พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย พ.ศ. ๒๕๕๖
หน้านี้ควรจัดทำเป็นแบบพิสูจน์อักษร เนื่องจากมีต้นฉบับสแกนอยู่ที่ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2556/A/011/1.PDF |
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรให้มีกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย
พระราชบัญญัตินี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๓๓ มาตรา ๓๕ มาตรา ๓๖ มาตรา ๔๑ และมาตรา ๔๓ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้ โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้
พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า "พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย พ.ศ. ๒๕๕๖"
พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับนับแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป[1]
ในพระราชบัญญัตินี้
"ทรัพย์สิน" หมายความว่า เงิน ทรัพย์ หรือวัตถุไม่มีรูปร่างซึ่งอาจมีราคาและอาจถือเอาได้ รวมทั้งดอกผลของเงิน ทรัพย์ หรือวัตถุดังกล่าว เอกสารทางกฎหมาย หรือตราสารในรูปแบบใด ๆ ทั้งที่ปรากฏในสื่ออื่นใด กระดาษ หรือรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ที่เป็นหลักฐานแสดงกรรมสิทธิ์ สิทธิครอบครอง สิทธิเรียกร้อง หรือประโยชน์อื่นใดในทรัพย์สินนั้น
"การก่อการร้าย" หมายความว่า การกระทำที่เป็นความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา หรือการกระทำที่เป็นความผิดตามกฎหมายซึ่งอยู่ภายใต้ขอบเขตของอนุสัญญาและพิธีสารระหว่างประเทศเกี่ยวกับการก่อการร้ายที่ประเทศไทยเป็นภาคีหรือรับรอง ทั้งนี้ ไม่ว่าการกระทำที่เป็นความผิดนั้นได้กระทำขึ้นในราชอาณาจักรหรือนอกราชอาณาจักร
"บุคคลที่ถูกกำหนด" หมายความว่า บุคคล คณะบุคคล นิติบุคคล หรือองค์กรตามรายชื่อซึ่งมีมติของหรือประกาศภายใต้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติกำหนดให้เป็นผู้ที่มีการกระทำอันเป็นการก่อการร้าย หรือบุคคล คณะบุคคล นิติบุคคล หรือองค์กรตามรายชื่อที่ศาลได้พิจารณาและมีคำสั่งให้เป็นบุคคลที่ถูกกำหนดตามพระราชบัญญัตินี้
"ผู้มีหน้าที่รายงาน" หมายความว่า ผู้มีหน้าที่รายงานการทำธุรกรรมตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน
"ระงับการดำเนินการกับทรัพย์สิน" หมายความว่า การห้ามโอน ขาย ยักย้าย หรือจำหน่ายซึ่งทรัพย์สิน หรือเปลี่ยนสภาพ ใช้ประโยชน์ หรือกระทำการใด ๆ ต่อทรัพย์สินอันจะส่งผลเปลี่ยนแปลงต่อจำนวน มูลค่า ปริมาณ ทำเลที่ตั้ง หรือลักษณะของทรัพย์สินนั้น
"คณะกรรมการ" หมายความว่า คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน
"คณะกรรมการธุรกรรม" หมายความว่า คณะกรรมการธุรกรรมตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน
"สำนักงาน" หมายความว่า สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน
ในกรณีที่มีมติของหรือประกาศภายใต้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติกำหนดรายชื่อบุคคล คณะบุคคล นิติบุคคล หรือองค์กรใดเป็นผู้ที่มีการกระทำอันเป็นการก่อการร้าย ให้สำนักงานเสนอรายชื่อดังกล่าวไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเพื่อมีคำสั่งประกาศรายชื่อเป็นบุคคลที่ถูกกำหนดโดยไม่ชักช้า ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง
การเพิกถอนรายชื่อของบุคคลที่ถูกกำหนดตามวรรคหนึ่ง ให้กระทำได้เมื่อมีมติของหรือประกาศภายใต้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติอันเป็นผลให้ต้องเพิกถอนรายชื่อผู้นั้นออกจากรายชื่อบุคคลที่ถูกกำหนดแล้ว
ในกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยว่า ผู้ใดมีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับการก่อการร้ายหรือการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย หรือดำเนินการแทน หรือตามคำสั่ง หรือภายใต้การควบคุมของบุคคลนั้น ให้สำนักงาน โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการธุรกรรมพิจารณา ส่งรายชื่อผู้นั้นให้พนักงานอัยการพิจารณายื่นคำร้องฝ่ายเดียวขอให้ศาลมีคำสั่งเป็นบุคคลที่ถูกกำหนด และถ้าปรากฏแก่ศาลว่า มีพยานหลักฐานอันควรเชื่อได้ดังต่อไปนี้ ให้ศาลมีคำสั่งตามที่ขอ
(๑) ผู้นั้นมีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับการก่อการร้ายหรือการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย หรือ
(๒) ผู้นั้นดำเนินการแทนหรือตามคำสั่งหรือภายใต้การควบคุมของบุคคลที่ถูกกำหนดตาม (๑) หรือตามมาตรา ๔
ทั้งนี้ พฤติการณ์เกี่ยวข้องกับการก่อการร้ายหรือการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย หรือการดำเนินการแทน หรือตามคำสั่ง หรือภายใต้การควบคุมดังกล่าวตามวรรคหนึ่ง ต้องมีอยู่ในวันที่ศาลมีคำสั่งเป็นบุคคลที่ถูกกำหนด
ให้สำนักงานทบทวนรายชื่อบุคคลที่ถูกกำหนดตามวรรคหนึ่ง ถ้าเห็นว่า มีพฤติการณ์เปลี่ยนแปลงไป ให้สำนักงาน โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการธุรกรรม พิจารณาส่งเรื่องให้พนักงานอัยการพิจารณายื่นคำร้องฝ่ายเดียวขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนรายชื่อผู้นั้นออกจากรายชื่อบุคคลที่ถูกกำหนด
หลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาของสำนักงานและคณะกรรมการธุรกรรมตามวรรคหนึ่งและวรรคสาม ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง โดยในกฎกระทรวงดังกล่าวที่เกี่ยวกับการพิจารณาของสำนักงาน ให้สำนักงานแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาคณะหนึ่งเพื่อพิจารณารายชื่อก่อนส่งเรื่องให้คณะกรรมการธุรกรรมพิจารณาให้ความเห็นชอบ
ให้สำนักงาน คณะกรรมการธุรกรรม พนักงานอัยการ และศาล ดำเนินการตามมาตรานี้โดยไม่ชักช้า
ให้สำนักงานประกาศรายชื่อบุคคลที่ถูกกำหนดตามมาตรา ๔ และมาตรา ๕ พร้อมทั้งแจ้งให้บุคคลที่ถูกกำหนด และผู้มีหน้าที่รายงาน หรือบุคคลที่ครอบครองทรัพย์สินของบุคคลที่ถูกกำหนด ดำเนินการดังต่อไปนี้โดยไม่ชักช้า
(๑) ระงับการดำเนินการกับทรัพย์สินของบุคคลที่ถูกกำหนด หรือของผู้กระทำการแทน หรือตามคำสั่งของผู้นั้น หรือของกิจการภายใต้การควบคุมของผู้นั้น
(๒) แจ้งข้อมูลเกี่ยวกับทรัพย์สินที่ถูกระงับการดำเนินการให้สำนักงานทราบ
(๓) แจ้งให้สำนักงานทราบเกี่ยวกับผู้ที่เป็นหรือเคยเป็นลูกค้าซึ่งอยู่ในรายชื่อบุคคลที่ถูกกำหนด หรือผู้ที่มีหรือเคยมีการทำธุรกรรมกับผู้นั้น
หลักเกณฑ์และวิธีการประกาศและแจ้งรายชื่อไปยังบุคคลตามวรรคหนึ่ง รวมทั้งการดำเนินการตาม (๑) (๒) และ(๓) ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการประกาศกำหนด
ให้ผู้มีหน้าที่รายงานกำหนดนโยบายในการประเมินความเสี่ยงหรือแนวทางปฏิบัติใด ๆ เพื่อป้องกันมิให้มีการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย หรือกำหนดมาตรการอื่นใดที่จำเป็นเพื่อปฏิบัติให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการประกาศกำหนด
การเก็บรักษาและการบริหารจัดการทรัพย์สินที่ถูกระงับการดำเนินการกับทรัพย์สิน ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการประกาศกำหนด
ผู้ซึ่งได้ดำเนินการตามมาตรา ๖ โดยสุจริต ไม่ต้องรับผิด แม้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลใด เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่า เป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง
บุคคลที่ถูกกำหนดตามมาตรา ๕ หรือผู้ซึ่งถูกระงับการดำเนินการกับทรัพย์สินตามมาตรา ๖ อันเนื่องมาจากมีการกำหนดการเป็นบุคคลที่ถูกกำหนดตามมาตรา ๕ อาจยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้พิจารณาในเรื่องดังต่อไปนี้
(๑) ขอให้ดำเนินการเพิกถอนรายชื่อออกจากรายชื่อบุคคลที่ถูกกำหนด
(๒) ขอให้เพิกถอนการระงับการดำเนินการกับทรัพย์สิน
(๓) ขอให้มีคำสั่งอนุญาตให้ดำเนินการใด ๆ กับทรัพย์สินที่ถูกระงับการดำเนินการกับทรัพย์สิน
กรณีมีคำสั่งอนุญาตตาม (๓) ศาลอาจกำหนดเงื่อนไขใด ๆ ที่จำเป็นเพื่อป้องกันมิให้มีการนำทรัพย์สินไปใช้ในการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายด้วยก็ได้ และหากปรากฏข้อเท็จจริงว่า การอนุญาตดังกล่าวอาจเป็นช่องทางให้นำทรัพย์สินไปใช้ในการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย ศาลจะกำหนดเงื่อนไขใด ๆ เพิ่มเติมหรือจะเพิกถอนการอนุญาตนั้นเสียก็ได้
บุคคลอื่นนอกจากบุคคลที่ถูกกำหนดตามมาตรา ๔ หรือมาตรา ๕ อาจยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้มีคำสั่งอนุญาตดังต่อไปนี้
(๑) เป็นการชำระหนี้ที่ถึงกำหนดชำระแก่ผู้ที่ถูกระงับการดำเนินการกับทรัพย์สินตามมาตรา ๖ ซึ่งสัญญาหรือข้อผูกพันนั้นได้ทำขึ้นหรือเกิดขึ้นก่อนวันที่บัญชีนั้นถูกระงับการดำเนินการกับทรัพย์สิน
(๒) เป็นการชำระดอกเบี้ยหรือดอกผล และเป็นกรณีจำเป็นที่ต้องชำระเงินเข้าบัญชีของผู้ที่ถูกระงับการดำเนินการกับทรัพย์สินตามมาตรา ๖
(๓) เป็นการชำระหนี้ซึ่งศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ผู้ที่ถูกระงับการดำเนินการกับทรัพย์สินอันเนื่องมาจากเป็นบุคคลที่ถูกกำหนดตามมาตรา ๕ เป็นผู้ที่ต้องชำระหนี้
(๔) ให้ดำเนินการใด ๆ กับทรัพย์สินที่ถูกระงับการดำเนินการกับทรัพย์สินอันเนื่องมาจากเป็นบุคคลที่ถูกกำหนดตามมาตรา ๕
กรณีมีคำสั่งอนุญาตตามวรรคหนึ่ง ถ้าต้องมีการชำระหนี้หรือโอนเงินเข้าหรือออกจากบัญชีของผู้ที่ถูกระงับการดำเนินการกับทรัพย์สินตามมาตรา ๖ ศาลอาจกำหนดเงื่อนไขตามที่เห็นสมควรเพื่อป้องกันมิให้นำทรัพย์สินไปใช้ในการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายก็ได้
การดำเนินการทางศาลตามมาตรา ๕ มาตรา ๙ และมาตรา ๑๐ ให้ยื่นต่อศาลแพ่ง และให้นำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม
เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ ให้คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
(๑) กำหนดหลักเกณฑ์ ระเบียบ และประกาศตามพระราชบัญญัตินี้
(๒) กำหนดแนวทางในการกำกับดูแล ตรวจสอบ ติดตาม และประเมินผล ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้
(๓) กำหนดแนวทางปฏิบัติที่จำเป็นเพื่อให้ผู้มีหน้าที่ทำรายงานหรือบุคคลอื่นใดดำเนินการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้
(๔) ติดตามและประเมินผลการปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้
เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ ให้สำนักงานมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
(๑) ให้คำแนะนำหรือชี้แจงแนวทางการปฏิบัติแก่ผู้มีหน้าที่ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้
(๒) ติดตาม ประเมินผล ตรวจสอบ และกำกับดูแลให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ รวมถึงการดำเนินคดีกับผู้ที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้
(๓) รับหรือส่งรายงานหรือข้อมูลที่จะเป็นประโยชน์ในการปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้หรือตามกฎหมายอื่น
(๔) เก็บรวบรวมข้อมูลและพยานหลักฐานเพื่อดำเนินการเกี่ยวกับการยึด อายัด หรือริบทรัพย์สินตามพระราชบัญญัตินี้หรือตามกฎหมายอื่น
ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๖ (๑) หรือ (๒) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ผู้มีหน้าที่รายงานผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๖ (๑) หรือ(๒) ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท และปรับอีกวันละหนึ่งหมื่นบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่ หรือจนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง
ในกรณีที่การกระทำความผิดตามวรรคสองเกิดจากการสั่งการหรือการกระทำของบุคคลใด หรือไม่สั่งการหรือไม่กระทำการอันเป็นหน้าที่ที่ต้องกระทำของกรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลนั้น บุคคลดังกล่าวต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ผู้มีหน้าที่รายงานผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๖ (๓) ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าแสนบาท และปรับอีกวันละห้าพันบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่ หรือจนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง
ในกรณีที่การกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเกิดจากการสั่งการหรือการกระทำของบุคคลใด หรือไม่สั่งการหรือไม่กระทำการอันเป็นหน้าที่ที่ต้องกระทำของกรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลนั้น บุคคลดังกล่าวต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ผู้ใดจัดหา รวบรวม หรือดำเนินการทางการเงินหรือทรัพย์สิน หรือดำเนินการด้วยประการใด ๆ โดยรู้อยู่แล้วว่า ผู้ได้รับประโยชน์ทางการเงินหรือทรัพย์สินหรือจากการดำเนินการนั้นเป็นบุคคลที่ถูกกำหนด หรือโดยเจตนาให้เงิน หรือทรัพย์สิน หรือการดำเนินการนั้นถูกนำไปใช้เพื่อสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมใด ๆ ของบุคคลที่ถูกกำหนด หรือของบุคคลหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการก่อการร้าย ผู้นั้นกระทำความผิดฐานสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สี่หมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ผู้ใดเป็นผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุน หรือสมคบกันในการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับตัวการในการกระทำความผิดนั้น
ผู้ใดพยายามกระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ผู้นั้นต้องระวางโทษสองในสามส่วนของโทษที่ได้กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น
นิติบุคคลใดกระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง วรรคสอง หรือวรรคสาม ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ห้าแสนบาทถึงสองล้านบาท
ในกรณีที่การกระทำความผิดของนิติบุคคลตามวรรคสี่เกิดจากการสั่งการหรือการกระทำของบุคคลใด หรือไม่สั่งการหรือไม่กระทำการอันเป็นหน้าที่ที่ต้องกระทำของกรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลใดซึ่งมีอำนาจตามกฎหมายในการดำเนินงานของนิติ บุคคลนั้น บุคคลดังกล่าวต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สี่หมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ให้ความผิดตามมาตรานี้เป็นความผิดมูลฐานตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน
ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวงเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
กฎกระทรวงนั้น เมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้
- ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
- ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
- นายกรัฐมนตรี
เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ปัจจุบันความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายได้ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศต่าง ๆ เป็นอย่างมาก ถึงแม้ประเทศไทยจะมีการกำหนดความผิดฐานก่อการร้ายไว้ในประมวลกฎหมายอาญา และกำหนดให้เป็นความผิดมูลฐานตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินแล้วก็ตาม แต่ยังคงไม่มีมาตรการป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการเข้าถึงเงินทุนของผู้ก่อการร้าย ดังนั้น จึงมีความจำเป็นต้องกำหนดมาตรการในการป้องกันและปราบปรามเรื่องดังกล่าว โดยให้มีการจัดทำรายชื่อบุคคลที่ถูกกำหนด การระงับการดำเนินการกับทรัพย์สินของผู้มีชื่ออยู่ในรายชื่อบุคคลที่ถูกกำหนด การกำหนดให้ผู้มีหน้าที่รายงานการทำธุรกรรมตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินระงับการดำเนินการกับทรัพย์สินของผู้มีชื่ออยู่ในรายชื่อบุคคลที่ถูกกำหนด การกำหนดอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินให้สอดคล้องกับการปฏิบัติหน้าที่ในเรื่องดังกล่าวข้างต้น ตลอดจนการกำหนดโทษสำหรับการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้ เพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งสอดคล้องกับมาตรฐานสากลในการร่วมมือกันเพื่อป้องกันและปราบปรามการกระทำใดที่เป็นการก่อการร้าย ซึ่งรวมถึงการสนับสนุนทางการเงิน ทรัพย์สิน หรือกรณีอื่นใดที่มีวัตถุประสงค์จะนำไปใช้ในการก่อการร้าย จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
เชิงอรรถ
[แก้ไข]- ↑ ประกาศใน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๐/ตอนที่ ๑๑ ก/หน้า ๑/๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖
งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตาม แม่แบบผิดพลาด: โปรดระบุประเภทของงานนี้ (ดูวิธีใช้) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า
- "มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
- (1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
- (2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
- (3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
- (4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
- (5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"