แถลงการณ์สำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง การยุบสภาผู้แทนราษฎรฯ ลงวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2549

จาก วิกิซอร์ซ
แถลงการณ์สำนักนายกรัฐมนตรี
เรื่อง การยุบสภาผู้แทนราษฎร และการกำหนดวันเลือกตั้ง

โดยที่ได้มีพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๔๙ ซึ่งมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙ แล้ว เป็นเหตุให้สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกคนสิ้นสุดลง และจะมีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ ๒ เมษายน ๒๕๔๙ ความละเอียดทราบแล้วนั้น บัดนี้ รัฐบาลขอชี้แจงเกี่ยวกับการยุบสภาผู้แทนราษฎร ดังนี้

๑. การยุบสภาผู้แทนราษฎรเป็นกระบวนการปกติของการปกครองในระบบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา ดังที่ปรากฏอยู่ในทุกประเทศที่ใช้ระบบนี้ กล่าวคือ เมื่อใดที่มีความขัดแย้งหรือเกิดปัญหาการเมืองและทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีตามมติเห็นชอบข้างมากเกินกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ลงคะแนนโดยเปิดเผยในสภาผู้แทนราษฎร ส่งผลให้การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศเป็นไปโดยมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล จนพ้นภาวะวิกฤตและก้าวทันการแข่งขันในโลกปัจจุบัน

แต่บัดนี้ ได้มีความสับสนทางการเมืองเกิดขึ้น อันเนื่องมาจากการที่มีกลุ่มบุคคลบางกลุ่มไม่พอใจในตัวผู้นำรัฐบาล และได้มีการชุมนุมสาธารณะตั้งข้อเรียกร้องในทางการเมืองเชิงบีบบังคับ ซึ่งแม้ระยะแรกจะอยู่ในกรอบของกฎหมาย แต่เมื่อนานวันเข้า การชุมนุมเรียกร้องได้ขยายตัวไปในทางที่กว้างขวางและอาจรุนแรงขึ้น รวมทั้งส่อเค้าว่า จะมีการเผชิญหน้าจนอาจปะทะกับฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย และอาจมีการสอดแทรกฉวยโอกาสจากผู้ที่ประสงค์จะเห็นความไม่สงบเรียบร้อยในบ้านเมืองจุดชนวนให้เกิดความรู้สึกที่เป็นปฏิปักษ์ต่อกัน จนลุกลามถึงขั้นก่อการจลาจลวุ่นวายสร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินได้ ดังที่ได้ปรากฏว่า มีการสร้างสถานการณ์ให้เกิดการระเบิดขึ้นในสถานที่ของผู้ประกาศตัวว่าจะมาร่วมชุมนุมเมื่อเร็ว ๆ นี้ แม้รัฐบาลจะได้พยายามเรียกร้องให้เกิดความปรองดองกัน ก็ยังไม่อาจแก้ไขปัญหาและความคิดเห็นพื้นฐานที่แตกต่างกันทั้งระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุมเรียกร้องกับรัฐบาลและระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุมเรียกร้องกับกลุ่มอื่น ๆ ที่ไม่เห็นด้วยและประสงค์จะเคลื่อนไหวบ้างจนอาจเกิดการปะทะกันได้ สภาพเช่นว่านี้ย่อมไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศ การเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยภายใต้ระบบรัฐสภา และความสงบเรียบร้อยของสังคม โดยเฉพาะในขณะนี้ ซึ่งควรจะสร้างความสามัคคีปรองดอง การดูแลรักษาสภาพของบ้านเมืองที่สงบร่มเย็น น่าอยู่อาศัย น่าลงทุน และการเผยแพร่ความวิจิตรอลังการตลอดจนความดีงามตามแบบฉบับของไทยให้เป็นที่ประจักษ์

อนึ่ง แม้ว่ารัฐบาลจะได้พยายามดำเนินการตามวิถีทางรัฐธรรมนูญด้วยการขอเปิดอภิปรายทั่วไปในที่ประชุมร่วมของรัฐสภาแล้วก็ตาม กลุ่มบุคคลดังกล่าวก็ยังหายุติการดำเนินการทางการเมืองดังกล่าวไม่ ยิ่งกว่านั้น พรรคการเมืองที่มีสมาชิกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรบางพรรค สมาชิกวุฒิสภา บางส่วน ซึ่งควรใช้ครรลองประชาธิปไตยระบบรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยในการตรวจสอบรัฐบาลในที่ประชุมรัฐสภา กลับไม่ยึดกติกาโดยวิถีแห่งรัฐธรรมนูญ แต่ใช้วิธีเข้าร่วมกับกลุ่มผู้ชุมนุมดังที่ปรากฏในการชุมนุมครั้งที่ผ่าน ๆ มา ทำให้ความวิตกกังวลขยายวงกว้างขึ้น อันเป็นการกระทบต่อความเชื่อมั่นในเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ และขยายความสับสนให้เพิ่มขึ้น อันอาจกระทบต่อศรัทธาในระบอบประชาธิปไตยระบบรัฐสภา จึงมีเสียงเรียกร้องจากประชาชนโดยทั่วไปให้ยุบสภาผู้แทนราษฎร

นอกจากนั้น ก็มีเสียงเรียกร้องแกมบังคับให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญโดยบุคคลบางกลุ่ม อันแตกต่างไปจากเจตนารมณ์ดั้งเดิมของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยปัจจุบันที่ใช้บังคับอยู่ โดยยังมิได้มีการปรึกษาประชาชนทั้งประเทศ ทั้งที่รัฐธรรมนูญนั้นถือเป็นสัญญาประชาคมที่คนทั้งสังคมต้องมีส่วนในการร่วมกำหนด มิใช่บุคคลกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

เมื่อปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นความคิดเห็นในสังคมที่หลากหลายและยังคงแตกต่างกันจนกลายเป็นความขัดแย้งทางการเมืองที่รุนแรงเช่นนี้ ครั้นจะดำเนินการเพื่อตรวจสอบความประสงค์อันแท้จริงของประชาชนโดยประการอื่น เพื่อให้ทุกฝ่ายหยั่งทราบแล้วยอมรับให้เป็นไปตามกลไกในระบอบประชาธิปไตย ก็ทำได้ยาก ทางออกในระบอบประชาธิปไตยที่เคยปฏิบัติมาในนานาประเทศ และแม้แต่ในประเทศไทย คือ การคืนอำนาจการตัดสินใจทางการเมืองกลับไปสู่ประชาชน ด้วยการยุบสภาผู้แทนราษฎร เพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั่วไปขึ้นใหม่ ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยต่อไป ทั้งนี้ เพื่อให้ความสับสน ความวิตกกังวลของประชาชน หมดไป และทำให้ภาวการณ์บ้านเมืองกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ทั้งยังเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายสามารถนำปัญหาและข้อขัดแย้งต่าง ๆ ไปปรึกษาประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจสูงสุดที่แท้จริง เพื่อประชาชนจะได้ตัดสินใจขั้นสุดท้าย อันเป็นที่สุดยุติปัญหาทางการเมืองทั้งปวง

๓. รัฐบาลได้หารือกับประธานกรรมการการเลือกตั้งแล้ว และมีความเห็นร่วมกันว่า แม้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยจะกำหนดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปภายในหกสิบวันนับแต่วันยุบสภาผู้แทนราษฎรก็จริง แต่ตามกฎหมายและในความเป็นจริง คณะกรรมการการเลือกตั้งพร้อมที่จะดำเนินการเลือกตั้งตั้งแต่วันครบสามสิบวันนับแต่วันยุบสภาผู้แทนราษฎร ดังนั้น จึงได้กำหนดในวันอาทิตย์ที่ ๒ เมษายน ๒๕๔๙ เป็นวันเลือกตั้งทั่วไป ทั้งนี้ เพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยเร็ว อันจะส่งผลให้การประกาศผลการเลือกตั้งได้ก่อนวันอังคารที่ ๒ พฤษภาคม ๒๕๔๙ อันเป็นวันที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้มีการเรียกประชุมรัฐสภาเป็นครั้งแรก เพื่อที่สภาผู้แทนราษฎรจะได้ประชุมกันลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี และนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง และให้เวลานายกรัฐมนตรีนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคณะรัฐมนตรี เพื่อที่คณะรัฐมนตรีจักได้แถลงนโยบายต่อสภาผู้แทนราษฎร และลงมือบริหารราชการแผ่นดินได้ก่อนเดือนมิถุนายน ๒๕๔๙

๔. เมื่อยุบสภาแล้ว คณะรัฐมนตรีย่อมสิ้นสุดลงด้วย แต่จำเป็นต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปตามที่รัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๑๕ กำหนด เพื่อดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยของประเทศและบริหารราชการแผ่นดินในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย นายกรัฐมนตรีจะได้สั่งการให้ทุกฝ่ายปฏิบัติหน้าที่ตามปกติและให้ระมัดระวังที่จะไม่กระทำการใดอันจะทำให้การเลือกตั้งสมาชิกเป็นไปโดยไม่สุจริตหรือไม่เที่ยงธรรม หรือก่อให้เกิดความหวาดระแวงว่า มีการฉวยโอกาสจากการที่ไม่มีองค์กรควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินไปกระทำการใดโดยมิชอบหรือไม่สุจริต

๕. ขอให้ประชาชนทั้งหลายให้ความสำคัญกับการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในวันที่ ๒ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๙ ด้วยการเตรียมไปใช้สิทธิและทำหน้าที่ของตนด้วยความตื่นตัวและรอบคอบ และแสดงเจตจำนงทางการเมือง อันเป็นการตัดสินความขัดแย้งอย่างชัดเจน ซึ่งจะส่งผลให้ปัญหาและความขัดแย้งทางการเมืองทั้งปวงยุติลงได้โดยสันติตามวิถีทางรัฐธรรมนูญและการปกครองในระบอบประชาธิปไตย และเพื่อให้การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมที่สุด

  • สำนักนายกรัฐมนตรี
  • วันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙

บรรณานุกรม[แก้ไข]

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตามมาตรา 7 (3) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1) ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2) รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3) ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4) คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5) คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"