๐๐ ล้านบาท นอกจากนี้ การเตรียมงานสร้างเขื่อนภูมิพลรัฐก็ได้ลงทุนมาแล้วปีหนึ่งๆประมาณ ๒๐ ล้านบาท เมื่อคำนวณการใช้จ่ายที่นำมาใช้สำหรับเขื่อนภูมิพลนี้รวมกับการใช้จ่ายโครงการเขื่อนเจ้าพระยาซึ่งใช้จ่ายลดลงแล้ว งบประมาณค่าใช้จ่ายในการสร้างเขื่อนภูมิพลอย่างแท้จริงคงจะต้องเพิ่มงบประมาณเพียงปีละ ๕๐ ล้านบาทเท่านั้น งบประมาณรายรับของประเทศประจำปีนั้น ตามปกติก็เก็บได้สูงกว่าที่ประมาณไว้ ส่วนที่จ่ายตริงก็ต่ำกว่าที่ประมาณไว้ รวมเงินรับเพิ่มและจ่ายเหลือจะเป็นจำนวนเงินประมาณร้อยละ ๑๐ ของงบประมาณ นอกจากนี้ ผลได้จากโครงการเขื่อนเจ้าพระยาก็เริ่มเกิดขึ้นแล้วในจำนวนเนื้อที่ประมาณ ๒ ล้านไร่ ดังนั้น การที่จะวิตกว่าการสร้างเขื่อนภูมิพลจะกระทำให้การทนุบำรุงประเทศในด้านอื่นๆลดลง จึงไม่อาจเป็นไปได้ รัฐบาลมั่นใจว่า การสร้างเขื่อนภูมิพลนี้จะไม่กระทบกระเทือนงบประมาณทนุบำรุงประเทศเลย
อนึ่ง ขอชี้แจงด้วยว่า การสร้างเขื่อนนี้ได้มีการสำรวจและริเริ่มกันมาประมาณ ๔-๕ ปีแล้ว ผู้เชี่ยวชาญจากธนาคารโลกก็ได้มาทำการสำรวจและคำนวณผลได้ผลเสียก่อนที่จะได้ตกลงให้กู้เงิน และเขาก็ได้ให้คำรับรองถึงประโยชน์ต่างๆที่จะเกิดขึ้นตามความคาดหมายที่ได้ชี้แจงมาแล้วนี้ ธนาคารโลกจึงได้ตกลงใจให้รัฐบาลไทยกู้เงินมาเพื่อดำเนินการ ทั้งการสร้างรัฐบาลก็จะได้จัดหาช่างชาวต่างประเทศที่ชำนาญมาดำเนินงานร่วมด้วย ฉะนั้น หวังว่าพี่น้องชาวไทยทั้งหลายคงจะมีความชื่นชมยินดีในงานที่เราจะได้ร่วมกันสร้างสิ่งซึ่งจะเป็นคุณประโยชน์แก่ชาติบ้านเมืองของเราให้สำเร็จลุล่วงไป และเพื่อเป็นเครื่องเทอดทูนพระปรมาภิไธยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานขนานนามให้เป็นเกียรติแก่เขื่อนนี้สืบไป
จอมพล ป. พิบูลสงคราม
นายกรัฐมนตรี
๒๘ สิงหาคม ๒๕๐๐

ประกาศที่เกี่ยวข้อง[แก้ไข]

ประกาศการพลังงานแห่งชาติ
เรื่องมอบให้กรมชลประทานดำเนินการก่อสร้างเขื่อนยันฮี
ทั้งโครงการ เพื่อได้มาซึ่งพลังงานไฟฟ้า

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๓ แห่งพระราชบัญญัติการพลังงานแห่งชาติ พ.ศ. ๒๔๙๖ ตามมติของคณะกรรมการการพลังงานแห่งชาติ และคณะรัฐมนตรีได้พิจารณาเห็นชอบด้วยแล้ว มอบให้กรมชลประทานดำเนินการก่อสร้างเขื่อนยันฮีทั้งโครงการ เพื่อได้มาซึ่งพลังงานไฟฟ้า
ประกาศ ณ วันที่ ๑๕ กันยายน ๒๔๙๖
จอมพล ป. พิบูลสงคราม
นายกรัฐมนตรี
ในตำแหน่งบังคับบัญชาการพลังงานแห่งชาติ

อ้างอิง[แก้ไข]


ขึ้น

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตาม แม่แบบผิดพลาด: โปรดระบุประเภทของงานนี้ (ดูวิธีใช้) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1) ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2) รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3) ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4) คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5) คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"