ข้ามไปเนื้อหา

ไทยกับฝรั่งเศสเป็นไมตรีกันครั้งแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ บทที่ ๑๓

จาก วิกิซอร์ซ
แม่แบบผิดพลาด: มีการลบช่องที่ไม่ได้ใช้ออก โปรดเติมกลับเข้าไป (โปรดดูเอกสารกำกับแม่แบบ)
๑๓

การที่ประเทศฝรั่งเศสได้พ่ายแพ้ในอินเดียนั้น หาได้ทำให้บาดหลวงตาชาด์หมดความพยายามไม่ เมื่อปี ค.ศ. ๑๖๙๓ (พ.ศ. ๒๒๓๖) พวกฮอลันดาได้ไปยึดเมืองปอนดีเชรีไว้ บาดหลวงตาชาด์อยู่ไม่ได้จึงต้องหนีจากเมืองปอนดีเชรีไปอาไศรยอยู่ที่เมืองจันเดอนากอร์ แล้วจึงได้ออกจากเมืองจันเดอนากอร์ไปเมืองมริด เมื่อได้ไปถึงเมืองมริดแล้ว บาดหลวงตาชาด์จึงได้มีจดหมายไปยังพระยาพระคลังว่า

"บาดหลวงตาชาด์ได้กลับมาอีกแล้ว เพื่อจะได้มาจัดการให้พระราชไมตรีในระหว่างสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินทั้งสองและประเทศทั้งสอง ได้สมานติดต่อกันอย่างเดิมต่อไป"

บาดหลวงตาชาด์ได้ทำการอย่างไม่มีอายและคงปฏิบัติการต่าง ๆ ดุจตัวยังคงเปนราชทูตอยู่ แต่ฝ่ายไทยก็หารับรองไม่ ภายหลังมาอีก ๒ ปี คือเมื่อวันที่ ๑๙ เดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๖๙๖ (พ.ศ. ๒๒๓๙) บาดหลวงตาชาด์ได้พยายามจะกลับไปเมืองไทยอีกครั้ง ๑ ในเรื่องนี้บาดหลวงตาชาด์ได้เขียนว่าดังนี้

"ศัตรูของประเทศสยามและประเทศฝรั่งเศสได้ขัดขวางต่อความคิดของข้าพเจ้า แต่ถึงไทยไม่ยอมรับรองข้าพเจ้า ก็หาเปนการกระทำให้ข้าพเจ้าท้อถอยไม่ แต่กลับทำให้ความรักและความจงรักภักดีของข้าพเจ้าต่อพระเจ้ากรุงสยามผู้ทรงอานุภาพกลับมากเพิ่มพูลยิ่งกว่าเก่าเสียอีก"

ในจดหมายที่บาดหลวงตาชาด์มีไปถึงพระยาพระคลังนั้นใช้สำนวนคล้ายกับขู่ และได้กล่าวอย่างมีหลักฐานมั่นคงว่า "ไม่ช้ากองทัพเรือของพระเจ้ากรุงฝรั่งเศสทั้งหมดจะได้มาถึงอยู่แล้ว" แต่ความจริงเรื่องกองทัพเรือฝรั่งเศสนี้เปนเรื่องที่บาดหลวงตาชาด์คิดเอาเองทั้งสิ้น จริงอยู่บาดหลวงตาชาด์ได้คิดแก้ไขความข้อนี้โดยแสดงตัวว่า "มีความจงรักภักดีต่อพระเจ้ากรุงสยาม และมีความมุ่งหมายโดยเฉภาะที่จะทำการฉลองพระเดชพระคุณเพื่อให้พระเกียรติยศของพระเจ้ากรุงสยามได้ทวีขึ้น"

แต่ข้อความในจดหมายฉบับนี้มิได้กล่าวถึงการที่จะรับคนเข้ารีดหรือกล่าวถึงการที่จะทำให้สาสนาแพร่หลายออกไปเลยจนคำเดียว บาดหลวงตาชาด์กลับพูดถึงการค้าขายของบริษัทฝรั่งเศสฝ่ายอินเดีย ว่าจะได้จัดการให้บริษัทได้ทำการค้าขายอย่างแต่ก่อน

คำตอบของพระยาพระคลังครั้งนี้ดูดีขึ้น ด้วยพระยาพระคลังเชื่อใจในบาดหลวงตาชาด์จึงแสดงว่า ฝรั่งเศสได้กระทำถูกต้องตามแบบประเพณีของฝ่ายตวันออกแล้ว โดยเข้าใจว่าเรือรบฝรั่งเศสได้เชิญพระราชสาสนของพระเจ้าหลุยที่ ๑๔ ตามเกียรติยศที่ควรจะทำทุกอย่าง แลเข้าใจว่าบาดหลวงตาชาด์เปนราชทูต คงจะได้เชิญพระราชสาสนของพระเจ้าแผ่นดินฝรั่งเศสถวายต่อพระเจ้าแผ่นดินสยามตามแบบประเพณีของไทยทุกประการ ในจดหมายพระยาพระคลังมีความต่อไปว่าดังนี้

"ข้าพเจ้าได้นำความกราบทูลให้พระเจ้าแผ่นดินนายของข้าพเจ้าทรงทราบว่า ท่านได้มาถึงแล้ว พระเจ้ากรุงสยามนายของข้าพเจ้าทรงนับถือและรักใคร่สมเด็จพระเจ้ากรุงฝรั่งเศสมาก จึงได้มีพระราชดำรัสสั่งให้ข้าพเจ้าเตรียมการรับพระราชสาสนตามแบบแผนราชประเพณีโบราณทุกประการ เพราะฉนั้นการที่จะให้พระราชไมตรีในระหว่างพระเจ้าแผ่นดินทั้งสองได้คงมีและเพิ่มพูลขึ้นนั้น ก็ต้องยึดเอาความไหวพริบและความรอบคอบของท่านเปนหลักต่อไป"

แต่พระราชสาสนของพระเจ้าหลุยที่ ๑๔ นั้น เปนพระราชสาสนเก่าที่ได้เขียนไว้ก่อน ๑๐ ปีมาแล้ว คือเปนพระราชสาสนเขียนเมื่อปี ค.ศ. ๑๖๘๗ (พ.ศ. ๒๒๓๐) ซึ่งพระเจ้าหลุยที่ ๑๔ ส่งมาสำหรับถวายต่อสมเด็จพระนารายน์ พระราชสาสนฉบับนี้เองอันเปนพระราชสาสนถวายสมเด็จพระนารายน์ ซึ่งบาดหลวงตาชาด์คิดจะเอามาถวายต่อพระเพทราชาในปี ค.ศ. ๑๖๙๘ (พ.ศ. ๒๒๔๑) แต่เมื่อจะดูตามสำนวนพระราชสาสนแล้ว ข้อความที่ยกยอสรรเสริญกันก็ยังใช้ได้ เพราะมิได้ระบุเฉภาะตัวผู้ใด แต่ข้อกีดขวางอย่างสำคัญของบาดหลวงตาชาด์นั้น ก็คือเชอวาเลียเดโซเยียซึ่งเปนผู้บังคับการกองทัพเรือฝรั่งเศสในอ่าวเบงกอล บาดหลวงตาชาด์ได้ขอร้องอ้อนวอนหลายครั้งหลายหน เชอวาเลียเดโซเยียจึงให้เรือรบลำ ๑ มีปืนใหญ่ ๕๒ กระบอก สำหรับพาบาดหลวงตาชาด์ไปยังเมืองไทย และให้เชิญพระราชสาสนของพระเจ้าหลุยที่ ๑๔ ไปด้วย เพราะพระราชสาสนฉบับนี้ กลายเปนเครื่องรางอันสำคัญของบาดหลวงตาชาด์เสียแล้ว ด้วยบาดหลวงตาชาด์เชิญแต่พระราชสาสนฉบับเดียวเท่านั้น เครื่องราชบรรณาการอย่างใดหามีไม่ บาดหลวงตาชาด์จึงได้มีจดหมายถึงมองซิเออร์เฟเรอกับมองซิเออร์โบรค์ ซึ่งเปนมิชันนารียังอยู่ที่กรุงศรีอยุธยา ขอร้องให้คนทั้งสองนี้ช่วย และได้กล่าวคำว่าดังนี้

"ข้าพเจ้าเชื่อใจว่าในครั้งนี้ท่านคงจะได้จัดการทุกอย่างที่จะกราบทูลพระเจ้ากรุงสยามและเรียนต่อท่านเสนาบดีไทยให้ได้จัดการรับรองพระราชสาสนของพระเจ้ากรุงฝรั่งเศส ซึ่งข้าพเจ้าได้เชิญมานั้น โดยเต็มเกียรติยศทุกอย่าง"

พวกมิชันนารีในกรุงศรีอยุธยาได้ช่วยเหลือบาดหลวงตาชาด์ทุกอย่าง และได้จัดให้บาดหลวงตาชาด์กับบาดหลวงเยซวิต ๒ คนและชาวฝรั่งเศส ๔ คนซึ่งได้มาพร้อมกับบาดหลวงตาชาด์ พักในโรงเรียนสามเณร แต่บาดหลวงตาชาด์หายอมที่จะไปพักในโรงเรียนไม่ ฝ่ายพระยาพระคลังก็แกล้งขัดขวางในการที่จะรับรองบาดหลวงตาชาด์ เปนต้นว่าเสบียงอาหารที่จะส่งให้รับประทานนั้น ไทยไม่ยอมส่งเนื้อสัตว์อย่าง ๑ อีกอย่าง ๑ เมื่อบาดหลวงตาชาด์จะเข้าเฝ้าจะต้องถูกบังคับให้นั่ง และเมื่อเรือที่เชิญพระราชสาสนได้มาถึงปากน้ำแล้ว ไทยก็หาได้ลงไปรับเหมือนอย่างคราวก่อน ๆ ไม่ นอกจากนี้ยังมีข้อขัดขวางอีกหลายพันอย่าง แต่บาดหลวงตาชาด์ก็ยอมและอดทนเอาทุกอย่าง

พระราชสาสนของพระเจ้ากรุงฝรั่งเศสนั้น ได้ถวายต่อพระเจ้ากรุงสยามโดยมีพิธีต่าง ๆ ตามประเพณีที่เคยกันมา และบาดหลวงตาชาด์ผู้เปนราชทูตก็ได้ทำการตามหน้าที่อย่างดีที่สุด บาดหลวงตาชาด์ได้พักอยู่ที่กรุงศรีอยุธยาสามอาทิตย์ จึงได้เชิญพระราชสาสนของพระเจ้ากรุงสยามตอบพระราชสาสนของพระเจ้ากรุงฝรั่งเศส พระราชสาสนฉบับนี้ก็ได้เขียนด้วยวิธีอย่างเดียวกับพระราชสาสนฉบับก่อน ๆ ๒ ฉบับ คือได้จารึกในแผ่นทองคำและบรรจุในหีบทองคำ[1] บาทหลวงตาชาด์หาได้เชิญเครื่องราชบรรณาการมาด้วยไม่ เพราะเมื่อได้เชิญพระราชสาสนของพระเจ้ากรุงฝรั่งเศสไปนั้นก็มิได้มีเครื่องราชบรรณาการไปเหมือนกัน แต่การที่บาดหลวงตาชาด์ได้เชิญพระราชสาสนทั้งไปและมาคราวนี้ มิได้มีผลอย่างใดเลย การที่ไม่มีผลคราวนี้ก็คงจะเปนตามความเห็นของบาดหลวงตาชาด์นั้นเอง คือว่าไม่มีเรือฝรั่งเศสไปที่เมืองมริดและที่บางกอกเลย เพราะตามความเห็นของชาวตวันออกนั้น ประเทศใดที่มั่งคั่งบริบูรณ์กว่า และที่มีกำลังมากกว่าเปนประเทศที่จะทำการสำเร็จได้ดีกว่าประเทศอื่น[2] ข่าวที่ลือว่ากองทัพเรือฝรั่งเศสได้ไปที่เมืองไทย แต่ความจริงหาได้ไปไม่นั้น ได้กระทำให้พวกไทยกลับไม่ไว้ใจหนักขึ้นอิก เพราะฉนั้นเมื่อจะพูดหรือแนะนำอย่างใด ไทยจึงมีความสงไสยอยู่เสมอ

มองซิเออร์โบรด์ ซึ่งเปนผู้จัดการคณะบาดหลวงในเมืองไทยตั้งแต่สังฆราชเดอเมเตโลโปลิศได้ถึงแก่กรรมไปแล้วนั้น ได้เขียนข้อความว่าดังนี้

"พวกเราก็ยังอยู่เหมือนที่เคยกันมาแต่ก่อน ไม่มีใครจะพูดถึงเรื่องอะไรได้เลย พวกอันน่าเวทนาซึ่งถูกขังอยู่ในพระราชวังและทำการให้แก่ราชสำนักนั้น คงจะต้องร้องครางอยู่อีกนานจึงจะพ้นที่คุมขังมาได้ ถ้าแม้ว่าฝรั่งเศสจะต้องการทำความตกลงกับไทยเพื่อประโยชน์แก่สาสนาแล้วก็จะต้องมอบการทั้งปวงให้ท่านผู้อำนวยการของราชบริษัทฝ่ายอินเดียจัดการจึงจะเปนผลสำเร็จ เพราะพวกไทยต้องการแต่บุคคลซึ่งจะมาเจรจาด้วยการค้าขายอย่างเดียวเท่านั้น ถ้าหากว่าบาดหลวงตาชาด์จะกลับมาเมืองไทยแต่ตัวคนเดียวอีกแล้ว ข้าพเจ้าไม่เชื่อเลยว่าการทั้งปวงจะดีกว่านี้ขึ้นได้ การก็คงจะไม่สำเร็จ และก็จะต้องตั้งต้นกันใหม่ร่ำไป"

ตามข้อความข้างท้ายนี้ก็พอจะเห็นได้ว่าพวกมิชันนารี และพวกเยซวิตก็ยังคงแตกคณะกันอยู่ และบาดหลวงตาชาด์มิได้จัดการอย่างไรให้สองจำพวกนี้ได้ปรองดองกันเลย

บาดหลวงตาชาด์หาได้กลับมายังเมืองไทยอีกไม่ แต่ถึงดังนั้นก็มิได้วายที่จะหวังจะกลับมาอีก พอบาดหลวงตาชาด์ได้กลับไปถึงฝรั่งเศส ก็ได้รีบทำรายงานอันยืดยาวยื่นต่อเสนาบดีกระทรวงทหารเรือชี้แจงว่าการที่ฝรั่งเศสจะไปตั้งอยู่ที่เมืองมริดและเมืองตะนาวศรีนั้นเปนเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง และบาดหลวงตาชาด์ผู้ที่เคยเปนราชทูตก็หวังใจว่าเจ้าพนักงานฝรั่งเศสก็คงจะเห็นชอบตามความเห็นของตัว แต่ถึงจะอย่างไรก็ตามบาดหลวงตาชาด์ก็ได้อธิบายชี้แจงให้เห็นว่า ตัวมีความรู้ชำนาญในพื้นที่เหล่านี้จริง คือ ได้ชี้แจงอย่างเลอียดว่าท่าเรือเมืองมริดจะเปนประโยชน์สำหรับเรือที่จะไปมาได้เพียงไร เช่นว่า การหาเสบียงอาหารสำหรับใช้ในเรือการซ่อมแซมเรือ เรือจะเข้าออกได้โดยสดวก ท่าจอดเรือก็เปนที่เหมาะ ดังนี้เปนต้น ในรายงานนั้นถึงกับทำบาญชีการใช้จ่าย และกะเสร็จว่าจะต้องมีพลทหารบกเท่าไร ทหารเรือเท่าไร จะต้องมีเรือกี่ลำ ปืนใหญ่กี่กระบอก จะต้องจ่ายค่าเงินเดือนเท่าไร ค่าอาหารการรับประทานเท่าไร จนถึงกับป้อมจะต้องมีอย่างไร บาดหลวงตาชาด์กะเอาเองทั้งสิ้น แต่เหตุสำคัญที่บาดหลวงตาชาด์ยกมาอ้างในรายงานฉบับนี้ ก็คือเรื่องการที่เกี่ยวด้วยสาสนา เพราะบาดหลวงตาชาด์ทราบอยู่ว่าเปนเรื่องที่ต้องพระไทยของพระเจ้าหลุยที่ ๑๔

ในส่วนที่พระราชวังเวอซายนั้น ก็มิได้สละความคิดที่จะให้ประเทศฝรั่งเศสเปนใหญ่ในทางสินค้าที่เมืองมริด เมื่อปี ค.ศ. ๑๗๐๒ (พ.ศ. ๒๒๔๕) บาดหลวงตาชาด์ได้กลับไปเมืองปอนดีเชรีอีก แต่ในครั้งนี้ดูเหมือนรัฐบาลฝรั่งเศสไม่ได้มอบให้บาดหลวงตาชาด์ไปเจรจาการเมืองกับประเทศสยามเลย

มองซิเออร์ เคเมอเนร์ สังฆราชเดอสุระผู้แทนมองซิเออร์โบรด์ที่กรุงศรีอยุธยานั้น ได้ทราบในพระราชดำริห์ของพระเจ้าหลุยที่ ๑๔ โดยได้รับรายงานลับกล่าวถึงการที่ฝรั่งเศสคิดจะไปสร้างป้อมที่เมืองมริด ๒ ป้อม และคิดจะไปตั้งห้างในเมืองนั้นด้วย สังฆราชเดอสุระจึงได้ไปบอกให้ราชสำนักสยามทราบถึงเรื่องนี้ และได้ไปยืนยันว่าการที่จะเปนไมตรีกับฝรั่งเศสนั้นเปนเรื่องที่จะได้สงบเรื่องทั้งปวงต่อไป พระยาพระคลังได้ชมเชยสังฆราชเดอสุระว่าเปนผู้ที่เอาใจใส่ต่อการงานดี แต่ข้อที่สังฆราชนำมาพูดนั้นเปนเรื่องไม่สมควรเลย พระยาพระคลังจึงยกเหตุต่าง ๆ มาคัดค้าน เช่นว่า ๑ พระเจ้าหลุยที่ ๑๔ หาได้มีพระราชสาสนมาไม่ ๒ ทางไปมาในระหว่างเมืองมริดและกรุงศรีอยุธยาเปนหนทางไกลและยากลำบากมาก ๓ ถ้าฝรั่งเศสไปอยู่ที่เมืองมริดแล้ว พวกไทยฝรั่งเศสและพม่าคงจะไม่ถูกกันได้ ด้วยเหตุหลายประการเหล่านี้ พระยาพระคลังจึงเห็นว่าไม่เปนเรื่องที่ควรจะนำความกราบทูลให้ทรงทราบได้ ต่อนั้นมาไทยก็คิดจะปิดหนทางมิให้ฝรั่งเศสได้ปรองดองกับไทยได้อีกต่อไป พระเจ้ากรุงสยามจึงได้ออกประกาศห้ามมิให้บรรดาล่ามของชนต่างประเทศ "ได้เขียนหนีงสือในนามของชาวต่างประเทศเปนอันขาด" และห้ามมิให้พวกล่ามได้ยื่นหนังสือแทนชาวต่างประเทศ เว้นแต่ได้ทราบแล้วว่าหนังสือนั้น ๆ จะเปนที่พอใจของพระยาพระคลังจึงจะยื่นได้ และถ้าล่ามคนใดฝ่าฝืนต่อประกาศอันนี้ก็จะต้องรับโทษอย่างหนัก

ภายหลังมาได้เกิดเรื่องอันไม่รู้ตัวซึ่งกระทำให้พวกฝรั่งเศสในเมืองไทยได้มีความหวังใจขึ้นอีก คือเมื่อปี ค.ศ. ๑๗๐๓ (พ.ศ. ๒๒๔๖) พระเพทราชาได้เสด็จสวรรคต พระราชบุตร์จึงได้ครองราชสมบัติโดยไม่มีผู้ใดขัดขวางเลย พระเจ้าแผ่นดินองค์ใหม่นี้ได้แสดงพระองค์ว่า มีพระราชประสงค์จะต่อพระราชไมตรีกับฝรั่งเศสอันได้ขาดมาถึง ๑๕ ปีแล้ว จึงได้รับสั่งกับสังฆราชเดอซาบูลา ซึ่งพึ่งมาแทนสังฆราชเดอสุระในพระราชประสงค์นี้[3] แต่สังฆราชเดอซาบูลาได้ฟังพระกระแสแล้วก็หาได้รับรองอย่างใดไม่ เปนแต่กราบทูลว่าในการเรื่องอื่นสังฆราชเต็มใจที่จะฉลองพระเดชพระคุณ แต่ก็ไม่รับรองอย่างใด เพราะสังฆราชทราบอยู่เต็มใจว่าถ้อยคำเช่นนี้เปนสิ่งที่เชื่อไม่ได้ ทั้งทราบอยู่ด้วยว่าในเวลานั้นในประเทศฝรั่งเศสและทวีปยุโหรปได้เกิดการวุ่นวายกันต่าง ๆ แต่ถึงดังนั้นมองซิเออร์หลุยเดอซิเซสังฆราชเดอซาบูลาก็ได้รายงานไปยังราชสำนักฝรั่งเศสและผู้ว่าราชการเมืองปอนดีเชรีให้ทราบในพระราชดำริห์ของพระเจ้ากรุงสยามองค์ใหม่ สังฆราชเดอซาบูลาได้ฝากรายงานไปกับบาดหลวงชาติอิตาเลียนคน ๑ ชื่อบาดหลวงนิโกลาซ์ชีมา อยู่ในคณะโอกุศแตง ซึ่งมาจากเมืองจีน เพื่อจะกลับไปประเทศอิตาลี สังฆราชเดอซาบูลาได้ฝากฝังบาดหลวงอิตาเลียนคนนี้ ซึ่งเดินทางมีหีบปัดเข้าของเปนอันมาก ทั้งถือหนังสือเดินทางซึ่งเซ็นพระนามพระเจ้ากรุงสยาม และเซ็นนามพระยาพระคลังด้วย[4] ตัวอย่างที่บาดหลวงตาชาด์ได้ทำไว้เปนสิ่งที่สังฆราชเดอซาบูลาได้จำไว้

ในครั้งนั้นมองซิเออร์ฟรังซัวมาแตงต้องทอดอาไลยที่ได้รู้สึกว่าเปนอันหมดโอกาศที่บริษัทฝรั่งเศสฝ่ายอินเดียตวันออกจะได้เปนใหญ่ทางฝ่ายทะเลต่อไปได้ เพราะหมดโอกาศที่ฝรั่งเศสจะไปตั้งที่เมืองมริด เมืองจันเดอนากอร์ และเมืองปอนดีเชรีแล้ว ข้อวิตกของสังฆราชเดอซาบูลาก็มีมูลอยู่บ้าง เพราะข้อที่ฝรั่งเศสฝันว่าจะได้เปนใหญ่ในฝ่ายทวีปอาเซียนั้นจะต้องงดสงบไปนาน ด้วยเหตุว่าเวลานั้นบริษัทฝรั่งเศสเกือบจะหมดกำลังอยู่แล้ว การที่เปนดังนี้ประกอบด้วยเหตุหลายอย่างคือ ๑ การค้าขายของบริษัทไม่มีผลอันใด เพราะเหตุที่ผู้จัดการในกรุงปารีสบัญชาการในทางที่ผิด ๒ ต้นทุนของบริษัทก็น้อยลง ๓ พวกฮอลันดาได้ทำให้บริษัทเกิดความฉิบหายอันแก้ไขไม่ได้แล้ว เมื่อบริษัทฝรั่งเศสหมดกำลังที่จะทำการค้าขายได้เช่นนี้ จะทิ้งให้ลูกจ้างของบริษัทอดตายก็ไม่ได้ บริษัทจึงได้อนุญาตให้พวกลูกจ้างขายใบอนุญาตให้แก่พวกพ่อค้าอื่น ๆ และพ่อค้าเหล่านี้ได้รับอนุญาตไปแล้วก็ไปทำการเอาร่ำรวยได้ ในคราวนี้พระเจ้ากรุงฝรั่งเศสจะช่วยให้บริษัทรอดจากความฉิบหายเหมือนเมื่อคราวปี ค.ศ. ๑๖๘๔ (พ.ศ. ๒๒๒๗) ไม่ได้แล้ว เพราะในเวลานั้นเกิดการขึ้นหลายอย่าง คือ ในประเทศสเปนก็เปลี่ยนรัชกาล บรรดาประเทศทั้งหลายในทวีปยุโหรปก็รวบรวมกันจะต้อสู้กับฝรั่งเศส ซึ่งกระทำให้พระเจ้าหลุยที่ ๑๔ ต้องเปนกังวลตามชายแดนเพราะพวกข้าศึกจะยกเข้ามาย่ำยีอยู่แล้ว เมื่อการเปนอยู่ดังนี้พระเจ้าหลุยที่ ๑๔ จะมาทรงพระราชดำริห์ถึงการที่จะส่งทหารไปยึดเมืองมริดและจะเอาเมืองไทยอยู่ในความปกครองของฝรั่งเศสได้อยู่หรือ เพราะในเวลานั้นพระเจ้าฟิลิปที่ ๕ พระเจ้ากรุงสเปนผู้เปนพระนัดดาของพระองค์จะต้องซื้อพระมหามงกุฎไว้ โดยแบ่งแยกอาณาเขตร์ให้แก่ประเทศออศเตรีย และต้องยกเมืองยีบรอลตาและเมืองมีนอกาให้แก่อังกฤษ ทั้งพระเจ้าหลุยที่ ๑๔ เองก็ต้องหาหนทางที่จะสิ้นพระชนม์โดยความผาสุก จึงต้องยกเกาะนิวเฟาน์แลนด์ซึ่งเปนลูกกุญแจแห่งประเทศคานาดาให้แก่อังกฤษด้วย

เมื่อสิ้นรัชกาลพระเจ้าหลุยที่ ๑๔ แล้ว ฝอยของการขบถในเมืองไทยได้มีมาถึงประเทษฝรั่งเศสอีก คือ ดอญากูโยมาร์เดอปีญา ภรรยาของคอนซตันตินฟอลคอน กับลูอีซาปาซานาภรรยาของยอช ฟอลคอนผู้เปนบุตร์ของฟอลคอนเสนาบดีเก่าของไทย ได้ถวายเรื่องราวต่อพระเจ้าหลุยที่ ๑๕ ร้องขอให้บริษัทฝรั่งเศสฝ่ายอินเดียได้คืนเงินซึ่งคอนซตันตินฟอลคอนได้จ่ายให้แก่บริษัท และขอให้คืนทุนที่คอนซตันตินฟอลคอนได้เข้าหุ้นกับบริษัททั้งขอให้ใช้ดอกเบี้ยให้ด้วย ในเรื่องนี้ผู้รับทรัพย์มรฎกของฟอลคอนได้อ้างหนังสือสัญญาที่ได้ทำกันในระหว่างมองซิเออร์เซเบเรต์และคอนซตันตินฟอลคอนเมื่อปี ค.ศ.๑๖๘๗ (พ.ศ. ๒๒๓๐) และอ้างในข้อที่คอนซตันตินฟอลคอนได้เปนผู้อำนวยการของบริษัทผู้ ๑ ด้วย พวกผู้อำนวยการได้โต้เถียงคัดค้านในเรื่องราวนี้อยู่ช้านาน และอ้างว่าภรรยาของฟอลคอนผู้ตายได้เปนคนโปรดอยู่ในราชสำนักไทยมานานแล้ว และในเวลานี้ก็ได้รับตำแหน่งอันได้ผลประโยชน์มากโดยเปนพระพี่เลี้ยงของพระราชโอรสแล้ว เพราะฉนั้นไม่ควรที่พระเจ้าหลุยที่ ๑๕ จะทำพระไทยอ่อนยอมตามเรื่องราวฉบับนี้ ส่วนภรรยาของยอชฟอลคอนผู้ถึงแก่กรรมนั้นก็ได้มีสามีใหม่แล้ว โดยได้แต่งงานกับชาวเมืองไอร์แลนด์ ชื่อมองซิเออร์คูลี ซึ่งเปนคนที่มีทรัพย์มาก เพราะฉนั้นการที่ภรรยาของบุตร์ฟอลคอนถวายเรื่องราวเช่นนี้ไม่มีมูลอันใดเลย แล้วคณะผู้อำนวยการของบริษัทฝรั่งเศสได้ชี้แจงต่อไปว่า คอนซตันตินฟอลคอนมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามข้อความที่ได้สัญญาไว้ เงินที่สัญญาว่าจะให้นั้นก็ได้ให้แต่ครึ่งเดียวเท่านั้น เพราะฉนั้นผู้รับทรัพย์มรฎกของคอนซตันตินฟอลคอนมิได้เกี่ยวในการได้เสียของบริษัท จึงไม่ควรจะได้รับประโยชน์จากบริษัทอย่างใด แต่ควรจะต้องใช้เงินให้แก่บริษัทจึงจะถูก และข้อที่ขอร้องในเรื่องราวนั้นไม่มีแก่นสารอย่างใดเลย

แต่ความเห็นของที่ปฤกษาราชการแผ่นดินฝรั่งเศสมิได้เห็นพ้องด้วยกับผู้อำนวยการของบริษัท เมื่อวันที่ ๒๖ เดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๗๑๗ (พ.ศ. ๒๒๖๐) รัฐบาลฝรั่งเศสจึงได้ออกประกาศให้ภรรยาของคอนซตันตินฟอลคอนได้รับส่วนแบ่งก่อนเจ้าหน้าที่อื่น ๆ ของบริษัท คือให้ได้รับเงินเลี้ยงชีพ ๓๐๐๐ ปอนด์ (ฝรั่งเศส) และให้ภรรยาคอนซตันติ ฟอลคอนกับภรรยาบุตร์คอนซตันตินฟอลคอน ได้รับประโยชน์เท่ากับเจ้าหน้าที่อื่นๆ ของบริษัทในเวลาที่แบ่งกำไรต้นทุนที่ได้ออกไปแล้ว การที่เสนาบดีของพระเจ้าหลุยที่ ๑๕ ได้ทำใจดีเช่นนี้ ถ้าดูเผิน ๆ ก็เปนข้อน่าจะคัดค้านอยู่ แต่ก็เปนการแก้ในความปฏิบัติอันน่าเสียใจของมองซิเออร์เดฟาช์อยู่บ้าง

เมื่อราว ค.ศ. ๑๗๐๐ ถึง ๑๘๐๐ ประเทศฝรั่งเศสได้พยายามคิดเปนใหญ่ ทางทะเลฝ่ายอินเดียอีกคราว ๑ แต่หาได้คิดล่วงล้ำเข้าไปถึงประเทศสยามไม่ ที่ที่ทำการของฝรั่งเศสในเวลานั้นก็คือที่เมืองฮินดูซตานแห่ง ๑ และที่เมืองญวนครั้งแผ่นดินพระเจ้าเกียหลงอีกแห่ง ๑ ซึ่งเปนแห่งที่แสดงความกล้าหาญของกลาสีฝรั่งเศส และแสดงความสับเพร่าของรัฐบาลฝรั่งเศสด้วย

เชิงอรรถ

[แก้ไข]
  1. พระราชสาสนฉบับนี้ลงวันที่ ๒๘ เดือนมกราคม ค.ศ. ๑๖๙๙ (พ.ศ. ๒๒๔๑) แต่ถ้อยคำที่ใช้เปนถ้อยคำสามัญหาแก่นสารไม่ได้ พระราชสาสนนั้นมีความว่าดังนี้
    "พระราชสาสนสมเด็จพระเจ้ากรุงสยาม ถวายสมเด็จพระเจ้ากรุงฝรั่งเศสและกรุงนาวาร์ผู้ทรงเดชานุภาพอันใหญ่ยิ่งจนถึงกับพระนามได้เลื่องลือไปทั่วทวีปยุโหรป และเปนผู้ซึ่งพระผู้เปนเจ้าได้โปรดให้มีไชยชนะแก่บรรดาพระเจ้าแผ่นดินอันเปนราชศัตรู ข้าพเจ้าได้ขอร้องต่อพระผู้เปนเจ้าผู้ปกครองการทั่วไปทั้งในโลกนี้และโลกโน้น ขอได้โปรดพิทักษ์รักษาพระองค์และพระราชวงศ์ ขอให้พระองค์ได้มีอานุภาพและอำนาจยิ่งขึ้นไป และขอให้พระองค์ได้มีพระเกียรติยศเพิ่มพูลขึ้น ด้วยพระองค์ได้ทรงระฦกถึงพระราชไมตรีที่ได้ทรงมีไว้กับพระเจ้าแผ่นดินที่เสด็จสวรรคตไปแล้ว และมีพระราชประสงค์จะให้พระราชไมตรีได้คงมีต่อไป จึงได้โปรดให้บาดหลวงตาชาด์เชิญพระราชสาสนมาซึ่งเราได้รับไว้ที่กรุงศรีอยุธยา เมื่อณวันพุฒ แรม ๑๓ ค่ำ เดือนยี่ ปี ๒๒๔๒ แล้ว ข้อความตามพระราชสาสนฉบับนี้ซึ่งพระองค์ได้โปรดให้บาดหลวงตาชาด์เชิญมานั้น ข้าพเจ้าได้ทราบข้อความทุกประการแล้ว และได้กระทำให้ข้าพเจ้ามีความยินดีอย่างยิ่ง ด้วยในพระราชสาสนฉบับนี้ได้แลเห็นพระปรีชาญาณของพระองค์ ดุจเปนรัศมีของพระอาทิตย์และพระจันทร์อันส่องแสงไปทั่วโลก ซึ่งเปนการสมควรแก่พระเจ้าแผ่นดินอันทรงเดชานุภาพในฝ่ายทิศตวันตกยิ่งนัก เพราะเปนผู้ที่ทรงปกครองบ้านเมืองด้วยพระปรีชาสามารถ อันกระทำให้ราษฎรพลเมืองมีความนิยมยินดี ทั้งทำให้พระเจ้าแผ่นดินในโลกนี้ได้นิยมนับถือพระองค์ด้วย"
    ไม่ต้องสงไสยเลยว่าพระราชสาสนฉบับนี้มีจริงดังว่าเพราะมีพยานปรากฎในจดหมายอื่น ๆ ซึ่งมีข้อความว่าดังนี้
    "ท่านเคาน์เดอตูลูซได้ให้เชิญพระราชสาสนเขียนในแผ่นทองคำของพระเจ้ากรุงสยามถวายพระเจ้ากรุงฝรั่งเศส ลงวัน เดือน ปี ค.ศ. ๑๖๙๙ (พ.ศ. ๒๒๔๒) ไปถวายไว้ที่ท่านผู้สำเร็จราชการแผ่นดินซึ่งเปนพระราชสาสนที่ได้เก็บรักษาไว้ในกระทรวงทหารเรือ และคำแปลเปนภาษาฝรั่งเศสติดอยู่กับต้นฉบับด้วย พระราชสาสนฉบับนี้ได้จารึกในแผ่นทองคำทำด้วยเหล็กแหลม และได้บรรจุในหีบทองคำซึ่งมีฝาทำเปนยอดแหลมอย่างแบบไทย แผ่นทองคำที่จาริกพระราชสาสนกับหีบทองคำที่บรรจุมานั้นมีน้ำหนักครึ่งปอนด์เศษ หีบทองดำนั้นได้ใส่ถุงทำด้วยแพรไหมทอง มีไหมสีแดงผูกรัด และปลายเส้นไหมนั้นมีลูกตุ้มทองคำ ๒ ลูก เส้นไหมนี้ร้อยในห่วงทองคำซึ่งติดอยู่กับถุงนั้นรวม ๑๕ ห่วง ถุงนั้นวางบนหมอนซึ่งทำด้วยผ้าและแพรสีขาวและทอง ทั้งหมดนี้ได้บรรจุในหีบลงรักแดงอย่างไทย ที่มุมหีบนั้นหุ้มด้วยแผ่นเงินอย่างบาง และมีสายโซ่เล็ก ๆ ทำด้วยเงินสำหรับยึดฝาไว้ เมื่อท่านผู้สำเร็จราชการแผ่นดินได้ทรงตรวจแล้ว จึงได้รับสั่งให้เอาไปเก็บไว้ในห้องสมุดของหลวง และรับสั่งให้ท่านบาดหลวงบินยองทำใบรับให้ไว้แก่มองซิเออร์แคลรำโบต์ ซึ่งเปนเจ้าพนักงานสำหรับรักษาหนังสือของกระทรวงทหารเรือ"
    พระราชสาสนฉบับนี้และฉบับก่อน ๆ ไม่ได้มีอยู่ในหอสมุดหลวงเสียแล้ว ไม่ทราบว่าจะหายสูญไปข้างไหน
  2. เปนการน่าเสียดายที่เรือของพระเจ้ากรุงฝรั่งเศสมิได้มาที่เมืองมริดดังได้สัญญาไว้ แต่การที่กองทัพเรือได้ถูกเคราะห์ร้ายโดยที่เรือลำดีที่สุดได้แตกเสียและพวกเรือได้ล้มตายเกือบหมดทั้งสิ้นได้ทำให้พวกไทยหยิ่งมากขึ้น แต่ข้าพเจ้าจะต้องกล่าวว่าพวกไทยต้องการพวกฝรั่งเศส เพราะไทยหากำไรจากฝรั่งเศสได้มาก แต่ก็กลัวว่าพวกฝรั่งเศสจะโกรธและจะมาทำการแก้แค้น เพราะการที่ไทยทำไว้นั้นก็เปนการสมควรอยู่ที่ฝรั่งเศสจะต้องมาแก้แค้น
    (ข้อความนี้ได้คัดจากจดหมายบาดหลวงตาชาด์ถึงมองซิเออร์ปองชาตแรง เขียนจากเมืองมาตีนิก และลงวันที่ ๘ เดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๗๐๐ (พ.ศ. ๒๒๔๒)
  3. เมื่อพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่นี้ได้เสด็จเถลิงถวัลราชสมบัติแล้ว และพระอนุชาก็ยังคงมีพระชนม์อยู่ ข้าพเจ้าจึงได้ทำตามแบบอย่างของบรรดาหัวหน้าชาวต่างประเทศซึ่งอยู่ในประเทศสยาม คือ ได้ไปเฝ้าแสดงความยินดีที่พระองค์ได้เสด็จผ่านพิภพ พระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่ได้ทรงรับรองข้าพเจ้าอย่างดี ได้รับสั่งสรรเสริญชมเชยประเทศฝรั่งเศส และรับสั่งว่ามีพระราชประสงค์จะได้ทำไมตรีติดต่อกับฝรั่งเศสอีก เพื่อจะได้ให้พ่อค้าฝรั่งเศสได้เข้ามาทำการค้าขายในพระราชอาณาจักร์อย่างเดิม และจะได้โปรดพระราชทานที่ให้ตั้งห้างและโรงงาน ทั้งจะได้พระราชทานสิทธิต่าง ๆ ให้แก่ฝรั่งเศส เหมือนกับที่ได้พระราชทานให้แก่พวกฮอลันดาอยู่แล้ว (ข้อความนี้คัดจากจดหมายสังฆราชเดอซาบูลา ถึงมองซิเออร์มาแตง เจ้าเมืองปอนดีเชรี ลงวันที่ ๒๖ เดือนกันยายน ค.ศ. ๑๗๐๓ (พ.ศ. ๒๒๔๖)
  4. ในเรื่องนี้ข้าพเจ้าเชื่อว่าที่ประเทศฝรั่งเศสคงจะไม่รับเอาเปนข้อดำริห์เปนแน่ เพราะไทยไม่ได้พูดเรื่องอะไรเลยนอกจากพูดเรื่องพ่อค้าและเรือของบริษัทฝรั่งเศสเท่านั้น และความประสงค์ของไทยก็มีแต่จะต้องการให้ทำการค้าขายเหมือนที่บริษัทฝรั่งเศสเคยทำอยู่เมื่อก่อนเกิดการขบถในเมืองไทย แต่มีข้อแปลกอยู่ข้อเดียวเท่านั้นคือว่าไทยจะให้สิทธิแก่ฝรั่งเศสเหมือนกับที่ได้ให้พวกฮอลันดาอยู่แล้ว ถ้าความประสงค์ของไทยนี้เปนที่พอใจของฝรั่งเศสแล้ว นิไสยของคณะฝรั่งเศสคงจะได้เปลี่ยนแปลงไปมาก เพราะข้าพเจ้าเชื่อว่าฝรั่งเศสจะไม่ต้องการแต่เฉภาะจะตั้งห้างอย่างเดียว ส่วนตัวท่านนั้นย่อมทราบดีอยู่แล้วว่า พระราชสำนักฝรั่งเศสและบริษัทฝรั่งเศสมีความประสงค์อย่างใดในเมืองไทย เพราะฉนั้นบางที่ท่านจะมีความเห็นต่างกับข้าพเจ้าก็เปนได้ แต่ถึงจะอย่างไรก็ตาม ขอท่านได้โปรดบอกให้ข้าพเจ้าทราบว่าจะได้มีเรือฝรั่งเศสมาค้าขายในเมืองไทยบ้าง หรือจะไม่มีมาเลยอย่างใด เพราะถ้าจะไม่มีเรือฝรั่งเศสมาแล้ว ข้าพเจ้าจะได้แจ้งให้ไทยทราบ เพื่อไทยจะได้หมดหวังในข้อที่มุ่งหมายจะให้เรือฝรั่งเศสมาทำการค้าขายในเมืองไทยต่อไป เพราะไทยเชื่อใจว่าเมื่อฝรั่งเศสทราบว่าไทยอยากจะเปนไมตรีด้วยแล้ว พวกฝรั่งเศสในประเทศฝรั่งเศสและอินเดียก็คงจะกางแขนออกรับรองเปนแน่ (ข้อความนี้คัดจากจดหมายสังฆราชเดอซาบูลา มีไปถึงมองซิเออร์มาแตงและมองซิเออร์ปองชาแรง ลงวันที่ ๒๖ และที่ ๒๕ กันยายน ค.ศ. ๑๗๐๓ (พ.ศ. ๒๒๔๖)