ข้ามไปเนื้อหา

แถลงการณ์ เรื่อง การจ่ายเงินบาทให้ญี่ปุ่นแลกเปลี่ยนกับเงินเยนในระหว่างสงคราม

จาก วิกิซอร์ซ
แม่แบบผิดพลาด: มีการลบช่องที่ไม่ได้ใช้ออก โปรดเติมกลับเข้าไป (โปรดดูเอกสารกำกับแม่แบบ)
แถลงการณ์
เรื่อง การจ่ายเงินบาทให้ญี่ปุ่นแลกเปลี่ยนกับเงินเยนในระหว่างสงคราม

๑. ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ นั้น ญี่ปุ่นได้มีกองทัพตั้งอยู่ในประเทศไทย และโดยที่จำเป็นต้องใช้จ่ายต่างๆ ญี่ปุ่นจึ่งได้ทำความตกลงขอแลกเปลี่ยนเงินบาทกับเงินเยนเป็นครั้งคราวเมื่อจำเป็นต้องใช้จ่าย
๒. พิธีการปฏิบัติในกรณีดังกล่าวเป็นดังนี้ คือ ธนาคารแห่งประเทศไทยจ่ายเงินบาทให้ธนาคารโยโกฮามาสเปซี่ของญี่ปุ่นในกรุงเทพฯ ตามวงเงินที่ทำความตกลงกันแต่ละคราว แล้วธนาคารโยโกฮาม่าสเปซี่ ก็จ่ายเงินเยนส่งเข้าบัญชีเงินฝากของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ธนาคารแห่งประเทศญี่ปุ่น (ธนาคารชาติของญี่ปุ่น) ณ กรุงโตเกียว ในการนี้ได้ตกลงกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนไว้ ๑ บาทต่อ ๑ เยน เงินเยนที่ธนาคารโยโกฮามาสเปซี่ได้ส่งเงินเข้าบัญชีเงินฝากของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ธนาคารแห่งประเทศญี่ปุ่น ณ กรุงโตเกียวนั้น เรียกกันว่า "เงินเยนพิเศษ" ซึ่งในหลักการ ญี่ปุ่นได้ยินยอมให้ซื้อทองคำจากญี่ปุ่นได้เมื่อธนาคารแห่งประเทศไทยต้องการ ตามจำนวนซึ่งจะได้มีการเจรจาทำความตกลงกันอีกชั้นหนึ่งต่อไปเป็นคราวๆ
๓. โดยนัยดั่งกล่าวมาข้างต้นนี้ จึ่งได้มีการตกลงกันระหว่างธนาคารแห่งประเทศไทยกับญี่ปุ่นเป็นคราวๆ โดยธนาคารแห่งประเทศไทยได้จ่ายเงินบาทให้แก่ธนาคารโยโกฮามาสเปซี่ทางกรุงเทพฯ และธนาคารโยโกฮาม่าสเปซี่ได้จ่ายเงินเยนส่งเข้าบัญชีเงินฝากของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ธนาคารแห่งประเทศญี่ปุ่น ณ กรุงโตเกียว ในจำนวนเท่ากันตามอัตราแลกเปลี่ยนที่กำหนดไว้ข้างต้นนั้น และนับตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงสิ้นสุดสงคราม ได้มีการตกลงจ่ายเงินบาทแลกเปลี่ยนกับเงินเยนรวมทั้งสิ้น ๑๒ ครั้ง ดังรายการต่อไปนี้
ครั้งที่ ๑ ข้อตกลงเมื่อวันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๔๘๔ วงเงินที่จะแลกเปลี่ยนกันเป็นจำนวน ๕๐,๒๓๕,๔๗๘ บาท ๘๐ สตางค์ และได้จ่ายเงินบาทให้ญี่ปุ่นรับไปจริงเพียง ๑๕,๐๐๑,๐๘๓ บาท ๘๑ สตางค์
ครั้งที่ ๒ ข้อตกลงเมื่อวันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๔๘๕ จงเงินที่จะแลกเปลี่ยนกันไม่ได้กำหนด เพียงแต่ว่าจะเป็นจำนวนเท่าที่จำเป็นแก่การค้าเท่านั้น ซึ่งได้จ่ายเงินบาทให้ญี่ปุ่นรับไปจริงเป็นจำนวน ๔๖,๐๒๘,๐๙๓ บาท ๗๐ สตางค์
ครั้งที่ ๓ ข้อตกลงเมื่อวันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๔๘๕ วงเงินที่จะแลกเปลี่ยนกันเป็นจำนวน ๔๐,๕๐๐,๐๐๐ บาท ซึ่งได้จ่ายให้ญี่ปุ่นรับไปเต็มวงเงิน
ครั้งที่ ๔ ข้อตกลงเมื่อวันที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๔๘๖ วงเงินที่จะแลกเปลี่ยนกันเป็นจำนวน ๑๘,๐๐๐,๐๐๐ บาท ซึ่งได้จ่ายให้ญี่ปุ่นรับไปเต็มวงเงิน
ครั้งที่ ๕ ข้อตกลงเมื่อวันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๔๘๖ วงเงินที่ได้แลกเปลี่ยนกันเป็นจำนวน ๖๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท ซึ่งได้จ่ายให้ญี่ปุ่นรับไปเต็มวงเงิน
ครั้งที่ ๖ ข้อตกลงเมื่อวันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๔๘๖ วงเงินที่จะแลกเปลี่ยนกันเป็นจำนวน ๘๓,๒๐๐,๐๐๐ บาท ซึ่งได้จ่ายให้ญี่ปุ่นรับไปเต็มวงเงิน
ครั้งที่ ๗ ข้อตกลงเมื่อวันที่ ๘ เมษายน ๒๔๘๗ วงเงินที่จะแลกเปลี่ยนกันเป็นจำนวน ๒๗๕,๐๐๐,๐๐๐ ซึ่งได้จ่ายให้ญี่ปุ่นรับไปเต็มวงเงิน
สำหรับการตกลงแลกเปลี่ยนเงินบาทกับเงินเยน ๗ ครั้งข้างต้นนี้ ได้กระทำกันในสมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี
ครั้งที่ ๘ ข้อตกลงเมื่อวันที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๔๘๗ วงเงินที่จะแลกเปลี่ยนกันเป็นจำนวน ๑๘๙,๐๐๐,๐๐๐ บาท ซึ่งได้จ่ายให้ญี่ปุ่นรับไปเต็มวงเงิน
ครั้งที่ ๙ ข้อตกลงเมื่อวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๔๘๗ วงเงินที่จะแลกเปลี่ยนกันเป็นจำนวน ๕๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท ซึ่งได้จ่ายให้ญี่ปุ่นรับไปเต็มวงเงิน
ครั้งที่ ๑๐ ข้อตกลงเมื่อวันที่ ๘ มกราคม ๒๔๘๘ วงเงินที่จะแลกเปลี่ยนกันเป็นจำนวน ๔๒๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท ซึ่งได้จ่ายให้ญี่ปุ่นรับไปเต็มวงเงิน
ครั้งที่ ๑๑ ข้อตกลงเมื่อวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๔๘๘ วงเงินที่จะแลกเปลี่ยนกันเป็นจำนวน ๕๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท ซึ่งได้จ่ายให้ญี่ปุ่นรับไปเต็มวงเงิน
ครั้งที่ ๑๒ ข้อตกลงเมื่อวันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๔๘๘ วงเงินที่จะแลกเปลี่ยนกันเป็นจำนวน ๗๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท แต่ได้จ่ายให้ญี่ปุ่นรับไปจริงเพียง ๓๒๙,๔๐๐,๐๐๐ บาท
สำหรับการตกลงแลกเปลี่ยนเงินบาทกับเงินเยนรวม ๕ ครั้งหลังนี้ ได้กระทำกันในสมัย นายควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรี
๔. เป็นอันว่า การจ่ายเงินบาทแลกเปลี่ยนกับเงินเยนในสมัยสงคราม ตั้งแต่เริ่มแรกจนถึงที่สุด รวม ๑๒ ครั้ง ดังกล่าวมาข้างต้นนี้ รวมเป็นเงินบาทที่ได้จ่ายให้ญี่ปุ่นรับไปจริงเป็นจำนวนทั้งสิ้น ๑,๕๘๖,๑๒๙,๑๗๗ บาท ๔๑ สตางค์ ในจำนวนนี้แยกได้เป็น ๒ ส่วน กล่าวคือ จ่ายแลกเปลี่ยนในสมัยที่ จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี โดยความตกลง ๗ ครั้งเป็นเงิน ๕๔๗,๗๒๙,๑๗๗ บาท ๔๑ สตางค์ส่วนหนึ่ง กับในสมัยที่นายควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรี โดยความตกลง ๕ ครั้ง เป็นเงิน ๑,๐๓๘,๔๐๐,๐๐๐ บาท อีกส่วนหนึ่ง
๕. สำหรับเรื่องการเจรจาซื้อทองทำจากญี่ปุ่นตามหลักการที่ได้ตกลงกันไว้ ดังกล่าวในข้อ ๒ ข้างต้นนั้น ได้มีการเจรจาซื้อทองคำจากญี่ปุ่นได้เป็นคราวๆ รวมเป็นปริมาณทั้งสิ้น ๒๖,๗๐๓,๔๘๕.๗๐ กรัมบริสุทธิ์ คิดเป็นราคาในสมัยที่ได้ทองคำมานั้นเป็นเงิน ๑๒๙,๐๐๑,๐๙๕ บาท ๐๖ สตางค์ ทองคำจำนวนนี้ ส่วนหนึ่งได้ขนจากประเทศญี่ปุ่นเข้ามาเก็บรักษาไว้ทางกรุงเทพฯ และส่วนหนึ่งได้ฝากไว้ ณ ธนาคารแห่งประเทศญี่ปุ่น เพราะในระยะปลายสงครามนั้น การขนส่งกระทำกันได้ด้วยความยากลำบากและเสี่ยงอันตรายมาก อย่างไรก็ตาม เมื่อเสร็จสงครามแล้วจึงได้มีการเจรจาผ่านกองบัญชาการทหารสูงสุงของพันธมิตรซึ่งยึดครองประเทศญี่ปุ่นและได้รับคืนทองคำดังกล่าวนี้ไปฝากไว้ ณ ธนาคารเฟเดอราสรีเซอร์ฟ ในสหรัฐอเมริกา
๖. เมื่อได้หักราคาทองคำดั่งกล่าวในข้อ ๕ ออกจากยอดเงินบาทที่จ่ายแลกเปลี่ยนกับเงินเยนตามข้อ ๔ แล้ว เป็นอันว่า ยังเหลือเงินเยนซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นเจ้าหนี้อยู่ในบัญชีเงินฝากที่ธนาคารแห่งประเทศญี่ปุ่นอีกเป็นจำนวนเท่ากับ ๑,๔๕๗,๑๒๘,๐๘๒ บาท ๓๕ สตางค์ หนี้ดังกล่าวนี้ ได้มีการเจรจาทำความตกลงระงับปัญหาเงินเยนพิเศษระหว่างไทยกับญี่ปุ่น เมื่อวันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๔๙๘ แล้ว โดยความตกลงนี้ ญี่ปุ่นตกลงชำระส่วนหนึ่งเป็นเงินปอนด์สเตอร์ลิง มีค่าเท่ากับ ๔,๕๐๐ ล้านเยน ผ่อนชำระเป็น ๕ งวดๆละปี ใช้อัตราแลกเปลี่ยน คืออัตราขายปอนด์สเตอร์ลิงของธนาคารแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศที่ใช้อยู่ในประเทศญี่ปุ่น ณ เวลาที่ชำระเงินแต่ละงวด ซึ่งญี่ปุ่นได้ชำระเสร็จไปแล้ว ๒ งวด คือ งวดที่หนึ่งชำระเมื่อวันที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๔๙๘ เป็นเงินจำนวน ๙๙๔,๗๔๗ ปอนด์ ๑๔ ชิลลิง ๗ เพนนี งวดที่สองชำระเมื่อวันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๔๙๙ เป็นจำนวนเงิน ๑,๐๘๖,๖๗๗ ปอนด์ ๖ ชิลลิง ๘ เพนนี เป็นอันค้างอยู่อีก ๓ งวด ซึ่งญี่ปุ่นจะต้องชำระต่อไปตามกำหนดเวลาแห่งข้อตกลงดั่งกล่าว สำหรับเงินที่ได้รับชำระมาแล้ว ๒ งวดนั้น ได้นำฝากไว้ ณ ธนาคารแห่งประเทศอังกฤษ ที่กรุงลอนดอน ในบัญชีของธนาคารแห่งประเทศไทย อีกส่วนหนึ่งญี่ปุ่นจะให้เป็นสิ่งของและบริการในรูปการลงทุนและเครดิตเป็นจำนวน ๙,๖๐๐ ล้านเยน ความตกลงทั้งนี้ พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ทรงเป็นผู้ดำเนินการตามที่รัฐบาลนี้ได้มอบหมาย
สำนักคณะรัฐมนตรี
๑๑ กันยายน ๒๔๙๙

อ้างอิง

[แก้ไข]

ขึ้น

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตาม แม่แบบผิดพลาด: โปรดระบุประเภทของงานนี้ (ดูวิธีใช้) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"