ไปพะม่า
หน้านี้ขาดแหล่งที่มาของเนื้อหา ถ้าเป็นไปได้ ควรเป็นเอกสารต้นฉบับที่สแกนมาอัปโหลดไว้ที่วิกิมีเดียคอมมอนส์แล้วจัดทำแบบพิสูจน์อักษร หรือถ้าไม่สามารถอัปโหลดต้นฉบับเช่นนั้นได้ อย่างน้อยก็ควรระบุแหล่งที่มาที่สามารถตรวจสอบความถูกต้องแท้จริงของเนื้อหาได้ |
"ไปพะม่า"
โดย หลวงวิจิตรวาทการ
อธิบดีกรมศิลปากร, เลขาธิการราชบัณฑิตยสถาน, อาจารย์ประวัติศาสตร์ ในมหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์, ผู้บรรยายประวัติศาสตร์การปกครอง ในมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง
พิมพ์จำหน่ายที่โรงพิมพ์ กรุงเทพบรรณาคาร ถนนเจริญกรุง พระนคร ขุนวาทีหุรารักษ์ ผู้พิมพ์โฆษณา พ.ศ. ๒๔๗๙
คำนำ
โดยอนุมัติของกระทรวงธรรมการและคณะรัฐมนตรี ความฝันของข้าพเจ้าในการไปประเทศพม่าได้เป็นความจริงขึ้นในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๙ ข้าพเจ้าเคยสนใจในประวัติศาสตร์และความเป็นไปของประเทศนี้มากว่า ๑๐ ปี ข้าพเจ้าเคยซื้อหนังสือนำเที่ยวประเทศพะม่าอ่านมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๖๙ จนข้าพเจ้าเกือบจะจำได้เจนใจ ว่าการไปพะม่าจะควรดูควรชมอะไรบ้าง เมื่อเข้ามารับราชการในกรมศิลปากรแล้วก็ได้เคยคิดโครงการที่จะเดินบกออกทางด่านเจดีย์สามองค์ การที่ข้าพเจ้าใฝฝันใคร่เห็นประเทศพะม่าก็เพราะมีความห็นอย่างแน่นอนว่า เราจะเข้าใจประวัติศาสตร์และสภาพของบ้านเมืองเราให้ชัดเจนจริงๆ ไม่ได้ จนกว่าเราจะเข้าใจประวัติและความเป็นไปของเพื่อนบ้านที่อยู่ติดต่อกับเราด้วย เมื่อครั้งรับราชการอยู่กระทวงต่างประเทศ ข้าพเจ้าได้มีโอกาศเห็นประเทศญวนโดยตลอด และเคยลงเรือทวนแม่น้ำโขงตั้งแต่เวียงจันทร์ขึ้นไปจนถึงหลวงพระบางและเชียงแสน ขณะอยู่ในกรมศิลปากรนี้ก็ได้เดินทางในพระราชอาณาจักรจนเหลือน้อยจังหวัดที่ข้าพเจ้ายังไม่ได้ไป ถ้าได้เห็นพะม่าอีก ข้าพเจ้าก็พอจะอ้างได้บ้างว่าข้าพเจ้ารู้จัก "สุวรรณภูมิ" ฉะนั้นในตอนหลังๆ นี้ ความปรารถนาในการเห็นประเทศพะม่าจึงกำเริบแรงขึ้นทุกที เมื่อต้นปีนี้ข้าพเจ้าขึ้นไปจังหวัดลำพูน พบธรรมการจังหวัดซึ่งเคยอยู่แม่ฮ่องสอนและเดินบกไปพะม่า ข้าพเจ้าก็ได้ไต่ถามและขอหนังสือต่างๆ มาดู รวมความว่าการไปพะม่าเป็นความปรารถนาอยากได้อย่างยิ่งอันหนึ่งของข้าพเจ้า.
สิ่งใดที่เราอยากได้จริงๆ สิ่งนั้นเราย่อมจะได้สักวันหนึ่ง.
รัฐบาลได้กรุณาให้ข้าพเจ้าไปศึกษาประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของพะม่า ข้าพเจ้าจำต้องใช้เวลาอันจำกัดให้ได้ประโยชน์มากเท่าที่จะพึงได้ จุดหมายแห่งการศึกษาของข้าพเจ้าก็คือเมืองต่างๆ เท่าที่เราได้พบชื่ออยู่เสมอในประวัติศาสตร์สยามและพะม่า เช่น ย่างกุ้ง หงสาวดี แปร อังวะ พุกาม อมรปุระ สาแกง และมัณฑเล ข้าพเจ้าได้พยายามไปเห็นเมืองที่กล่าวนามมาข้างต้นนี้ทุกเมือง อนึ่ง เป็นความมุ่งหมายของข้าพเจ้าที่จะให้ข้าราชการกรมศิลปากร บรรดาที่ไม่เคยเห็นต่างประเทศได้มีโอกาศผลัดเปลี่ยนกันไปเห็นต่างประเทศตามที่จะมีโอกาศทำได้ ข้าราชการกรมศิลปากรมีทางที่จะได้ไปต่างประเทศอยู่ ๔ ทาง ทางที่หนึ่งคือไปดูงานตามระเบียบของ ก.พ. ทางที่สองคือสอบแข่งขันได้ทุนออกไปศึกษาในต่างประเทศ ทางที่สามคือออกไปประกอบทำหรือแสดงศิลปกรรม เช่นสร้างที่แสดงพิพิธภัณฑ์ของไทยหรือแสดงละครในต่างประเทศ และทางที่สี่ ก็คือไปกับข้าพเจ้าในเมื่อข้าพเจ้ามีโอกาศได้ไปบ้าง แต่การไปกับข้าพเจ้านั้นก็จำต้องเป็นข้าราชการผู้น้อยไม่เกินชั้นประจำแผนก เพราะจำต้องทำหน้าที่เลขานุการ ฉะนั้นในการไปพะม่าครั้งนี้ข้าพเจ้าจึงได้เลือก นายกิมเลี้ยง อินทโกศัย ประจำแผนกบันทึกเหตุการณ์กรมศิลปากรไปกับข้าพเจ้า
เมื่อข้าพเจ้าได้รับความกรุณาจากรัฐบาลให้ได้ไปดูไปศึกษาประเทศพะม่าถึงถิ่นที่แล้วเช่นนี้ ก็น่าจะทำอะไรไว้สักอย่างหนึ่ง ให้เป็นที่ระลึกหรือเครื่องทรงจำ ฉะนั้นข้าพเจ้าจึงได้แบ่งปันหน้าที่กับนายกิมเลี้ยง อินทโกศัย คือ ในเรื่องจดหมายเหตุและระยะทางและการพรรณนาสิ่งซึ่งได้พบเห็นโดยทั่วๆ ไปนั้น ได้มอบให้เป็นหน้าที่ของ นายกิมเลี้ยง อินทโกศัย ข้าพเจ้าจะเขียนแต่ฉะเพาะข้อความที่เป็นประโยชน์แก่การศึกษาประวัติและวัฒนธรรมของพะม่า ดังที่ได้เขียนไว้ในหนังสือเล่มนี้ ท่านผู้อ่านอาจสงสัยว่าไปพะม่าในชั่วเวลาเล็กน้อย ทำไมจึงรู้เรื่องมากมาย ข้าพเจ้าขอเรียนว่า ข้าพเจ้าอ่านหนังสือต่างๆ ที่เกี่ยวกับพะม่าจนเจนใจมานานแล้ว ก่อนจะไปถึงพะม่าข้าพเจ้ารู้ล่วงหน้าว่าอะไรบ้างที่ข้าพเจ้าจะต้องดูจะต้องศึกษาถ้าไปในเมืองที่มีผู้นำเที่ยวดูชม ข้าพเจ้าก็ไต่ถามแต่ฉะเพาะที่สงสัยหรือมีปัญหาอันได้เตรียมตั้งไว้แล้ว มัคคุเทศก์ไม่จำต้องเสียเวลาอธิบายกันมาก ฉะนั้นแม้ในชั่วเวลาเล็กน้อย ก็มีเรื่องที่จะเขียนได้พอสมควร
ในการไปพะม่าครั้งนี้ มีบุคคลที่ข้าพเจ้าจะต้องขอบใจอยู่เป็นอันมาก
ในประเทศสยาม-นายนาวาเอก หลวงสินธุสงครามชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงธรรมการ, ขุนสุคนธวิทศึกษาการ รัฐมนตรีช่วยราชการ, พระตีรณสารวิศวกรรม ปลัดกระทรวงธรรมการ และขุนประเจตดรุณพันธุ์ เลขานุการรัฐมนตรีกระทรวงธรรมการ ทั้ง ๔ ท่านได้ช่วยสนับสนุนแข็งแรงให้ข้าพเจ้าได้ไปประเทศพม่า, หลวงประดิษฐมนูธรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ได้กรุณาสั่งกงสุลสยามให้ช่วยเหลือให้ความสะดวกทุกประการ ท่านเสอร์ครอสบี อัครราชทูตอังกฤษประจำกรุงเทพฯ ได้กรุณาสลักหลังหนังสือเดินทางให้อย่างทูต ทั้งๆ ที่ข้าพเจ้าไปอย่างนักศึกษา และได้บอกรัฐบาลอินเดียและพะม่าให้ช่วยเหลือ หม่องลุนเผล่ กับ หม่องบะติ่น ชาวพะม่าผู้มีอาวุโสในกรุงเทพฯ ได้จัดการให้ญาติมิตรทางพะม่ารับรองให้ความสะดวกแก่ข้าพเจ้า.
ในประเทศพะม่า-มิสเตอร์ไปรเออร์ กงสุลสยามที่ย่างกุ้ง ได้กรุณาช่วยหลือทุกๆ อย่างเป็นที่พอใจยิ่ง ข้าหลวงเทศาภิบาลประเทศพม่าได้สั่งเจ้าหน้าที่อังกฤษในเมืองต่างๆ ที่ข้าพเจ้ากำหนดว่จะไปนั้นให้ดูแลเพื่อความสะดวกในการเดินทางและพักอยู่ คณะหนังสือพิมพ์ New Light of Burma และคณะหนังสือพิมพ์ Sun ช่วยพาเที่ยวและอธิบายที่ต่างๆ ในย่างกุ้ง ม. บาเรตต์ ผู้จัดการห้าง บอมเบย์เบอร์ม่า ที่กรุงมัณฆเล ได้จัดที่พักรับรองข้าพเจ้าที่กรุงมัณฑเล โดยมิต้องไปพักตามโรงแรม. มองซิเออร์ ดือรัวเซลศ์ เจ้ากรมโบราณคดี และนายจิตต์ ปลัดกรมโบราณคดีประจำกรุงมัณฑเล ได้พาข้าพเจ้าดูปราสาทราชวังและตอบคำถามให้คำชี้แจงทุกๆ อย่างที่ข้าพเจ้าประสงค์
ข้าพเจ้าขอจารึกบุญคุณท่านผู้มีเกียรติทั้งหลายที่ระบุมาข้างต้นนั้น ไว้ในหนังสือเล่มนี้ด้วย
แต่หนังสือเล่มนี้อาจบกพร่อง ถ้าข้าพเจ้าจะละเลยไม่กล่าวสรรเสริญการเดินทางอากาศโดยเรือบินของบริษัท K.L.M. ฮอลันดา ความดีของเครื่องบิน ประกอบกับอัธยาศัยอันงดงามของเจ้าหน้าที่ประจำเรือ ทำให้การเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปย่างกุ้งเป็นประหนึ่งความฝัน การทีข้าพเจ้าเดินทางไปพะม่าโดยเรือบินนั้น หาใช่เพราะความซุกซนหรือมักใหญ่ใฝ่สูงอันใดไม่ ข้าพเจ้าได้คำนวณค่าใช้จ่ายในการเดินทางโดยละเอียดแล้ว ปรากฎว่าไปเรือบินถูกกว่าการไปทางทะเล อนึ่งการไปทางทะเลนั้น ถ้าเคราะห์ดีจับเรือได้ทันทีเวลาถึงปีนัง ก็จะใช้เวลาราว ๗ วัน ถ้าพลาดเรือและต้องคอยก็ต้องเสียทั้งค่าที่พักที่ปีนังและทั้งเวลาซึ่งอาจจะกลายเป็น ๑๐ วัน ส่วนการเดินทางโดยเรือบินใช้เวลาเพียง ๒ ชั่วโมงกับ ๑๕ นาทีเท่านั้น ถ้าเราเชื่อสุภาษิตอังกฤษว่า เวลาเป็นเงิน (time is money) แล้ว ก็แปลว่าการเดินทางไปพะม่าโดยเรือบินนั้นถูกกว่าการไปทางทะเลมากทีเดียว
ถ้าหากว่าหนังสือเล่มนี้ จะเป็นประโยชน์แก่เพื่อนร่วมชาติของข้าพเจ้าที่ต้องการทราบเรื่องของพะม่าบ้าง ข้าพเจ้าก็มีความยินดี.
วิจิตรวาทการ
กรุงเทพฯ
๑๕ ธันวาคม ๒๔๗๙
งานนี้ ปัจจุบันเป็นสาธารณสมบัติแล้ว เพราะลิขสิทธิ์ได้หมดอายุตามมาตรา 19 และมาตรา 20 ของพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ซึ่งระบุว่า
- ถ้ารู้ตัวผู้สร้างสรรค์ ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นบุคคลธรรมดา
- ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ถึงแก่ความตาย
- ถ้ามีผู้สร้างสรรค์ร่วม ลิขสิทธิ์หมดอายุ
- เมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายถึงแก่ความตาย หรือ
- เมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้โฆษณางานนั้นเป็นครั้งแรก ในกรณีที่ไม่เคยโฆษณางานนั้นเลยก่อนที่ผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายจะถึงแก่ความตาย
- ถ้ารู้ตัวผู้สร้างสรรค์ ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นนิติบุคคล หรือถ้าไม่รู้ตัวผู้สร้างสรรค์
- ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้สร้างสรรค์งานนั้นขึ้น
- แต่ถ้าได้โฆษณางานนั้นในระหว่าง 50 ปีข้างต้น ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้โฆษณางานนั้นเป็นครั้งแรก