ข้ามไปเนื้อหา

แถลงการณ์สำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง การยุบสภาผู้แทนราษฎรฯ ลงวันที่ 30 มิถุนายน 2535

จาก วิกิซอร์ซ
แถลงการณ์สำนักนายกรัฐมนตรี
เรื่อง การยุบสภาผู้แทนราษฎร การกำหนดวันเลือกตั้ง และการดำเนินการ
เกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม

เนื่องจากในวันนี้ได้มีการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๓๕ แล้ว ซึ่งมีผลให้สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง รัฐบาลจึงขอชี้แจงเหตุผลและแนวทางที่จะดำเนินการต่อไปให้ประชาชนทราบ ดังนี้

๑.การยุบสภาผู้แทนราษฎรเป็นกระบวนการปกติของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาดังที่ปฏิบัติอยู่ในหลายประเทศ เมื่อใดที่มีความขัดแย้งหรือเกิดปัญหาทางการเมืองขึ้นจนยากที่จะหยั่งทราบมติมหาชนได้โดยแน่ชัดว่า ควรจะดำเนินการอย่างไร จึงจะตอบสนองความต้องการอันแท้จริงของประชาชน วิธีการสุดท้ายที่มักนำมาใช้อยู่เสมอ ก็คือ การยุบสภาและจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรขึ้นใหม่ ดังที่เรียกว่า เป็นการคืนอำนาจอธิปไตยกลับไปให้ประชาชน ซึ่งรัฐธรรมนูญของไทยก็ยอมรับกระบวนการหรือวิธีการดังกล่าว และได้เคยดำเนินการเช่นนี้มาแล้วหลายครั้ง

๒.การยุบสภาผู้แทนราษฎรครั้งนี้เป็นเจตนารมณ์มาแต่แรกเมื่อครั้งที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรได้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาเพื่อทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีในวันที่ ๑๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๓๕ โดยหวังจะให้คณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่เป็นคณะรัฐมนตรีในลักษณะเฉพาะกิจ มีโอกาสบริหารราชการแผ่นดินในระยะเวลาอันจำกัด เพื่อแก้ไขปัญหาและฟื้นฟูเสถียรภาพของประเทศชาติ ตลอดจนคืนอำนาจการตัดสินใจทางการเมืองกลับไปให้ประชาชน ดังนั้น เมื่อคณะรัฐมนตรีชุดนี้ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาและเข้าบริหารราชการแผ่นดินแล้ว จึงได้ดำเนินการออกพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๓๕ เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์และแนวทางดังกล่าว

๓.การเลือกตั้งสมาชิกผู้แทนราษฎรครั้งใหม่นี้จะมีขึ้นพร้อมกันทั่วประเทสในวันอาทิตย์ที่ ๑๓ กันยายน พ.ศ. ๒๕๓๕ เพื่อเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน ๓๖๐ คน ซึ่งรัฐบาลได้แถลงต่อรัฐสภาแล้วว่า จะจัดให้มีการเลือกตั้งและกำกับดูแลให้การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นไปโดยเรียบร้อย บริสุทธิ์ และยุติธรรม ทั้งคณะรัฐมนตรีเองจะรักษาความเป็นกลางทางการเมืองอย่างเคร่งครัด โดยไม่ฝักใฝ่หรือให้คุณให้โทษผู้ใด

อนึ่ง ในเรื่องของการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเลือกตั้งนั้น รัฐบาลได้รับฟังความเห็นมาโดยตลอด ทั้งจากนักการเมือง นักวิชาการ และสื่อมวลชนต่าง ๆ ว่า กฎหมายดังกล่าวยังมีส่วนที่ควรแก้ไขเพิ่มเติม เพื่อช่วยให้การเลือกตั้งครั้งต่อ ๆ ไปมีข้อบกพร่องน้อยที่สุด แต่เนื่องจากเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ และระยะเวลาในสมัยประชุมที่เหลืออยู่ก็ไม่อาจเร่งรัดดำเนินการให้ทันได้ เว้นแต่จะอาศัยความปรองดองจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรส่วนใหญ่เห็นชอบให้เสนอเป็นร่างกฎหมายฉบับเดียวกัน ซึ่งรัฐบาลก็ได้สอบถามความประสงค์แล้ว โดยการพบปะหารือกับผู้นำพรรคการเมืองทุกพรรค ตามที่ประธานสภาผู้แทนราษฎณได้กรุณาประสานงานให้ แต่ผู้นำพรรคการเมืองหลายพรรคแจ้งว่า ไม่อาจดำเนินการได้ทันในสมัยประชุมนี้ และแม้จะทัน ก็ไม่แน่ใจว่า จะได้รับความเห็นชอบร่วมกันในทุกประเด็น การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายเลือกตั้งจึงต้องรอไว้ก่อน แต่รัฐบาลก็ยินดีสนับสนุนการศึกษาวิจัยหรือการแสดงความคิดเห็นของประชาชนเพื่อเป็นแนวทางใช้ประกอบการพิจารณาดำเนินการในโอกาสต่อไป

๔.สำหรับร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม รวม ๔ ฉบับ ซึ่งรัฐสภาได้ให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ ๑๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๓๕ นั้น รัฐบาลได้ทูลเกล้าฯ ถวายร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าว ๓ ฉบับแรกแล้ว อันจะมีผลให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นประธานรัฐสภา สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาสามารถพิจารณาเรื่องต่าง ๆ ได้ในสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่สองโดยไม่จำกัด และอำนาจของวุฒิสภาลดลง เพื่อให้สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย ซึ่งบัดนี้ ก็ได้ทรงลงพระปรมาภิไธย และรัฐบาลได้ดำเนินการประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ส่วนฉบับที่ ๔ อันว่าด้วยการกำหนดคุณสมบัติของนายกรัฐมนตรีว่า ต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนั้น เนื่องจากมีประเด็นพิจารณาในทางกฎหมายว่า เมื่อประกาศใช้แล้ว นายกรัฐมนตรีจะสามารถอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ได้หรือไม่ จึงต้องชะลอการนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายไว้ก่อน เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิทางนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ และผู้มีประสบการณ์ทางการเมืองการปกครอง รัฐบาลขอยืนยันว่า การดำเนินการเช่นนี้มิใช่เพราะปรารถนาอำนาจ หรือประสงค์จะหน่วงเหนี่ยวการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ดังกล่าวแต่อย่างใด หากแต่จำเป็นต้องพิจารณาให้รอบคอบ มิให้กระทบต่อการบริหารราชการแผ่นดินและเจตนารมณ์ของการที่ได้จัดตั้งคณะรัฐมนตรีเฉพาะกิจชุดนี้ขึ้น อย่างไรก็ตาม รัฐบาลจะต้องนำร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ดังกล่าว ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายภายใน ๓๐ วันนับแต่วันที่ ๑๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๓๕ อันเป็นวันที่ได้รับเรื่องจากสำนักงานเลขาธิการรัฐสภา กล่าวคือ ไม่เกินวันที่ ๑๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๕ นั้นเอง

ในการนำร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ ๔ ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อทรงพิจารณา รัฐบาลจะกราบบังคมทูลพระกรุณาเพื่อทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทโดยละเอียดถึงเหตุผลแห่งความล่าช้า และประเด็นพิจารณาในทางกฎหมาย ตลอดจนความเห็นทุกฝ่ายเพื่อประกอบพระบรมราชวินิจฉัยต่อไป

จึงขอเรียนชี้แจงมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน

  • สำนักนายกรัฐมนตรี
  • วันที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๓๕

บรรณานุกรม

[แก้ไข]

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตามมาตรา 7 (3) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"